เมื่อเสร็จพิธีกรรมแล้ว ก็ยังต้องมีการหล่อพระนำฤกษ์และกดพิมพ์นำฤกษ์ ซึ่งฤกษ์ในการหล่อพระและกดพิมพ์นั้น มาหลังการบวงสรวงและพุทธาภิเษก ก็ต้องปล่อยให้งานเป็นไปตามฤกษ์ เพราะว่าผู้วางฤกษ์นั้น เป็นบุคคลที่กระผม/อาตมภาพถือว่าเป็นมือหนึ่งในคณะของพวกเราในขณะนี้ ก็คือท่านพระครูสมุห์อภิสิทธิ์ อภิญาโณ ที่ได้เมตตาช่วยกระทำให้ ทั้ง ๆ ที่ท่านเองก็เจ็บไข้ได้ป่วย เข้าออกโรงพยาบาลเป็นว่าเล่น ยังปรารภกันว่า การทำสิ่งหนึ่งประการใดเพื่อส่วนรวมอย่างพวกเรานั้น อย่าหวังเลยว่าชีวิตนี้จะได้อยู่สุขอยู่สบายเหมือนกับคนอื่นเขา
เนื่องเพราะว่าการสร้างวัตถุมงคลนั้น เมื่อมีการปลุกเสก หรือว่าพุทธาภิเษกถูกต้องตามกรรมวิธีแล้ว บุคคลใดนำไปติดตัว ก็จะเป็นการบรรเทาเคราะห์หนักให้เป็นเบา เคราะห์เบาให้เป็นหาย เท่ากับว่าเป็นการไปข้องเกี่ยวกับเคราะห์กรรมของผู้อื่น เหมือนอย่างกับว่าบุคคลนั้นจะโดนอาวุธ แต่ว่าเราไปขวางเอาไว้ ก็จำเป็นที่จะต้องเจ็บบ้าง ตายบ้าง แทนเจ้าของชะตากรรมเขา..!
พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดท่าซุงถึงได้ย้ำนักย้ำหนาว่า ในเรื่องของการบวงสรวงเพื่อที่จะปลุกเสกวัตถุมงคลนั้น ถ้าหากว่าเป็นพระพุทธรูปที่เอาไว้สำหรับบูชา ไม่จำเป็นที่จะต้องมีหัวหมูและไก่ก็ได้ แต่ถ้าหากว่าเป็นพระเครื่อง พระบูชาที่ใช้ติดตัว ซึ่งจะช่วยในการบรรเทาเคราะห์กรรมต่าง ๆ นั้น จำเป็นต้องมี เพราะว่าตามสายครูบาอาจารย์ ตลอดจนกระทั่ง พรหม เทวดา ได้ตกลงกำหนดเอาไว้เช่นนั้น เป็นสัญลักษณ์ที่บอกอย่างชัดเจนว่า ถ้าหากว่าทำเช่นนี้แล้ว ท่านก็จะช่วยสงเคราะห์ให้ เป็นต้น
อีกอย่างหนึ่งก็คือว่าเครื่องบวงสรวงนั้น หัวหมูกับไก่ ถ้าหากว่าทาสีแดง จะเป็นการป้องกันอัคคีภัยได้ด้วย แต่ถ้าหากว่าทาสีแดง แล้วยังรองด้วยกระดาษแดงหรือว่าผ้าแดง ก็จะช่วยป้องกันวินาศภัยให้ด้วย
ดังนั้น...ท่านใดที่รู้จุดนี้ เมื่อถึงเวลาจัดการบวงสรวงบูชาพระรัตนตรัย ก็ควรที่จะทำให้ครบถ้วนสมบูรณ์ไปเลยทีเดียว เนื่องเพราะว่าเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ไม่ใช่ว่าจะกระทำกันได้ง่าย ๆ ต้องประกอบด้วยฤกษ์ยาม และวันเวลาที่เหมาะสมอีกด้วย
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 02-06-2022 เมื่อ 00:09
|