แม้องค์หลวงตาท่านจะไม่ส่งเสริมเรื่องการก่อสร้าง แต่เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องอาศัยพระเณร ลูกศิษย์ลูกหาที่มีฝีมือช่างให้ช่วยกันดูแลรับผิดชอบ ไม่ว่างานสร้างกุฏิ ศาลา โรงครัว โรงน้ำชา กำแพงวัด งานซ่อมหลังคากุฏิโยมแม่องค์หลวงตา ซึ่งมุงด้วยหญ้าคาต้องเปลี่ยนใหม่ทุกปีหรือ ๒ ปี หรือแม้กระทั่งงานยกศาลา ยกกุฏิต่อเติมกุฏิองค์หลวงตา ในสมัยหลังก็จะให้พระมาดูแลรับผิดชอบด้วย
ในช่วงเวลาต่าง ๆ หากองค์หลวงตามีธุระจะไปที่โรงครัว.. ท่านมักจะเรียกให้พระอาจารย์สิงห์ทอง ต่อมาก็พระอาจารย์ฟัก หรือพระอาจารย์ลี ระยะต่อมาก็พระอาจารย์ปัญญาติดตามหลวงตาไปด้วยเสมอ ซึ่งพระติดตามมักต้องหยิบเอาเครื่องบันทึกเสียง ในสมัยนั้นก็คือเครื่องเล่นเทปแบบมีสายเอาไว้คอยอัดเทปคำสอน แม่ขาวในสมัยแรก ๆ นั้นก็มีโยมแม่องค์หลวงตา คุณแม่ชีแก้ว คุณแม่ชีน้อม คุณแม่ชีบุญ เป็นต้น ระยะต่อ ๆ มามีอุบาสิกามาขอพักปฏิบัติธรรมมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงช่วยชาติ จนถึงระยะสุดท้ายขององค์หลวงตา มีอุบาสิกาจำนวนมากกว่า ๒๐๐ คน องค์หลวงตาสั่งให้พระเณรจัดเตรียมอาหารไว้ให้สำหรับทานมื้อเดียวเท่านั้น
แม้หน้าที่การงานในวัดจะมากขึ้น เพราะประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น แต่เพราะองค์หลวงตาท่านรักศิษย์พระเณรของท่านมาก ท่านจึงเข้มงวดในการรักษาสภาพวัดให้เหมาะสม สะดวกต่อการบำเพ็ญเพียรเสมอ ท่านไม่ให้พระเณรมีการงานอย่างอื่น ๆ ทำ อันเป็นการขัดต่องานจิตภาวนาซึ่งเป็นงานหลัก ท่านทะนุถนอมศิษย์พระเณรไม่ให้มีมลทิน ไม่ให้ข้องแวะกับคนภายนอกโดยไม่จำเป็น
ท่านพระอาจารย์อินทร์ถวาย สันตุสสโก มีโอกาสได้จำพรรษาในรุ่นถัดมา ได้กล่าวถึงบรรยากาศการปกครองพระขององค์หลวงตาในสมัยก่อน ดังนี้
“... สมัยก่อนเวลาหลวงตาดุพระ ดุจริง ๆ นะ พอดุเสร็จแล้ว.. พระองค์นั้นเสียใจจริง ๆ นะ สรุปแล้วหลวงตากับพระ จะเข้มงวดกวดขันกันในสมัยก่อน เพราะมันน้อย ติวเข้มเลย บางทีหลวงตาท่านเห็นพระ.. บางทีท่านก็ดุ แต่องค์นั้นก็ไม่ทันคิดว่าตัวเองทำผิด..ใช่ไหมล่ะ แต่หลวงตาดุ มันก็เสียใจใช่ไหมละ..เมื่อโดนดุ ซึ่งจริง ๆ เป็นกุศโลบายเพื่อสอนลูกศิษย์องค์อื่นด้วย แต่ทีนี้องค์ที่โดนดุมันเจ็บละซิ องค์ที่โดนดุนี้มันเจ็บ พอโดนด่าเท่านั้นละ.. องค์เป็นพี่ ๆ พวกเราก็ไปหา
‘เฮ้ย.. ไม่ต้องเสียใจนะ ให้ท่านเป็นเขียงรองดีแล้วละ’
‘ผมไม่รู้เหมือนกันนะ ว่าตรงไหนนี้มันผิด แต่หลวงตาดุว่าไปแล้วหละ’
‘ไม่ต้องเสียใจ ท่านสอนพวกเราด้วยกัน พวกเราผิดด้วยกันในจุดนี้ พวกเราก็ไม่รู้จุดนี้ ท่านด่าที่นี่ พวกเราจะได้ระวังต่อไป’
คล้าย ๆ มาบอกว่าไม่ใช่ว่าผิดแค่เราคนเดียวนะ มันผิดกันทั้งหมู่นะ พวกหมู่ก็ไม่รู้นี่ พอพวกหมู่รู้ เออ.. ท่านเจ็บคนเดียว พวกเราก็จะได้ระวัง เออ..องค์นั้นเจ็บคนเดียว แต่ไม่ต้องเสียใจนะ มันก็ผิดด้วยกันนั้นแหละ อันนี้คือการดุการปลอบ”
หากกล่าวถึงความตั้งใจและความเคารพในข้อวัตรปฏิบัติที่เกี่ยวกับองค์หลวงตานั้น ผู้รับหน้าที่ทุกรุ่นจะตั้งใจทำด้วยความประณีตละเอียดลออยิ่ง จะพยายามไม่ให้ผิดพลาดตกหล่นไปแม้แต่น้อยนิดเลย
พระอาจารย์ภูษิต ขันติธโร ซึ่งได้จำพรรษาวัดป่าบ้านตาดในช่วงที่ ๒ เป็นผู้หนึ่งที่เป็นพยานยืนยันในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี ด้วยข้อปฏิบัติของท่านเองในระยะนั้นว่า
“เราใช้มือเรานี่แหละ ล้างส้วมพ่อแม่ครูอาจารย์ ... เข้านอกออกในกุฏิหลวงตา ทำงานทั้งหมดตั้งแต่ใส่ปลอกหมอนจนถึงเทกระโถน ล้างส้วม ซึ่งการล้างส้วมของหลวงตานี้ เราไม่ใช้ไม้ล้างโถส้วมหรอกนะ เราใช้มือของเรานี่แหละล้าง”
สำหรับการทำข้อวัตรภายในกุฏิองค์หลวงตานั้น พระผู้รับผิดชอบต้องมีความละเอียดรอบคอบ และทำด้วยความพินิจพิจารณาใช้สติปัญญาประกอบในงานเสมอ เนื่องจากองค์หลวงตาท่านเข้มงวดกวดขันมาก ดังนี้
“... ได้พูดเสมอ อย่างกุฏิเรานี้ไม่ให้เข้าไปยุ่งนะ คือมันขวางตาทันทีเลย เราเข้าไป องค์ไหนที่เข้าไปจัดทำข้อวัตรนี้ อย่างมากไม่เลย ๒ องค์สำหรับกุฏิเรา ที่ไปเกี่ยวข้องกับเรามีเท่านั้น ก็มีผู้ไปจัดยาให้ตอนเช้า ตอนเย็น นี่อันหนึ่ง มีผู้ไปคอยเช็ดอะไร ๆ ตอนเราไม่อยู่ สององค์เท่านั้น.. ไม่ให้มาก พอดูได้ดูกันไป นอกนั้นไม่ให้เข้าไปยุ่ง ไปก็ขวางทันทีเลย ขวางทันที ๆ จนกระทั่งถึงได้ออกอุทานในใจ
‘โอ๋ย.. นี่มาภาวนายังไง สติสตังไม่มีเลย ปัญญาความแยบคายอะไรเหล่านี้ไม่มีประจำเลย ไม่มีแฝงเลย มีแต่ความเซ่อ ๆ ซ่า ๆ และไม่เอาไหน’
บอกตลอดเวลา เพราะฉะนั้น เราถึงไม่ให้เข้าไปกุฏิเรา มันบอกตลอด แพล็บปั๊บรู้แล้ว นอกจากไม่พูดเฉย ๆ ถ้าหากธรรมดาก็ขังไว้แล้วในนี้ เผาในนี้ แต่เรามันไม่เผา.. ถึงทราบเรื่องพระเรื่องเณรผู้เกี่ยวข้องเรา เพราะอยู่ในวงของการแนะนำสั่งสอนรับผิดชอบของเรา เราต้องดูทุกอย่าง...”
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 22-08-2020 เมื่อ 03:03
|