19-06-2020, 20:46
|
ทีมงานเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
|
|
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 3,361
ได้ให้อนุโมทนา: 23,340
ได้รับอนุโมทนา 188,321 ครั้ง ใน 5,403 โพสต์
|
|
หลวงปู่เจี๊ยะสร้างวัดให้
จันทบุรีเป็นจังหวัดที่มีความพิเศษ มีความเคารพเลื่อมใส และมีความเกี่ยวข้องผูกพันยาวนานกับพระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ตลอดมา มีฆราวาสนักภาวนาและพระภิกษุสามเณรออกบวช.. ปฏิบัติธุดงค์กรรมฐานจนปรากฏชื่อเสียงเรียงนามจำนวนมาก องค์หลวงตากล่าวถึงต้นสายปลายเหตุของเรื่องนี้ไว้ตอนหนึ่งว่า
“พระกรรมฐานเรามีมากอยู่ที่จันทบุรีแห่งหนึ่ง ที่จันท์ฯ นี้ต้นเหตุก็ไปจากท่านอาจารย์ลี เราไปที่นั่น เขาค่อยรู้เรื่องรู้ราวแล้ว ครูบาอาจารย์ทั้งหลายก็ไปไล่เลี่ยกัน ไปแถวนั้น เลยกลายเป็นตั้งหลักกรรมฐานขึ้นที่จันทบุรี ตั้งแต่บัดนั้นมาจนกระทั่งป่านนี้ วัดกรรมฐานจึงมีมากอยู่เสมอ เพราะสถานที่ทำเลเหมาะ ๆ ๆ มันเป็นป่าเป็นเขาแล้วก็ไปที่จันท์ฯ นั่น มีแต่ครูบาอาจารย์องค์สำคัญ ๆ นะ ท่านอาจารย์ลี ท่านอาจารย์กงมา ท่านอาจารย์จันทร์ และก็ท่านอาจารย์มหาทองสุกที่มาเป็นเจ้าอาวาสอยู่วัดสุทธาวาส จึงว่าจันท์ฯ นี่มีแต่พระดี ๆ พระองค์สำคัญ ๆ ทั้งนั้น ไปตั้งฤกษ์ตั้งแถวเป็นปฐมฤกษ์ได้ดีมากทีเดียว”
ด้วยเหตุนี้เอง จันทบุรีจึงมีสำนักกรรมฐานกระจายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ จำนวนมาก เฉพาะท่านพ่อลีองค์เดียวจำพรรษาที่จันทบุรี ๑๔ พรรษา ได้สร้างสำนักปฏิบัติที่จันทบุรีมากถึง ๑๑ สำนัก ขอย้อนกล่าวถึงองค์หลวงตา สมัยอยู่ห้วยทราย จังหวัดมุกดาหาร ท่านหาอุบายหนีหมู่เพื่อนพระเณรมาหลบพักอยู่วัดป่าคลองกุ้ง จังหวัดจันทบุรี ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ และกลับไปจำพรรษาที่ห้วยทรายเช่นเดิม
พอถึงปลาย ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ท่านตัดสินใจเดินทางออกจากห้วยทราย มาบวชโยมแม่ที่บ้านตาด จากนั้นจึงเดินทางต่อไปยังวัดยางระหง จังหวัดจันทบุรี สมัยนั้นยังเป็นป่าดง รถยนต์เข้าได้เป็นบางเวลา หน้าแล้งรถจี๊ปเข้าไปได้บ้าง ท่านเล่าเหตุการณ์ในช่วงนี้ว่า
“... ที่จะได้ลงมาจันทบุรี ก็เพราะเป็นห่วงโยมแม่ ถ้าโยมแม่บวชแล้วอยู่บ้านตาด จะเป็นสัญญาอารมณ์กับลูกกับหลาน อยู่ในบ้านใกล้บ้านไม่เหมาะ พอบวชโยมแม่แล้วก็พาโยมแม่หนี กลัวจะเป็นกังวลกับลูกหลานบ้านเรือนอะไร ก็พาหลบหนีมาจันทบุรีนี้แหละ
เข้าไปอยู่วัดยางระหงลึก ๆ ที่ท่านถวิลอยู่ พักอยู่วัดยางระหงประมาณ ๓ เดือน ออกจากยางระหงเพราะอาจารย์เจี๊ยะ (จุนโท) มานิมนต์เราว่า
‘พี่สาว เจ้ลุ้ย คุณรัตน์ ซื้อที่ไว้ ๒๖ ไร่ ๓ งาน ๕๓ ตารางวา เป็นจำนวนเงิน ๑๕,๐๐๐ บาท เป็นทำเลเหมาะสมกับบำเพ็ญกรรมฐาน อยากถวายเป็นวัดกรรมฐาน ก็มองเห็นท่านอาจารย์พอดี เวลานี้ท่านอาจารย์กำลังเที่ยวธุดงค์มา ยังไม่ได้ตั้งรกตั้งรากฐานที่ไหน มาขอนิมนต์ให้ไปที่วัด ใกล้สถานีทดลองฯ’
มานิมนต์เรา เราก็ว่าจะไปดูเสียก่อน เราก็มาจากยางระหง..มาดู ทำเลดีอยู่ก็เลยรับ นั่นละเรื่องราวมัน ที่สามแยกพลิ้วนั่นละ อาจารย์เจี๊ยะพอทราบว่าเรารับเท่านั้นละ แถวคลองแถวอะไร ท่านเป็นคนหนองบัว ทรายงาม แถวนั้นเป็นญาติเป็นมิตรท่านทั้งหมด แถวคลองแถวนั้น พอเรารับเท่านั้น ท่านสั่งคำเดียวเลย คนนั้นเอาหลังนั้น ๆ ต่างคนต่างมาสร้างกุฏิกระต๊อบ ๆ ให้คนละหลัง ๆ เหมือนไม่ได้สร้างวัดนะ เพราะต่างคนต่างมาทำเฉพาะกุฏิของตัว ๆ นี่ท่านอาจารย์เจี๊ยะนะ เป็นคนสั่งทีเดียว เราไม่ได้สร้างอะไรเลยสักนิดเดียว
ที่ครัวโยมแม่ก็อาจารย์เจี๊ยะเป็นคนจัดเอง ไปสั่งให้ไปอยู่รวม ๔ คนทั้งโยมแม่ด้วย นั่นละสร้างวัดที่นั่น อาจารย์เจี๊ยะจึงมีคุณมากต่อเรา คือสร้างวัดทั้งหมดนั้น บรรดาพระกรรมฐานดูเหมือน ๑๑ องค์หรือไง ให้ได้ทุกองค์ ๆ กระต๊อบอย่างของเรานั่น อย่างเดียวกันนี่ละแต่มุงจาก ไม่ใช่หญ้า มุงจาก สร้างปั๊บ ๆ สูงขนาดนี้ แล้วมีพักหนึ่งนั่งภาวนา แล้วก็ทางจงกรม
ก็ท่านเป็นกรรมฐานลูกศิษย์พ่อแม่ครูอาจารย์มั่น ท่านจะไม่รู้เรื่องเหล่านี้ได้ยังไง ท่านก็รู้ สร้างกุฏิตรงไหน ทางจงกรมตรงไหนเหมาะสม ท่านรู้เอง ท่านจัดสั่งหมดเลย เราไม่ได้ไปสร้างกระทั่งเสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านก็ไปนิมนต์เรา.. ออกมากับโยมแม่..ละมา
ท่านเจี๊ยะมาสร้างให้อยู่สบาย เรียกว่าท่านมีคุณต่อเรา ท่านมาสร้างให้อยู่สบาย กุฏิ ๑๒ หลัง ศาลาให้เอาเล็ก ๆ โยมแม่ก็เล็ก ๆ เหมือนกัน ท่านจัดให้หมด เรียกว่าท่านมีคุณต่อเรามากมาย อาจารย์เจี๊ยะ.. เราไม่ลืมนะ เรื่องคุณนี้รู้สึกจะมีเด่นในหัวใจเรา มันเป็นในนิสัยเองเรื่องคุณ ใครได้ทำคุณให้แก่เราเป็นอยู่ลึก ๆ ไม่ลืมนะ
นี่ท่านอาจารย์เจี๊ยะทำนี้ไม่ลืม ไปก็ขึ้นอยู่เลย ท่านอยู่เขาแก้วตอนนั้น ท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่เขาแก้ว ท่านกับเราพัวพันกันมาตั้งแต่ไปอยู่สกลนครด้วยกันกับพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น รู้จักคุ้นเคยกันมาแต่โน้น กับอาจารย์เฟื่อง อาจารย์เจี๊ยะ สององค์พระชาวจันท์ฯ นะ คุ้นกันมาตั้งแต่สกลนครกับหลวงปู่มั่น เพราะฉะนั้นเวลาเราไปท่านทั้งสอง เฉพาะอย่างยิ่งอาจารย์เจี๊ยะจึงมารับรองทุกอย่างเลยเทียว
ธรรมดาเราไม่อยู่แหละ รู้สึกมันขวางใจเอาเหลือเกินระหว่างพี่กับน้อง เสียงพี่สาว เสียงไมโครโฟน น้องชายก็เสียงโทรโข่ง ขัดกันเถียงกัน อยู่กระต๊อบเล็ก ๆ บ้านพี่สาวเขาทำโรงน้ำอ้อย
เราไปพักอยู่โรงน้ำอ้อยนี่แหละ ฟังเสียงคุยกันสองคน พี่สาวว่าจะเอาองค์นั้น ทางน้องชายว่ามึงอย่าเอาอีลุ้ย มึงเชื่อกูเถอะน่ะ เถียงกันเราได้ยินชัดเจน
‘ให้มึงเอาอาจารย์มหาบัว มึงต้องการองค์ไหน ๆ มึงคอยดูกูนะ กูพูดผิดไหม อาจารย์องค์นี้มึงเคยเห็นท่านแล้วยัง องค์ที่ว่ากูไม่เคยเห็น.. อย่าว่าแต่มึงเลย ว่าองค์นั้นเทศน์ดีอย่างนั้นอย่างนี้ ให้ท่านมาอยู่เสียก่อน ดีไม่ดีก็รู้กันเอง” ว่างั้น เถียงกันเราได้ยิน โอ๊ย.. ขบขันกันเอง”
เราจึงได้พาโยมแม่ไปจำพรรษาที่นั้น อาจารย์เจี๊ยะเป็นผู้มีบุญคุณต่อเรามาก เราไม่เคยลืมนะ ฝังลึกมาก เรานี้ไม่เหมือนใคร ถ้าฝังอะไรต้องฝังลึกมาก พูดถึงเรื่องอาจารย์เจี๊ยะที่มีคุณต่อเรา วัดนั้นทั้งหมด สถานีทดลอง เป็นอาจารย์เจี๊ยะทั้งหมดเลยสร้างให้ เอาจริงเอาจังมาก ปรกติท่านก็เคารพเราแค่ไหนแต่ไรมา ตั้งแต่อยู่กับพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นด้วยกัน ท่านก็รู้อยู่ เป็นพระหนุ่มพระน้อยด้วยกัน ต่อจากนั้นก็เกี่ยวข้องกันมาเรื่อย ๆ ท่านเคารพมาเรื่อย ๆ
พอนิมนต์เราไปที่วัดใกล้สถานีทดลองฯ เราไม่ได้ทำงานอะไร เราไม่ได้เกี่ยวข้อง เป็นสัญญาอารมณ์กับการก่อสร้าง ท่านทำเองทั้งหมด โยมนั่นเอากุฏิหลังนั้น โยมนี้เอากุฏิหลังนี้ ท่านชี้ทีเดียวเลย คนที่ไปอยู่ที่สถานีทดลอง ๆ ย้ายมาจากทางหนองบัว ซึ่งเป็นญาติ ๆ ของท่านทั้งนั้น จะเป็นญาติหรือไม่ก็ตาม ท่านก็คุ้นกับเขาอยู่แล้ว สั่งยังไงก็ได้หมด จึงว่าอาจารย์เจี๊ยะมีคุณต่อเรามากมาย สร้างวัดสร้างวาให้หมด เราไม่ได้ไปแตะ ไม้ชิ้นหนึ่งก็ไม่ได้ไปแตะ ทำเสร็จแล้วเข้าไปอยู่เลยสบาย ทางจงกรมท่านก็ทำให้เหมาะ ๆ หมดเลย สะดวกสบาย อาจารย์เจี๊ยะท่านมีคุณต่อเรามาก...
เรื่องสิ่งปลูกสร้างอะไร ๆ ไม่มีปัญหา ได้คนละ ๑ หลังเลย เราก็เลยอยู่จำพรรษาที่นั่น นั่นละ..ท่านมีคุณต่อเรามากนะ...”
หนังสือประวัติหลวงปู่ฟัก สันติธัมโม วัดเขาน้อยสามผาน จังหวัดจันทบุรี ได้กล่าวถึงพระที่จำพรรษาในครั้งนั้นกับท่าน ดังนี้
“... ในปีนั้น มีพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่ตามท่าน (องค์หลวงตาพระมหาบัว) มาด้วยหลายรูป อาทิ พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร พระอาจารย์เพียร วิริโย พระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต พระอาจารย์ลี กุสลธโร เป็นต้น โดยในครั้งนั้นพระอาจารย์ฟักขณะยังเป็นฆราวาส ก็ได้พามารดาไปกราบท่านที่วัดนี้ด้วย...”
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 20-06-2020 เมื่อ 02:55
|