๑๘."ให้มีความคล่องตัว"
ในช่วงเข้าพรรษา นับเป็นโชคดีของท่านต่าง ๆ ที่บวชเข้ามาในช่วงนี้ มีบุญรออยู่แทบจะทุกวัน หลวงพ่อท่านให้พระภิกษุสามเณรทุกรูป จับสลากเพื่อขึ้นเทศน์ในวันพระตลอดพรรษา ทุกวันพระจะมีเทศน์สองรอบ คือ รอบเช้า ๙.๐๐ น.และรอบค่ำ ๑๙.๓๐ น. ใครใคร่จะเลือกกัณฑ์เทศน์ไหนมานั้น หลวงพ่อท่านให้อิสระเต็มที่ กระผมเองเมื่อค่อย ๆ เปิดฉลากใบเล็ก ๆ ดูก็รู้ว่า ตัวเองได้เทศน์วันออกพรรษาช่วงเช้าซึ่งวันนี้เป็นวันที่หลาย ๆ ท่านภาวนาว่า "ขออย่าให้หยิบได้ใบนี้เลย.." แต่ตรงกันข้ามกับกระผม ที่ตั้งจิตอธิษฐานไว้ก่อนว่าขอให้ได้เถอะ เพราะตั้งใจจะอุทิศบุญให้โยมพ่อที่ล่วงลับไปแล้ว
เมื่อทราบกำหนดการกันแล้วว่า ใคร..? ท่านใดบ้าง(แสดงว่าบางท่านโชคดี..รอดตัวไป)ที่จะได้ขึ้นธรรมาสน์เทศน์ โปรดญาติโยมในวันไหน ? เวลาใดบ้าง ? ต่างก็กลับไปเตรียมตัวกันอย่างเต็มที่ งานนี้..คนไหนที่รู้ว่า ตัวเองไม่มีความสามารถหรือไม่มั่นใจ ก็ถึงกับออกปากไหว้วานหา "อาสาสมัครเดนตาย" ให้รับหน้าที่แทน ปัจจัยของกัณฑ์เทศน์ หลวงพ่อประกาศตั้งแต่ต้นแล้วว่า "ใครเทศน์คนนั้นก็ไป" ส่วนมากก็จะยกให้คนที่ขึ้นไปรับหน้าที่แทน ท่านแรกที่ขึ้นเทศน์ในพรรษานี้ คือ "ท่านนวย"
หลวงพี่นวย : "หลวงพี่..ผมละกลุ้มเลย งานนี้คนแรกด้วยสิ.."
หลวงพี่นวยบ่นพลางแอบซุ่มฟิตซ้อมเต็มที่ แล้วงานแรกก็ออกมาดี เลยเป็นที่กดดันท่านต่อ ๆ ไป
เวลาช่างรวดเร็วเหมือน "นกกระจอกกินน้ำ" หลายต่อหลายท่านผ่านไป บางท่านก็ทำหน้าที่ได้ดี เพราะมีความรับผิดชอบซักซ้อมมาก่อน แต่งานนี้มีท่านหนึ่งที่ถูกหลวงพ่อท่านดุเอา ชนิดที่ว่านั่งงงลงจากตั่งไม่ถูกเลย ก็คือ "หลวงพี่กุ๊ก" เพราะท่านประมาทมากเกินไป ไม่ได้ซักซ้อมให้เกิดความชำนาญคล่องตัว หลวงพ่อท่านประกาศหลังจากที่ท่านกุ๊กเทศน์เสร็จว่า "คนต่อไปอย่าให้เป็นอย่างนี้อีก..!" ทุกท่านเงียบสนิท
หลังจากนั้นไม่นาน หลวงพ่อท่านก็สอนว่า "เรื่องของการเทศน์จะต้องหมั่นซ้อม คนที่เทศน์ได้ดีนั้นต้องผ่านเวทีมาแล้วไม่น้อยกว่าร้อยธรรมาสน์ขึ้นไป หรือไม่ก็ผ่านการเรียนหลักสูตร "นักเทศน์" มาแล้ว ท่านบอกว่า ตั้งใจมากเกินไปก็ไม่ดี ไม่ตั้งใจเลยก็ไม่ดี ให้ทำกำลังใจกลาง ๆ แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาอ่านกัณฑ์เทศน์ไป"
และแล้ว..ก็มีนักเรียนนอกหลักสูตรท่านหนึ่ง คือ "หลวงพี่ขวัญชัย" เรื่องที่จะเทศน์ ท่านแต่งเอง ไม่ได้เอามาจากกัณฑ์เทศน์ที่เตรียมเอาไว้ให้เลือกกัน
ทัดฤทธิ์-ทิดรัตน์: "หลวงพี่..คายความลับออกมาหน่อยซิ ว่าหลวงพี่จะเทศน์เรื่องอะไร ?"
หลวงพี่ขวัญชัย: "ไม่ได้..ความลับก็ต้องเป็นความลับสิ..!"
เอา..ในเมื่อท่านยืนยัน นอนยัน นั่งยัน ตะแคงยันถึงขนาดนั้นก็ตามใจ
และแล้ว..ท่านเทศน์ชนิดที่ว่า พระเณรทุกท่านนั่งลุ้นว่ามันจะจบได้หรือไม่ ? และจบอย่างไร ? ผมเองกลั้นหัวเราะจนแทบทนไม่ไหว,อาจารย์พงษ์,หลวงตาชาติ พระเณรอีกหลายรูป ไม่เว้นแม้แต่ญาติโยม แต่คนที่นิ่งที่สุดคือหลวงพ่อ พระครูน้อยท่านแอบกระซิบ
ว่า "นั่งใกล้ ๆ หลวงพ่อ บรรยากาศมันตึงเครียดสุด ๆ" งานนี้ถ้าจะเจองานเข้าชุดใหญ่แล้ว
สุดท้ายทุกอย่างก็จบลงได้แบบ "เครื่องบินหารันเวย์ลงไม่ได้"เพราะเทศน์วกไปวนมาอยู่หลายรอบ
รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง หลังฉันเช้าเสร็จ หลวงพ่อท่านประกาศว่า "อย่างที่ท่านขวัญชัยทำนั้นนับเป็นความคิดริเริ่มที่ดี แต่ทุกท่านอย่าได้ทำอีกเพราะเรื่องของการเทศน์นั้น ต้องเทศน์ให้ญาติโยมเขาฟังรู้เรื่อง ขนาดตัวคนเองแต่งเองยังไม่รู้เรื่องเลย แล้วแมวที่ไหนมันจะรู้..! ต่อไปห้ามแต่งเองอีก ยกเว้นว่าท่านเรียนจบนักเทศน์มา"
และแล้ว..วันของผมก็มาถึง ก่อนจะขึ้นธรรมาสน์ผมตรงไปกราบพระประธานบนศาลา,กราบหลวงพ่อ ในขณะกราบท่านหลวงพ่อท่านให้พรด้วยน้ำเสียงที่เมตตาว่า "ขอให้มีความคล่องตัว" วันนี้คนเต็มศาลาไปหมด น้อยกว่าวันรับยันต์เกราะเพชรประมาณ ๒๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เมื่อขึ้นไปบนธรรมาสน์ มองไปเห็นคนเต็มไปทั้งศาลา ใจมันหวิวพิกล
หลังจากรวบรวมกำลังใจแล้วว่า งานนี้ขอบารมีพระท่านเมตตา ขอให้เป็นหน้าที่ของท่านในการสงเคราะห์ญาติโยม ช่วงแรก ๆ ผมเทศน์ผิด อ่านผิด ออกเสียงแล้วลิ้นมันพันกันไปหมด จึงค่อย ๆ รวบรวมกำลังใจอีกครั้ง ที่ผิดมันก็ผิดไปแล้ว แต่ที่จะอ่านต่อไปพยายามเอาใจจดจ่อ สลัดภาพของคนหมู่มากออกไป ตั้งใจว่า เทศน์ให้โยมพ่อฟัง
มาถึงตรงนี้ "เครื่องมันก็ติดแล้ว" ยิ่งอ่านยิ่งเพลิน ยิ่งเพลินก็ยิ่งเป็นสมาธิ จนมาถึงตอนจบ พยายามรวบรวมกำลัง ตั้งใจอธิษฐานอุทิศบุญให้ญาติโยมก็ดี ให้โยมพ่อโยมแม่ก็ดี และอธิษฐานเพื่อมรรคผลนิพพานของตัวเองก็ดี ถือว่าจบแบบสมบูรณ์จนลืมสลับขา
นั่งพับเพียบนาน ๆ มันทำเอาขาเป็นเหน็บชาไปหมด หลวงพ่อท่านประกาศบอกว่า "นั่งให้หายชาแล้วจึงค่อยลงจากธรรมาสน์" แต่ผมเองประมาทไป จึงค่อย ๆ เคลื่อนตัวลงมา ความรู้สึกตอนนั้นก็ปกติ แต่หลังจากคุกเข่ากราบพระ กราบหลวงพ่อแล้ว ที่รู้สึกได้คือ ขามันแข็งไปหมด พยายามจะพยุงตัวขึ้น หลวงพ่อท่านรู้ ท่านจึงโบกมือให้รู้ว่า ให้นั่งตรงนี้ก่อนอย่าเพิ่งลุกไป เพราะมันอาจจะล้มได้ เพราะประสาทมันชาไปหมด ผมเลยนั่งแล้วพยายามสูดลมหายใจเอาอากาศเข้าไปให้เยอะ ๆ สุดท้ายเมื่อมั่นใจแล้ว จึงค่อย ๆ ลุกเดินกลับไปนั่งที่ของตัวเอง
หลวงพ่อท่านเมตตา,ท่านรู้,ท่านผ่านประสบการณ์มามากต่อมาก ท่านคือครูที่เราควรเชื่อฟังให้มากที่สุด
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
๔ ตุลาคม ๒๕๕๒ "วันออกพรรษา" วัดท่าขนุน