๑๗. "คลิตี้...ดินแดนแห่งมนต์ขลัง" (อย่าลืมภาวนาเด็ดขาด)
เมื่อทุกอย่างพร้อมและวาระมาถึง"นัดล้างตา"ก็เกิดขึ้น คราวนี้พวกเราต้องไปให้ถึงคลิตี้ให้ได้...ว่าแล้วก็ห่มจีวรพลางตรวจสอบกล้องถ่ายรูปว่าพร้อมหรือไม่ ด้วยความรอบคอบแบบนี้ เลยทำให้กระผมขึ้นรถเป็นคนสุดท้าย
ทิดแก้วกับรถกระบะคู่ใจ พร้อมด้วยพระอีก ๑๐ รูป นำโดยพระครูน้อยก็ออกเดินทางทันที คณะเราออกจากวัดท่าขนุนหลังจากฉันเช้าเสร็จ เราเดินทางจากวัดท่าขนุนไปตามเส้นทางหมายเลข ๓๒๓ เข้าทางบ้านทิพุเย ในส่วนของ อบต.ชะแล ผ่านบ้านทุ่งนางครวญ บ้านห้วยเสือ อุทยานแห่งชาติลำคลองงู เส้นทางบางช่วงก็อย่างที่เคยเล่าไปว่า ยังเป็นถนนลาดยางสลับกับถนนลูกรังดินแดงอยู่ ผ่านหมู่บ้านเป็นระยะ ๆ สลับกับไร่มันสำปะหลังที่แซมด้วยข้าวไร่ดูเขียวขจีไปหมด นี่คือชีวิตเรียบง่ายของชาวบ้าน ซึ่งบางทีเราแทบจะลืมกันไปแล้วว่า ความสงบที่พึ่งพิงอยู่กับธรรมชาตินั้นเป็นอย่างไร
รถทำความเร็วได้ไม่มากนัก เราใช้เวลาเดินทางไปเรื่อย ๆ คือให้ทันเพลที่คลิตี้ เรากำลังจะเข้าไปยังดินแดนของชาวกะเหรี่ยงซึ่งนิสัยใจคอของชาวกะเหรี่ยงนี้ "รักใครรักจริง เกลียดใครก็เกลียดจริง..!"
สำหรับพวกเราที่เป็นพระ หลวงพ่อมักจะเตือนเสมอว่า "อย่าได้วางใจใครไม่ว่าจะเป็นคนหรือในความเป็นทิพย์ทั้งหลาย เพราะความที่เราเป็นพระ บางสิ่งบางอย่างเขาลองกับคนอื่นไม่ได้ เขาก็ลองกับพระ จะฉัน จะลุก จะยืน จะนอน กันไว้ดีกว่าแก้ ให้มีสติเสมอ ก่อนฉันให้พิจารณาอาหาร แล้วว่า "คาถาบารมี ๓๐ ทัศ" ดังนี้
อิติปาระมิตาติงสา อิติสัพพัญญูมาคะตา
อิติโพธิมะนุปปัตโต อิติปิโสจะเตนะโม
นะ โม พุท ธา ยะ
นึกภาพพระคลุมข้าวปลาอาหารทั้งหมด จะเป็นการแก้คุณไสยทุกชนิดที่เขาทำมาลองดีหรือหวังประทุษร้าย
พวกเราเองได้ยินชื่อเสียงความขลังในเรื่องของไสยศาสตร์ของชาวกะเหรี่ยงมากันพอสมควร จึงไม่ประมาท พยายามจับคำภาวนาในใจตามแต่ใครถนัดแบบไหนก็ว่ากันไป เพื่อให้เกิดกำลังใจมั่นคง
หลังจากใช้เวลาไปเกือบสามชั่วโมง พวกเราก็เดินทางผ่านถนนช่วงหลัง ซึ่งมีสภาพเหมือนเส้นทางไปดาวอังคาร คือเต็มไปด้วยหลุมบ่อและทางน้ำกัดเซาะ
พระครูน้อย(หลวงพี่ของชาวบ้าน) บอกผมว่า เวลานั่งรถประจำทางในเมืองมันไม่สบายแบบนี้ คือ "ถนนมันเรียบเกินไป" แบบทางเข้าหมู่บ้านคลิตี้นี้นั่งแล้วสบายกว่า
กระผมเองก็ได้แต่กระพริบตา กลืนน้ำลายแทบจะไม่ลง เพราะเริ่มรู้สึกได้ว่า "มันเพลีย ๆ เหนื่อย ๆ แบบคนเมารถ"
รถกระสวยอวกาศของทิดแก้วค่อย ๆ เลี้ยวผ่าน "โรงเรียนบ้านทุ่งเสือโทน" อย่างช้า ๆ เนื่องจากที่นี่ไม่มีไฟฟ้า เราจึงเห็น "แผงรับพลังงานแสงอาทิตย์" เรียงรายทางด้านข้างของโรงเรียน แสงแดดยามเช้า ฟ้าใส ๆ กับอากาศเย็นสบาย ๆ มันชวนให้อยู่กับบรรยากาศแบบนี้ไปนาน ๆ จนลืมคำภาวนาไปหลายอึดใจ มองไปก็เห็น "วัดทุ่งเสือโทน (หลวงปู่เนป่อง)" ตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ย ๆ เสียงเครื่องยนต์ที่ดับลงแปลว่าเรามาถึงที่หมายแล้ว
"อาปาเช่" สาวกะเหรี่ยงออกมาต้อนรับ เชื้อเชิญพระครูน้อยและพวกเราเข้าบ้าน...สภาพบ้านอันเรียบง่าย แต่แฝงไปด้วยฝีไม้ลายมือใน "งานช่างไม้" ทำให้บ้านหลังเล็ก ๆ หลังนี้ดูมีแล้วมีคุณค่ามากกว่าห้องสี่เหลี่ยมที่คนในกรุงอยู่อาศัยกัน ทางด้านหน้ามีนอกชานกว้าง นั่งสบาย ลมพัดถ่ายเทตลอดเวลา
กระผม ท่านดอย ท่านนวย เดินสำรวจไปอย่างช้า ๆ ผมพยายามเก็บรายละเอียดตามปกติที่ผมเป็นอยู่แล้ว ต้นไม้ ใบหญ้า นก สัตว์ต่าง ๆ จนไปถึงสิ่งก่อสร้าง
เราตรงไปกราบรูปเหมือนของ "หลวงปู่เนป่อง" ซึ่งแกะสลักด้วยหินทรายจากยอดเขาภูพาน แล้วเข้าไปกราบพระประธานภายในโบสถ์.....
หลังจากนั้นเราก็ตรงไปยังหอระฆังและศาลา ซึ่งถ้าจำไม่ผิด ชาวกะเหรี่ยงเขาถือทิศใต้เป็นทิศมงคล เมื่อก่อนพระประธานภายในศาลาหันไปทางทิศใต้ พระครูน้อยเมื่อครั้งที่ท่านยังเป็นเจ้าอาวาสที่วัดนี้ ท่านได้ทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ให้เปลี่ยนทิศทางของพระประธานให้ไปทางทิศเหนือแทน
หลังจากนั้นเราก็เดินกลับไปร่วมฉันเพลที่บ้านของ "อาปาเช่" กับข้าวกับปลาเต็มไปหมด สิ่งหนึ่งที่กระผมสะดุดตา คือ "แตงเปรี้ยว" ทีแรกก็งง ๆ นี่มันลูกอะไร ? ผลไม้หรือว่าผัก...
หยิบขึ้นมาพิจารณาแล้วถ่ายรูป หลังจากพิจารณาอาหารแล้วก็หยิบมาฉัน แตงกวานี่หว่า..! รสชาติออกเปรี้ยวเล็กน้อย แต่กรอบกว่าแตงกวาปกติ(เพราะผิวมันตึงมาก) กัดไปคำตามด้วยน้ำพริกปลาร้า ข้าวสวยอุ่น ๆ (ร้อน ๆ เดี๋ยวปากพอง) ทุกท่านเจริญศรัทธาและเจริญอาหารกันเต็มที่ หลังจากนั้นก็นั่งสนทนากันจนถึงเวลาเดินทางกลับ
จริง ๆ แล้วสิ่งที่เรากลัวมักจะเกิดจากเราได้ยิน ได้ฟัง หรือเกิดจากการปรุงแต่งของเราเอง แต่เรื่องของการไม่ประมาทเป็นเรื่องที่ดี ผมได้มาสัมผัส ได้มาเห็นกับตาตัวเอง ถือว่างานนี้เหมือนกับเราได้ทำข้อสอบแล้ว หายสงสัยไปหลายเรื่อง หลังจากที่เราแวะเยี่ยม "ผู้ใหญ่บ้าน" พร้อมกับนำผ้ายันต์พิชัยสงครามและยันต์มหาเศรษฐีมอบให้ พูดคุยทักทายปราศรัยกัน กว่าจะถึงเวลาร่ำลากัน ผมก็เห็นในความมีน้ำจิตน้ำใจ ความเป็นกันเอง ความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของเขาแล้ว ทำให้นึกถึงสำนวนที่ว่า
"ต้นไม้ไร้นกเกาะถึงดูไม่เหมาะก็ไม่เป็นไร แต่ถ้านกไร้ต้นไม้เกาะ มันดูไม่เหมาะเพราะไม่เหลืออะไร"
เห็นทีต้องขอไปขยายความในตอนต่อ ๆ ไปครับ
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------