โลกธรรม
จริง ๆ แล้วเราจะได้เห็นว่า กิเลสมารมีความสามารถมาก เขาสามารถใช้โลกธรรม ก็คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ เป็นเครื่องมือในการครอบงำคนได้อย่างดีที่สุด
อย่างลักษณะที่ว่ามีคนแวดล้อมมาก ๆ พอถึงเวลาคนเหล่านั้นถอยไป แทนที่จะพิจารณาว่าตนเองบกพร่องตรงไหน กลับไปเห็นว่าเขาเป็นศัตรูเพราะไปอยู่กับคนอื่น
คราวนี้ตรงจุดนี้ ถ้าหากว่าเราเห็นแล้ว เราต้องรู้จักระมัดระวังตัวเองด้วยว่า อย่าให้เป็นอย่างนี้ เอาไว้เป็นบทเรียนของตัวเองเลย ระวังไว้อยู่เสมอ ถึงได้เตือนทุกคนว่า จุดมุ่งหมายที่เราก้าวเข้ามาปฏิบัติธรรมเราหวังอะไร ?ตอนนี้เรายังมุ่งตรงไปยังจุดหมายอย่างเดิมหรือเปล่า? มีการเบี่ยงเบนบ้างหรือไม่? ปัจจุบันยืนอยู่ที่ไหน? ระยะทางอีกใกล้ไกลเท่าไร ?
ถ้าไม่ทวนอย่างนี้ไว้บ่อย ๆ แล้วเราจะพลาด เพราะมารดึงเราทีละนิดเดียว เราจะเห็นว่าเขาค่อย ๆ ออกไปนิดเดียวนิดเดียว แรก ๆ เราจะเห็นว่าเป็นการทำเพื่อประเทศชาติ แต่ก็ทำให้ช้าและเสียเวลา เพราะมัวแต่ไปทำเรื่องเกี่ยวกับประเทศชาติ มรรคผลของตัวเองจึงไม่ได้สักทีหนึ่ง เวลาในการปฏิบัติน้อยลง มารก็แทรกมากขึ้น ๆ แล้วก็ดึงไกลออกไปเรื่อย ๆ จากพุทธศาสตร์ก็กลายเป็นไสยศาสตร์ไป..!
ถ้าเราเห็นลีลาของมารแล้วจะรู้ จริง ๆ แล้วเขาไม่ได้ดึงมาก เขาดึงนิดเดียว นิดเดียวลักษณะนั้นไม่เป็นไร แต่อย่าลืมว่าถ้าตรงนี้ผิดไปครึ่งองศา อีกร้อยกิโลเมตรข้างหน้าเราห่างเป้าไปเท่าไร ลองนึกดู..ถ้าเราขีดเส้น ห่างแนวไปแค่ครึ่งองศาเท่านั้น แล้วลากยาวไปสิ ยิ่งไปไกลเท่าไรก็ยิ่งห่างเท่านั้น จึงต้องระมัดระวังสุดชีวิต
ทบทวนอยู่เสมอ ๆ พระพุทธเจ้าท่านให้ท่าไม้ตายไว้แล้ว วิมังสา หมั่นไตร่ตรองทบทวนไว้เสมอ ๆ จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ฝรั่งก็เอาไปใช้งานเป็นปกติ เขาบอกว่าให้สรุปและประเมินผล แล้วเราที่เป็นนักปฏิบัติ พระพุทธเจ้ามอบให้เราแท้ ๆ แทนที่จะเชื่อพระพุทธเจ้า..ดันไปทำตามแบบฝรั่ง ก็เจ๊งสิ เพราะเขาเก็บเอาความรู้ของพระพุทธเจ้าไปแท้ ๆ
ดังนั้น..เราต้องรู้จักสรุปและประเมินผล ไตร่ตรองทบทวนอยู่เสมอว่า เราทำอะไร เพื่ออะไร และยังตรงต่อจุดมุ่งหมายเดิมหรือไม่ กำลังใจปัจจุบันนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเท่าไร จะรีบตีคืนมาในแง่ไหนมุมไหน ก็คือว่าตอนนี้เรายืนอยู่ที่ไหน และจะต้องก้าวต่อไปทางใดถึงจะถูกต้องตามจุดหมายเดิมของเรา
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 18-12-2013 เมื่อ 11:14
|