โทสะ มีพื้นฐานมาจากมานะ
โทสะส่วนใหญ่มีพื้นฐานมาจากมานะ การถือตัวถือตน พอกระทบเข้า ความถือตัวบังเกิดขึ้น ได้ยินแล้วหูร้อน ได้เห็นแล้วตาร้อน ส่วนใหญ่เอาตัวเองเข้าไปเปรียบ เอาตัวเองเข้าไปวัด แล้วกำหนดมาตรฐานขึ้นมาเอง
ดังนั้น..เราจะต้องรู้เท่าทัน ต้องคิดให้เป็น ปล่อยให้เป็น วางให้เป็น ทันทีที่ตาเห็นแล้วไม่ชอบใจ ทันทีที่หูได้ยินแล้วไม่ชอบใจ ทันทีที่จมูกได้กลิ่นแล้วไม่ชอบใจ ทันทีที่ลิ้นได้รสแล้วไม่ชอบใจ ทันทีที่กายสัมผัสไม่ชอบใจ ก็อย่าให้เข้ามาในใจ จะได้ไม่กระทบ ชอบหรือไม่ชอบจะได้จบลงตรงนั้น
ถ้ากระทบแล้วอารมณ์โทสะเกิด ก็ให้พิจารณาดู โดยเฉพาะสิ่งที่คนอื่นเขาทำให้เห็น สิ่งที่คนอื่นเขาพูดให้ได้ยิน ต้องแยกแยะ ต้องพิจารณาให้เป็น
อันดับแรกให้ดูว่า สิ่งที่เขาทำนั้นเป็นจริงไหม ? สิ่งที่เขาพูดนั้นเป็นจริงไหม ? ถ้าเป็นความจริง เราก็ไม่ควรที่จะไปโกรธ ไปเกลียดเขา เขาอุตส่าห์ลงทุนยอมเป็นกระจก ส่องให้เห็นหน้าตาอันน่าเกลียดน่าชังของเราเอง เราจะได้แก้ไขเพื่อให้ดีขึ้น
เราควรจะโกรธกระจกหรือไม่ ? คนที่ทำให้เราเห็นตัวของเราเอง ก็จัดว่าเขาเป็นครู นักเรียนคนไหนเกลียดครู นักเรียนคนนั้นย่อมเอาดีไม่ได้ หาความก้าวหน้าไม่ได้ ดังนั้น..ถ้าเป็นจริง ควรจะรับไว้ด้วยความขอบคุณ แล้วพยายามแก้ไขตัวเราไป
ถ้าไม่มีความเป็นจริง บุคคลที่โง่เขลาเบาปัญญา แม้กระทั่งความจริงเป็นอย่างไรเขาก็ยังไม่รู้ คนแบบนี้น่าสงสารมากกว่าน่าโกรธ ให้อภัยเขาเถอะ สงสารเขาเถอะ คนที่อารมณ์ใจเป็นแบบนี้ กาย วาจา ใจ เป็นแบบนี้ เขายังต้องเกิดอีกนาน ยังต้องทุกข์ยากลำบากอีกนาน เราจะโกรธเขาหรือไม่โกรธเขา เบียดเบียนหรือไม่เบียดเบียน เขาก็ทุกข์อยู่แล้ว
ถ้าเรารู้จักคิดดังนี้ อารมณ์โกรธก็จะไม่สะสมอยู่ในจิตของเรา ถ้าคิดไม่เป็นก็จะสะสมไปเรื่อย ๆ ทีละเล็กทีละน้อย ท้ายที่สุด คนสุดท้ายนั้นจะโชคร้าย พอเขากระทบนิดเดียว เราก็ระเบิดตูมใส่หน้าเขา
บางคนก็จะสงสัยว่า เอ๊ะ..ทำนิดเดียวแค่นี้โกรธขนาดนี้เชียวหรือ ? บางคนแทบจะฆ่าให้ตายไปเลยก็มี เพราะว่าคิดไม่เป็น ปล่อยวางอารมณ์ไม่เป็น ตัดอารมณ์ทิ้งไม่เป็น เราต้องรู้จักวิเคราะห์ รู้จักวิจัย รู้จักดูความก้าวหน้าของตนเองด้วย
คัดลอกจากหนังสือกรรมฐาน ๔๐
เรื่อง การปฏิบัติพระกรรมฐาน
พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 13-08-2016 เมื่อ 03:33
|