วิปัสสนาญาณซึ่งเหมาะสมที่เราจะพินิจพิจารณานั้น ก็ขึ้นอยู่กับความถนัดและความชำนาญของเรา ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาในสภาพของขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ก็คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ อริยสัจ ๔ หรือปฏิจสมุปบาทก็ตาม สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ให้เรามองให้เห็นชัดว่า มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ถ้าเราไปยึดมั่นถือมั่นก็ก่อให้เกิดทุกข์ เพราะไม่มีอะไรเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นของเราที่แท้จริง
หรือจะดูในลักษณะของอริยสัจ ๔ คือประกอบไปด้วยความทุกข์ ในเมื่อประกอบไปด้วยความทุกข์ ถ้าเราหาสาเหตุเจอว่าความทุกข์นั้นเกิดจากอะไร เราละเว้นจากการสร้างเหตุนั้น ๆ เสีย ทุกข์ก็ไม่เกิดกับเรา หรือจะดูในลักษณะของวิปัสสนาญาณทั้ง ๙ ก็คือดูการเกิดการดับ ดูเฉพาะการดับ ดูให้เห็นว่าเป็นโทษเป็นภัย ดูให้เห็นว่าเป็นของน่าเบื่อหน่าย ดูให้เห็นว่าเป็นของที่ควรจะไปเสียให้พ้น แล้วพิจารณาเสาะหาทางที่จะไปให้พ้น สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ก็แล้วแต่ว่าท่านทั้งหลายจะชอบ จะถนัดในการพินิจพิจารณาแบบไหน ก็ให้เอากำลังของสมาธิที่เราทำได้ มาพิจารณาวิปัสสนาญาณแทน
ตรงจุดไหนที่เราหมดสงสัย รู้แจ้งเห็นจริงแล้ว ก็น้อมจิตน้อมใจยอมรับว่า สิ่งนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้ถูกต้องอย่างแท้จริง เราจะน้อมมาประพฤติปฏิบัติตามเพื่อรักษาสภาพจิตของเราให้ผ่องใสไว้เสมอ
ในส่วนของการพินิจพิจารณา ถ้าหากรู้สึกว่าสภาพจิตของเราเริ่มเลือนราง กำลังไม่เพียงพอที่จะพิจารณาต่อ ก็ให้กลับไปหาการภาวนาใหม่ หรือว่าบางท่านพินิจพิจารณาจนอารมณ์ใจทรงตัว ย้อนกลับไปเป็นการภาวนาอีกครั้ง ก็ให้จับการภาวนานั้นต่อไป จนกระทั่งอารมณ์ใจของเราไปถึงที่สุด คือจุดที่เต็มหรือว่าตันของเรา ก็ค่อย ๆ ขยับขยายเคลื่อนคลายออกมา แล้วพิจารณาใหม่ ถ้าทำสลับไปสลับมาทำอย่างนี้ ความก้าวหน้าในการปฏิบัติของเราก็จะเห็นได้ชัดเจน
ลำดับต่อไปก็ให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันอาทิตย์ที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๙
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย รัตนาวุธ)
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย นายกระรอก : 28-07-2023 เมื่อ 22:28
|