พอเราตามดูตามรู้ลมหายใจเข้าออกได้สัก ๕ คู่ ๑๐ คู่ต่อเนื่องกัน กำลังสมาธิเริ่มทรงตัว นิวรณ์ต่าง ๆ ก็จะถอยห่างไป กินใจของเราไม่ได้ ถ้าสมาธิทรงตัวถึงปฐมฌานละเอียด ก็จะก้าวข้ามนิวรณ์ทั้งหลายเหล่านี้ไปโดยอัตโนมัติ เราก็จะตามดูตามรู้ลมหายใจเข้าออกแบบสะดวกสบาย บางทีก็เป็นไปโดยไม่ต้องบังคับ จะตามดูลมสัมผัสกี่ฐานก็จับได้ชัดเจน จะกำหนดภาวนาอย่างไรก็ตามรู้ได้ชัดเจน ถ้าอย่างนี้ก็แปลว่าท่านทั้งหลาย สามารถที่จะชนะนิวรณ์ซึ่งเป็นกิเลสหยาบได้ชั่วคราว
เมื่อชนะได้แล้วก็ได้โปรดระมัดระวัง อย่าให้นิวรณ์กลับมามีอำนาจเหนือใจของเราอีก ก็แปลว่าเราต้องใช้สติ ใช้สมาธิ ประคับประคองรักษาอารมณ์ใจที่เราทำได้ หรือกำลังฌาน กำลังสมาธิที่เราทำได้ ไม่ให้หลุดลอยคล้อยเคลื่อนไปยังที่อื่น ถ้าหากว่าหลุดไปก็รีบดึงกลับมาให้เร็วที่สุด ไม่อย่างนั้นแล้วกิเลสที่โดนกดอยู่ นิวรณ์ที่โดนกดอยู่ เมื่อตีกลับมาได้ก็จะมีอาการรุนแรงกว่าเดิม
นิวรณ์ถือว่าเป็นเครื่องวัดกำลังใจของเราว่าใจเรามีคุณภาพหรือไม่ ในแต่ละวันควรจะทบทวนอยู่บ่อย ๆ ว่า ขณะนี้กำลังใจของเรามีนิวรณ์ ๕ อย่างนี้อยู่หรือไม่ ? ถ้าหากว่าไม่มี แปลว่าจิตของเรามีคุณภาพที่ดี แต่ถ้ามีนิวรณ์ ๕ อยู่ ก็แปลว่าสภาพจิตใจของเราไม่มีคุณภาพ ตกอยู่ใต้อำนาจของฝ่ายต่ำ ทำให้จิตไม่สงบ ฟุ้งซ่าน ไหลไปตาม รัก โลภ โกรธ หลง ได้โดยง่าย
ดังนั้น..การที่จะก้าวข้ามนิวรณ์ทั้ง ๕ อย่าง ก็ต้องดึงจิตของเรามาอยู่กับลมหายใจเข้าออก จนกระทั่งสมาธิทรงตัว ก็จะสามารถก้าวข้ามไปได้โดยง่าย
ลำดับต่อไปก็ขอให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา
พระครูวิลาศกาญจนธรรม
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันอาทิตย์ที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๘
(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยรัตนาวุธ)
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 25-06-2015 เมื่อ 17:42
|