ดูแบบคำตอบเดียว
  #3  
เก่า 22-02-2015, 13:31
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 32,397
ได้ให้อนุโมทนา: 157,996
ได้รับอนุโมทนา 4,479,736 ครั้ง ใน 36,004 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

เมื่อท่านทั้งหลายทรงสภาพของฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ แล้ว ก็ให้ดูที่สังโยชน์ ๕ พยายามละในส่วนของสักกายทิฐิ คือ ความเห็นว่าร่างกายนี้เป็นตัวเราของเรา วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัยในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ได้เคารพยึดมั่นจริง ๆ สีลัพพตปรามาส คือ ละเว้นจากการรักษาศีลแบบไม่จริงไม่จัง หันมารักษาศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่ละเมิดศีลด้วยตนเอง ไม่ยุให้ผู้อื่นละเมิดศีล และไม่ยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นละเมิดศีล

หลังจากนั้นก็ปล่อยวางในส่วนของรูปและส่วนที่ไม่ใช่รูป โดยเฉพาะส่วนที่ละเอียดที่สุดก็คือรูปฌานและอรูปฌาน ให้เห็นว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยให้เราก้าวล่วงพ้นจากกองทุกข์เท่านั้น ยังไม่ใช่ที่พึ่งที่ระลึกอย่างแท้จริง ถ้าท่านสามารถวางกำลังใจมาถึงระดับนี้ได้ ความเป็นพระอนาคามีก็จะเข้ามาถึง ถ้าความเป็นพระอนาคามีเข้ามาถึงเมื่อไร ท่านก็สามารถที่จะใช้กำลังของปฏิสัมภิทาญาณ ๔ ได้เมื่อนั้น

เนื่องจากว่ากำลังของปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ นั้นสูงมาก จะทำอะไรเพียงแค่คิดก็สัมฤทธิ์ผลตามที่ต้องการแล้ว จึงต้องกำหนดไว้ว่า ให้กำลังใจเราเข้าถึงความเป็นพระอนาคามีเป็นอย่างน้อย เพื่อที่จะตัดในเรื่องของรัก โลภ โกรธ ให้ได้อย่างแท้จริง ความหลงก็เหลือไม่มากแล้ว จะได้ไม่ไปละเมิดสิ่งที่เป็นการฝืนกฎเกณฑ์ธรรมชาติหรือกฎของกรรม

ถ้าท่านทั้งหลายพิจารณาต่ออีกเพียงเล็กน้อย ก็จะสามารถก้าวล่วงพ้นจากกองทุกข์ได้ โดยเฉพาะในการที่เราไปยึดในสิ่งที่มาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ว่าจะพอใจหรือไม่พอใจ ก็ล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดกิเลสทั้งสิ้น นั่นคือส่วนของอวิชชา ความเขลาไม่รู้จริง การชอบใจเป็นราคะ การไม่ชอบใจเป็นโทสะ ดังนั้น..เมื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากระทบตา เห็นก็ต้องทำเป็นไม่เห็น กระทบหู ได้ยินก็ต้องทำเป็นไม่ได้ยิน กระทบจมูก ได้กลิ่นก็ต้องทำเป็นไม่ได้กลิ่น กระทบลิ้น ได้รสก็ต้องทำเป็นไม่ได้รส กระทบกาย ก็ต้องทำเป็นไม่รู้สึกถึงสัมผัส กระทบใจ ก็หยุดการครุ่นคิดให้ได้

ถ้าท่านทั้งหลายสามารถสกัดกั้นกิเลสเหล่านี้เอาไว้ได้ ไม่ให้เข้ามาถึงใจของเรา ความผ่องใสของดวงจิตก็จะมีมากขึ้น ๆ เมื่อปล่อยละความปรารถนาในร่างกายนี้ ในโลกนี้ ตลอดจนความปรารถนาในการเกิดได้อย่างสิ้นเชิง ท่านทั้งหลายก็สามารถล่วงพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพานได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องไปฝึกกสิณทั้ง ๑๐ กองอย่างที่ผู้ถามมีความเข้าใจมา

ลำดับต่อไป ขอให้ท่านทั้งหลายตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันเสาร์ที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘

(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยคะน้าอ่อน)
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 22-02-2015 เมื่อ 19:42
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 50 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา