การเข้าฌานได้นั้นยังไม่ใช่ของดีแท้ เพราะว่าเรายังไม่สามารถที่จะใช้ผลของฌานนั้นได้ จึงต้องซักซ้อมในการเข้าออกให้คล่องตัว ด้วยการคลายกำลังใจออกมา กำหนดภาวนากลับเข้าไปใหม่ คลายกำลังใจออกมา กำหนดภาวนากลับเข้าไปใหม่ ซักซ้อมอย่างนี้อยู่บ่อย ๆ จนนึกอยากจะเข้าฌานเมื่อไรก็เข้าได้ อยากจะออกเมื่อไรก็ออกได้ อยากจะเข้าฌานไหนก็สามารถที่จะเข้าได้ทันที สลับสับเปลี่ยนในระหว่างฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ไม่จำเป็นต้องเข้าตามลำดับ อาจจะเป็นการเข้าถอยหลังก็ได้ กระโดดสลับไปสลับมาเป็น ๔,๓,๒,๑ อะไรเหล่านี้ เป็นต้น
ทำจนเกิดความคล่องตัว ต้องการเมื่อไรสามารถทำได้เมื่อนั้น ถ้าอย่างนั้นแปลว่าท่านเป็นผู้ที่ทรงฌาน เมื่อถึงเวลานั้นเราต้องการที่จะใช้กำลังของฌานในการต่อสู้กับกิเลส ก็สามารถใช้ได้ ๒ อย่างด้วยกัน อย่างแรกก็คือเมื่อรู้สึกว่า รัก โลภ โกรธ หลง จะเกิดขึ้น อาศัยความชำนาญในการเข้าฌาน สภาพจิตของเราก็จะพุ่งสู่ระดับฌานใดฌานหนึ่ง ทันทีที่สภาพจิตทรงตัวแบบนั้น กิเลสก็ไม่สามารถที่จะกินใจเราได้ รัก โลภ โกรธ หลง ก็จะดับไปเอง
วิธีที่สองก็คือ เมื่อเราทรงฌานจนถึงที่สุดที่เราทำได้แล้ว ให้คลายกำลังใจออกมาแล้วพิจารณาวิปัสสนาญาณ อย่างเช่น ดูให้เห็นว่าสภาพร่างกายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเรา หรือว่าดูว่าร่างกายนี้มีการเกิดดับอยู่ตลอดเวลา หรือว่าร่างกายนี้มีแต่โทษแต่ภัย ในเมื่อเราเห็นร่างกายของเราเป็นเช่นนี้ ก็อนุมานได้ว่าร่างกายของคนอื่นก็มีสภาพเช่นเดียวกัน ถ้าสภาพจิตยอมรับ เราอาศัยกำลังฌานนั้นก็สามารถตัดกิเลสได้บางส่วน ตามกำลังความสามารถของสมาธิและปัญญาของตน
ในเรื่องของการทรงฌาน จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับนักปฏิบัติ ถ้าตราบใดที่เรายังทรงฌานไม่ได้ โอกาสที่จะชนะกิเลสก็ไม่มี ดังนั้น..อย่างน้อย ๆ ต้องทรงปฐมฌานแบบละเอียดและคล่องตัวให้ได้ หรือใครสามารถเข้าถึงฌาน ๔ ได้ ก็จะเป็นการดีที่สุด
ลำดับต่อไปให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา
พระครูวิลาศกาญจนธรรม
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันศุกร์ที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๗
(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยทาริกา)
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 14-10-2014 เมื่อ 06:15
|