แต่ว่ามีนิมิตอยู่ประเภทหนึ่ง สำหรับท่านทั้งหลายที่เคยฝึกกสิณมาในอดีต คำว่า "ในอดีต" นี้คือในชาติก่อน เมื่อจิตเริ่มสงบ นิมิตในกองกสิณนั้น ๆ มักจะปรากฏขึ้น ดังนั้น..จึงควรที่จะศึกษาในเรื่องของนิมิตตามกองกสิณต่าง ๆ ไว้ให้ดี ถ้าไม่รู้จะศึกษาจากที่ไหน ก็ศึกษาจากพระคัมภีร์วิสุทธิมรรคในส่วนของสมาธินิเทศ หรือว่าศึกษาเอาจากคู่มือปฏิบัติกรรมฐานของหลวงพ่อวัดท่าซุง หรือศึกษาจากหนังสือกรรมฐาน ๔๐ ก็ได้ เราจะได้รู้ว่านิมิตลักษณะอย่างนี้ เป็นนิมิตที่เป็นไปตามกองกรรมฐาน
ขณะเดียวกัน..นิมิตอีกลักษณะหนึ่ง จัดเป็นเรื่องของอุปกิเลส ถ้าเราสามารถแยกแยะได้ เราก็รู้ว่านิมิตไหนควรที่จะรักษาไว้ และนิมิตไหนควรที่จะละ แต่ถ้าเอาอย่างสายการปฏิบัติของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ท่านให้ทิ้งนิมิตทั้งหมด เอาแต่การภาวนาเฉพาะหน้า แต่ว่านิมิตก็เป็นเรื่องแปลก เรายิ่งไม่สนใจ ความผ่องใสชัดเจนก็ยิ่งมีมากขึ้น แต่ว่าจะผ่องใสชัดเจนอย่างไรเราก็อย่าไปสนใจ
ถ้ายังมีลมหายใจอยู่ เราก็ดูลมหายใจของเรา ถ้ายังมีคำภาวนาอยู่ เราก็กำหนดรู้คำภาวนาของเราไป ถ้าทำอย่างนี้จึงสามารถที่จะก้าวล่วงจากนิมิต ไม่ไปหลงติดอยู่จนกระทั่งเสียการปฏิบัติ แต่ถ้าเป็นนิมิตตามกองกสิณ จัดเป็นนิมิตที่ต้องรักษา ถึงเวลานิมิตจะมีการเปลี่ยนแปลงไป อย่างเช่นว่า เป็นสีเหลือง เป็นสีเหลืองอ่อน เป็นสีขาว เป็นสีขาวใส จนกระทั่งใสสว่างเจิดจ้า เป็นต้น
สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าท่านศึกษาดีแล้ว ก็ไม่ต้องไปถามว่า ลักษณะที่ตนเองได้เห็น เสียงที่ตนเองได้ยินนี้คืออะไร เป็นอะไร เพราะว่าใจของเราจะจดจ่ออยู่กับการปฏิบัติธรรมตรงหน้าเท่านั้น
ลำดับต่อไปก็ขอให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา
พระครูวิลาศกาญจนธรรม
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันอาทิตย์ที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๗
(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยรัตนาวุธ)
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 31-10-2014 เมื่อ 22:31
|