ลำดับต่อไปก็คือให้วัดจากสังโยชน์ ซึ่งเป็นเครื่องร้อยรัดเราให้ติดข้องอยู่ในวัฏสงสาร อันดับแรกก็เอาแค่สังโยชน์ ๓ ได้แก่ สักกายทิฐิ ความเห็นว่ากายนี้เป็นเรา เป็นของเรา เราต้องค่อย ๆ พิจารณาตามลำดับไป ลำดับแรกเลยต้องมีความรู้สึกอยู่เสมอว่า ร่างกายของเราอาจจะตายลงไปได้ตลอดเวลา ในเมื่อร่างกายนี้อาจจะตายลงไปได้อยู่ตลอดเวลา ถ้าเราไม่เร่งทำความดีให้มากไว้ ขึ้นชื่อว่าการเกิดมาชาตินี้ของเราก็อาจจะขาดทุน
ถ้าหากว่ากำลังใจสูงขึ้นไปอีกนิดหนึ่ง ก็ให้มองเห็นว่าร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของคนอื่นก็ดี ของสัตว์อื่นก็ดี มีแต่ความสกปรกโสโครก ต้องคอยทำความสะอาดอยู่เสมอ ถ้าหากว่าเราเห็นชัดเจนอย่างนี้ก็จะเกิดความเบื่อหน่าย รังเกียจในร่างกายของตนเอง ในร่างกายของคนอื่น ในร่างกายของสัตว์อื่น ปราศจากความยินดีที่จะมีร่างกายนี้
ถ้ากำลังใจสูงขึ้นไปอีกก็จะเห็นว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เป็นเพียงธาตุ ๔ มี ดิน น้ำ ไฟ ลม ที่ก่อตัวขึ้นมาเป็นรูปให้อาศัยอยู่ชั่วคราว ตัวเราก็เป็นเช่นนี้ คนอื่นก็เป็นเช่นนี้ สัตว์อื่นก็เป็นเช่นนี้ ไม่มีอะไรเป็นสาระ เป็นแก่นสาร ถึงเวลาก็เสื่อมสลายตายพัง กลับคืนเป็นสมบัติของโลกไปตามเดิม ถ้าเราสามารถพิจารณาเห็นชัดเจนอย่างนี้ สักกายทิฐิ คือ ความเห็นว่า ร่างกายนี้เป็นเรา เป็นของเรา ก็ไม่สามารถร้อยรัดเราอยู่กับวัฏสงสารนี้ได้
ข้อถัดไปคือ วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในคุณ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ความลังเลสงสัยในผลของการปฏิบัติ สำหรับพวกเราทั้งหลาย ถ้าก้าวเข้ามาถึงจุดนี้แล้ว ขึ้นชื่อว่าความลังเลสงสัยนั้นมีน้อย เนื่องจากว่าถ้าเราลังเลสงสัยอยู่ เราก็ยังไม่ปฏิบัติอย่างจริง ๆ จัง ๆ ดังนั้น..ก็ให้ทำความเคารพใน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้แน่นแฟ้นยิ่ง ๆ ขึ้นไป ไม่ล่วงเกินพระรัตนตรัยด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ถ้าหากว่าได้ล่วงเกินไป ไม่ว่าจะด้วยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม ให้ตั้งใจกราบขอขมาพระรัตนตรัยไว้เสมอ ๆ ถ้าทำอย่างนี้บ่อย ๆ สังโยชน์ตัวนี้ก็ไม่สามารถที่จะร้อยรัดเราให้ติดอยู่กับวัฏสงสารได้
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 23-09-2014 เมื่อ 09:39
|