๓. ร่างกายไม่มีสาระแก่นสารใด ๆ ที่จักยึดถือได้ว่าเป็นเรา เป็นของเรา ให้พิจารณาร่างกายโดยแยกเป็นธาตุ ๔ ให้มาก แยกส่วนอาการ ๓๒ ฝึกฝนให้จิตทรงตัว ค่อย ๆ คิด ต้องฝึกฝนจิตให้คิดเหมือนกับสมัยที่ฝึกการคิดรักษาศีล ทำอย่างไรนั่นแหละ เรียกว่าพยายามทำให้จิตรู้จักใช้ปัญญา ไม่ใช่เอาแต่สัญญาความทรงจำอย่างเดียวจักไม่ได้ผล
อย่างกรณีคุณหมอก็เช่นกัน ที่บอกว่าไม่ไหวในเรื่องกายคตาและอสุภะ ให้รู้ว่านั่นเป็นสัญญา แล้วก็มีจุดหนึ่งที่มีเหตุทำให้คิดไม่ค่อยจักได้ คือกำลังใจยังไม่เต็ม คือเข้าไม่ถึงธรรมส่วนนี้นี่เอง คือจิตยังไม่มีกำลัง จุดนี้จักต้องรู้จักฝึกฝนจิตให้รักการพิจารณาร่างกาย อย่าปล่อยให้จิตไหลลงสู่เบื้องต่ำไปเรื่อย ๆ จักขาดทุน
คนเราถ้ามัวแต่ประมาท.. ไม่รีบเพียรฝึกฝนจิตให้ตัดสังโยชน์ที่คั่งค้างอยู่ คิดแต่ว่าจักรอบารมีเก่าเข้ามาถึงเอง บางครั้งก็อาจจักสายเกินไป กล่าวคือมีกรรมเข้ามาตัดรอนให้ชีวิตต้องตายไปเสียก่อน ไปเกิดเป็นพรหม เป็นเทวดาก็ไม่สิ้นทุกข์ หรือกลับมาเกิดเป็นคนก็ทุกข์ใหญ่ หรือโชคร้ายไปสู่อบายภูมิ ๔ ยิ่งทุกข์มหาศาล
การฝึกฝนจิตให้รู้จักคิด หรือธัมมวิจยะ เรื่องของร่างกายตามความเป็นจริง ตามคำสั่งสอนที่กล่าวไว้มากมายหลายวิธี เป็นการเสริมปัญญาบารมีให้เต็มอยู่ในธรรมปัจจุบัน มีความเพียร – ความอดทน - อดกลั้น ต่อคลื่นอารมณ์ที่เข้ามากระทบ มีสัจจะตั้งใจจะทำอะไรก็พยายามให้เป็นไปตามนั้นเสมอ ทำความดีทุกอย่างโดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น ทุกอย่างทำเพื่อพระนิพพานจุดเดียว ทำทุกอย่างโดยมีปัญญาคุม ไม่ปล่อยให้จิตลอยไปลอยมา เหมือนเรือที่ไม่มีหางเสือสุดแต่คลื่นจักพาไปทางไหน เรือจักจมเมื่อไหร่ก็ได้
จิตคนเราก็เช่นกัน คนฉลาดเขาจักไม่ทิ้งบารมี ๑๐ กันด้วยเหตุนี้ อย่ามุ่งจักเอาแต่ทางลัดด้วยกำลังของ มโนมยิทธิ ให้หมั่นถามจิตตนเองดู ภาพกสิณพระนิพานทรงตัวอยู่ได้ทั้งวันหรือเปล่า ถ้ายังไม่ได้ทั้งวันแล้วคิดว่าตายแล้วไปได้แน่ ก็ประมาทเกินไป เมื่อรู้ตัวว่ายังทำไม่ได้ ก็พึงเร่งตัดสังโยชน์ให้มาก ๆ อยากพ้นขันธ์ ๕ ก็จักต้องพิจารณาขันธ์ ๕ อย่างจริงจัง ถ้าไม่รู้จักขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง ก็พ้นจากขันธ์ ๕ ไม่ได้
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 06-08-2014 เมื่อ 15:52
|