๑๓. อย่าฝืนโลก อย่าฝืนธรรม แล้วจิตจักเป็นสุข อยู่ในโลกทุกคนต้องมีงานทำ แต่อย่าแบกงาน เพราะงานทางโลกเป็นไตรลักษณ์ ไม่มีใครทำเสร็จได้จริง แม้อยู่วัดก็อย่าแบกวัด เพราะงานของวัดก็ไม่มีใครทำเสร็จได้จริง เหตุที่จิตยังเร่าร้อนอยู่ เพราะการไปหลงอยู่กับอายตนะที่เข้ามากระทบใจ อันเป็นกฎของธรรมดาซึ่งห้ามไม่ได้ (ห้ามไม่ให้อายตนะภายนอกกระทบกับอายตนะภายในไม่ได้) จึงเสมือนหนึ่งใจเราอยู่ในดงของกิเลส อยู่ในทางกลางของกิเลส มิใช่อยู่ไกลจากกิเลสแต่อย่างใด เพราะเรายังมีอายตนะทั้ง ๖ ทำงานได้ดีอยู่เป็นปกติ ทุกอย่างที่เข้ามากระทบ จึงล้วนเป็นกฎของธรรมดา - กฎของกรรมหรืออริยสัจทั้งสิ้น
ใครจักมาอย่างไร ใครจักไปอย่างไร ใครจักทำอะไร - พูดอะไร - คิดอะไร ก็นับว่าเป็นกรรมทั้งสิ้น อย่าลืมกรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เป็นกรรมลิขิต ซึ่งเราเองเป็นผู้กระทำไว้ก่อนในอดีตทั้งสิ้น ดังนั้น จักทำอะไร พึงพิจารณาเรื่องกฎของกรรมนี้ให้รอบคอบ จิตจักได้เลือกสรรทำแต่กรรมดี ๆ ยิ่งกรรมที่จักนำไปสู่พระนิพพานนั้น พึงทำอยู่ในขอบเขตของศีล - สมาธิ - ปัญญาเท่านั้น จุดนี้พึงหมั่นเพียรให้มาก ๆ เวลานี้อย่าไปดูเหตุภายนอก ให้รับรู้ว่าเป็นธรรมดาของการมีอายตนะ จิตจำเป็นต้องรับรู้ รับรู้แล้วก็เพียรปล่อยวางให้ออกไปจากจิตให้ได้มากที่สุด อย่าฝืนธรรมแล้วจิตจักเป็นสุข เรื่องบุคคลที่เป็นมิจฉาทิฏฐิเข้ามาวุ่นวายอยู่ในเวลานี้ อย่าไปห่วงให้มาก ไม่นานเขาจักแพ้ภัยตัวเองไปเอง
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 14-07-2014 เมื่อ 16:43
|