สมเด็จองค์ปฐม ทรงตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ มีความสำคัญดังนี้
กว่าจักบำเพ็ญบารมี ๑๐ ให้เต็มได้ถึงจุดนี้ จักต้องผ่านการปฏิบัติในรูปฌานและอรูปฌานมาอย่างโชกโชน เพราะทุกจริตสามารถทำได้ทั้งสิ้น การไปเสวยสุขหรือติดสุขอยู่ในอรูปฌาน อันทำให้เกิดเป็นอรูปพรหมนั้นจึงเป็นของธรรมดา และเป็นไปได้ เพราะในอดีตทุกคนเกิดเป็นพรหมมาก็มาก สุดแต่ว่าก่อนกายจะพัง จิตทรงอยู่ในกำลังของฌานระดับไหน จิตมันก็ชินหลุดไปอยู่จุดนั้นได้โดยไม่ตั้งใจ หรือไม่ต้องกำหนดจิตไป.. จิตมันชินแต่อดีตก็หลุดไปเอง
ตถาคตรู้จุดนี้ จึงจัดอรูปฌานและรูปฌานให้อยู่ในสังโยชน์ ๑๐ เบื้องสูง เพราะหากผู้ปฏิบัติยังเป็นโลกียฌานอยู่ จิตก็จักติดสุขอยู่ในฌานทั้ง ๒ นั้นอย่างถอนจิตไม่ขึ้น วิธีถอนการเกาะติดสุข.. ต้องพิจารณาเข้าหาไตรลักษณ์ เห็นความไม่เที่ยงของฌานทั้งสองนั้น ซึ่งเกิดจากลมหายใจหรืออานาปานุสติ อันเป็นฐานใหญ่ของฌานสมาบัติ การเกาะลมหายใจเข้า - ออก ก็เท่ากับยังเกาะร่างกายหรืออุปาทานขันธ์ ๕ อยู่ เพราะลมหายใจคือที่อาศัยของร่างกาย เป็นอาหารของกาย ซึ่งแท้ที่จริงคือธาตุ ๔ ดิน - น้ำ - ลม - ไฟ เข้ามาประชุมกัน การเกาะลมหายใจ.. จึงยังเป็นแดนเกิดในรูปพรหมและอรูปพรหมได้ง่าย
แต่ในแง่ของวิปัสสนากรรมฐาน เห็นความไม่เที่ยงของลมหายใจเข้า - ออกนั่นแหละ เป็นเหตุให้ใจมีอารมณ์จิตละเอียดขึ้น มีสติ - สัมปชัญญะสมบูรณ์ขึ้น อย่างเช่น ร่างกายนี้เมื่อวิญญาณไปปราศแล้ว (ปราศจากวิญญาณแล้ว) กายก็ไม่ต้องอาศัยลมหายใจเข้า - ออกอีก ดังนั้น การรู้ความไม่เที่ยงของกองสังขารแห่งกาย อันเนื่องจากลมหายใจเข้า - ออกนี้ ทำให้ไม่มีความประมาทในชีวิต เป็นเหตุให้เข้าถึงซึ่งอรหัตผลได้โดยง่าย
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 23-06-2014 เมื่อ 13:00
|