ดูแบบคำตอบเดียว
  #1  
เก่า 20-04-2014, 09:53
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 32,395
ได้ให้อนุโมทนา: 157,983
ได้รับอนุโมทนา 4,479,637 ครั้ง ใน 36,004 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๗

ให้ทุกคนนั่งในท่าที่ถนัดของตนเอง ตั้งกายให้ตรง กำหนดความรู้สึกทั้งหมดอยู่ที่ลมหายใจของเรา หายใจเข้า..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา จะกำหนดจุดลมกระทบฐานเดียว สามฐาน เจ็ดฐาน หรือรู้ตลอดกองลมก็ได้ จะใช้คำภาวนาแบบใดก็ได้ ตามที่เรามีความถนัดและชำนาญมาแต่เดิม

วันนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ ๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ทางวัดมีการพิจารณาอธิกรณ์ เนื่องจากว่ามีพระภิกษุบางรูปพยากรณ์ว่าตนเองเป็นพระอรหันต์ เรื่องนี้ที่นำมากล่าวเพื่อเป็นตัวอย่างว่า ในการปฏิบัติธรรมของเรานั้น บางขณะถ้าสติสมาธิทรงตัว รัก โลภ โกรธ หลง อาจจะไม่เกิดเลยเป็นระยะเวลาหลาย ๆ เดือนด้วยกัน

แม้กระทั่งในสมัยพุทธกาล ก็มีพระภิกษุที่เข้าใจผิดคิดว่าได้มรรคผลแล้ว ได้พยากรณ์มรรคผลของตนเองต่อเพื่อนสหธรรมิก เมื่อมีการโจทย์กันขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสั่งสอบสวน ถึงได้เข้าใจว่าเป็นความสงบระงับที่เกิดจากอำนาจของสมาธิกดกิเลสเอาไว้ ดังนั้น..พวกเราทั้งหมดควรที่จะศึกษาเรื่องของอุปกิเลสเอาไว้ เพื่อที่จะได้รู้ว่า สิ่งที่ชวนให้เข้าใจผิดว่าบรรลุมรรคผลนั้นมีมากต่อมากด้วยกัน

อุปกิเลส อุป แปลว่าเข้าไปใกล้ อุปกิเลส ก็คือสิ่งที่ใกล้จะเป็นกิเลส ถ้าเรารู้เท่าทันก็ใกล้เป็นกิเลสเท่านั้น ถ้าเรารู้ไม่เท่าทันเมื่อไรก็เป็นกิเลสทันที บางทีก็เรียกวิปัสสนูปกิเลส คืออุปกิเลสของวิปัสสนาญาณ ซึ่งประกอบไปด้วยหลายหัวข้อด้วยกัน ได้แก่

๑. โอภาส ภาวนาไปแล้วเกิดแสงสว่างปรากฏขึ้น หรือบางทีเกิดแสงสีต่าง ๆ ปรากฏขึ้น บางท่านนั้นโอภาสสว่างไสวไปทั่ว ไม่ว่าจะกลางวันกลางคืน สว่างอย่างกับมีแสงไฟหลายร้อยแรงเทียนเปิดส่องเข้ามา ทำให้หลายท่านคิดว่าตัวเองบรรลุมรรคผลแล้ว ทั้ง ๆ ที่สภาพจิตเพิ่งจะเข้าสู่ระดับอุปจารสมาธิเท่านั้น

๒. ปีติ เกิดความอิ่มใจไม่เบื่อไม่หน่ายที่จะปฏิบัติ ปีตินั้นหลวงพ่อวัดท่าซุงเคยเตือนเสมอว่า มารจะแทรกได้ง่าย หลายต่อหลายท่านเมื่อเกิดปีติขึ้นมา ก็ทุ่มเททำความดี ไม่พักไม่ผ่อนไม่หลับไม่นอน จนร่างกายทนไม่ไหว จึงเกิดอาการสติแตก กรรมฐานแตกขึ้นมา

๓. ปัสสัทธิ เกิดความสงบระงับ รัก โลภ โกรธ หลงไม่เกิดเลย น้อยหนึ่งก็ไม่มี ถ้าสงบระงับเป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้เราเข้าใจผิดว่าเข้าถึงมรรคผลส่วนใดส่วนหนึ่งแล้ว ถ้าไม่ใช่พระอนาคามีก็ต้องเป็นพระอรหันต์

๔. ปัคคาหะ มีความเพียรมากเป็นพิเศษ จากที่เคยขี้เกียจย่อหย่อน ง่วงเหงาหาวนอนไม่ชอบปฏิบัติ เกิดขยันขันแข็งขึ้นมา ปฏิบัติแบบข้ามวันข้ามคืน ไม่รู้เบื่อไม่รู้หน่าย ไม่รู้จักหลับไม่รู้จักนอน หลายท่านคิดว่าอาจจะเป็นเพราะว่าเข้าถึงมรรคผลแล้ว จึงทำให้เกิดความขยันขันแข็งเช่นนี้
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 20-04-2014 เมื่อ 14:45
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 52 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา