๑๖. ท่านพระ... พูดถูกตรงที่ว่า การจบกิจของท่านยังมีความละเอียดไม่พอเท่ากับที่พระสอนพวกเจ้า จุดนี้เป็นเรื่องจริง เพราะแต่ละองค์ก็มาแต่ละทาง คือ กรรมที่จักบรรลุไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน ที่เท่ากันคือท่านตัดกิเลสได้หมดตามสังโยชน์ ๑๐ ประการเป็นสมุจเฉทปหานเท่านั้น
เรื่องกฎของกรรมนี้เป็นธรรมที่ละเอียด ลึกซึ้ง ยากที่บุคคลธรรมดา ๆ จักพึงเข้าใจได้ แต่หากมีความเชื่อหรือศรัทธาในพระองค์ โดยจิตไม่สงสัยในพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์แล้ว พระองค์ทรงตรัสว่า บุคคลผู้นั้นเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ คือ เป็นสัมมาทิฏฐิเต็มกำลังใจ (ตัวสัมมาทิฏฐิ คือตัวปัญญาในพระพุทธศาสนา)
เรื่องนี้หลวงพ่อฤๅษีท่านเคยพูดไว้ว่า “คนผิดคนถูกไม่มี คนชั่วคนเลวคนดีไม่มี มีแต่คนที่มาตามกรรม แล้วก็ไปตามกรรม ทุกชีวิตเดินเข้าสู่ความตายเหมือนกันหมด” และที่สมเด็จองค์ปัจจุบันทรงตรัสเกี่ยวกับท่านเทวทัตว่า “เรารักเทวทัตเท่ากับพระราหุล ลูกของเรา" เหตุเพราะพระพุทธองค์และหลวงพ่อฤๅษีมีพรหมวิหาร ๔ เป็นอัปมัญญา ท่านมองคนในแง่ดี จิตบริสุทธิ์ ปราศจากกิเลส - ตัณหา - อุปาทาน และอกุศลกรรม หมดอคติ ๔ มองทุกอย่างเป็นธรรมดาหมด
ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ การเจริญพระกรรมฐานตัดสังโยชน์ตั้งแต่เบื้องต้นยันเบื้องปลาย ไม่มีใครเขาทิ้งพรหมวิหาร ๔ กัน เพราะพรหมวิหาร ๔ เลี้ยงทั้งศีล - สมาธิ - ปัญญา เป็นกำลังใหญ่ทำให้เข้าถึงพระอรหัตผลได้ง่าย เพราะฉะนั้น จึงพึงทรงจิตให้อยู่ในพรหมวิหาร ๔ อยู่เสมอ อนึ่ง จักตัดกิเลสตัวไหน ให้ใช้พรหมวิหาร ๔ ควบคู่กันไป จักเป็นกำลังใหญ่ให้ตัดกิเลสได้โดยง่าย
ยกตัวอย่าง เช่น การรักษาศีล ๕ ข้อแรก ห้ามฆ่าสัตว์ หากไม่มีเมตตาความรัก ไม่มีกรุณาความสงสาร ไม่มีมุทิตาจิตอ่อนโยน ไม่มีอุเบกขาวางเฉย สมมุติว่าอยากกินไก่ หากมีอุเบกขาวางเฉยกับความอยากนั้น ก็มีจิตอ่อนโยนไม่ยอมฆ่าไก่นั้น มีความกรุณาสงสารก็ฆ่าไก่ไม่ลง มีเมตตารักแล้วก็ฆ่าไม่ลง ในขณะเดียวกันผลสะท้อนกลับมาหาตัวเรา ไม่ต้องตกนรกไปชดใช้กรรมที่ฆ่าไก่นั้น ก็เทียบเท่ากับเรามีพรหมวิหาร ๔ ให้กับตนเองด้วย นี่เป็นอุปมาอุปมัยสำหรับศีลเบื้องต้นข้อแรก ข้ออื่น ๆ ก็พิจารณาโดยอาศัยหลักของพรหมวิหาร ๔ กลับไปกลับมาเช่นกัน เรื่องของสมาธิ เรื่องของปัญญา ก็ให้พิจารณาไปเช่นนี้เหมือนกัน แล้วจักทำให้ตัดกิเลสได้ง่าย
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 25-03-2014 เมื่อ 02:21
|