ถาม : อนิมิตตเจโตสมาธิ ?
ตอบ : ก็อยู่ในลักษณะของอรูปฌาน ไม่ต้องการนิมิต ยกนิมิตทิ้งเสีย ในเมื่อยกนิมิตทิ้ง เราก็พิจารณาจนอารมณ์ใจทรงตัวเต็มที่ ก็คือกำลังของฌาน ๔ ธรรมดานั่นแหละ ตั้งรูปขึ้นมาก่อน แล้วทิ้งรูปนั้นเสีย เป็นอรูปฌาน เพราะฉะนั้นอรูปฌานก็คืออนิมิตตเจโตสมาธิ
ถาม : ไม่ใช่วิปัสสนาใช่ไหมครับ ?
ตอบ : ไม่ใช่..อย่าลืมว่าเจโตฯ ยังเป็นกำลังสมาธิอยู่ เจโตวิมุตติไม่ใช่ปัญญาวิมุติ
ถาม : ลักษณะเหมือนกับเป็นวิปัสสนา ?
ตอบ : กำลังคล้ายคลึงกัน เพราะอย่าลืมว่าอากิญจัญญายตนฌาน ก็คือพิจารณาว่าทุกอย่างไม่มีอะไรเหลือเลย แม้แต่น้อยหนึ่งก็ไม่มี ก็เป็นวิปัสสนาญาณดี ๆ นี่เอง แต่ยังไม่ใช่ เพราะว่าเกาะฌานอยู่เต็มที่เลย
ถาม : ผมอ่านในมหาสุญญตสูตร ท่านพูดถึงฌานนิมิตกับอนิมิตตเจโตสมาธิ ท่านได้เข้ารูปฌาน และอรูปฌาน แล้วเข้าอนิมิตตเจโตสมาธิ ?
ตอบ : บุคคลที่ทำได้จริง ๆ ถ้ามาถึงส่วนท้ายของอรูปฌานแล้ว ต้องใช้คำว่ายังมีส่วนของการยึดเกาะอยู่ ก็คือน้อย ๆ เกาะความดี เกาะกำลังสมาธินั้น ในเมื่อคุณไม่ต้องการที่จะเกาะตรงจุดนั้น ทำอย่างไรที่คุณจะปล่อย จะมีช่องว่างอยู่ตรงกลางส่วนหนึ่ง ซึ่งอธิบายได้ยาก เพราะว่าเป็นกำลังคล้าย ๆ กับระหว่างสมถะกับวิปัสสนาพอดี ๆ ที่เขาจะผ่ากลางเข้าไปได้
ตรงจุดของส่วนนั้น จัดว่าเป็นอนิมิตตเจโตสมาธิก็ได้ แต่อยู่ในลักษณะเห็นแล้วว่า ไม่ว่าจะเป็นรูปฌานหรืออรูปฌานก็ตาม ก็ยังทำให้ยึดติดอยู่ เพราะฉะนั้น..ในส่วนที่ไม่ต้องการจริง ๆ ก็จะต้องปล่อยวาง จะอยู่ในลักษณะเหมือนกับว่า ซ้ายก็ไม่แตะ ขวาก็ไม่แตะ แต่ไม่ใช่เหยียบเรือสองแคม หากแต่ไปตรงกลางซอยพอดี
ในส่วนของสมถะ เราเกาะด้านนี้ก็ติดสมาธิ ในส่วนของวิปัสสนา ถ้าเห็นแล้วจิตยังปล่อยวางไม่ได้ ก็จะยังติดที่การรู้เห็นนั้น จุดนี้จะผ่ากลางไปพอดี
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 03-12-2013 เมื่อ 17:51
|