ถาม : จิตตานุปัสสนากับธัมมานุปัสสนา ในส่วนที่ว่าจิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ และในธัมมานุปัสสนา รู้ว่ามีกามฉันทะก็รู้ว่ามีกามฉันทะ อันนี้แตกต่างกันอย่างไรครับ ?
ตอบ : จริง ๆ ก็คือรู้อยู่ในปัจจุบันขณะว่าจิตเสวยอารมณ์อย่างไร ? ส่วนในเรื่องของธัมมานุปัสสนานั้น ท่านยกขึ้นมาในเรื่องการพิจารณาว่าอารมณ์ตอนนี้เป็นอย่างไร ? ในเมื่ออารมณ์ใจที่ประกอบไปด้วยราคะอย่างนี้ ตอนนี้ทำให้เราเกิดความร้อนรุ่มกระวนกระวายอย่างไร ? เกิดความทุกข์อย่างไร ? แล้วเราเองยังปรารถนาความทุกข์เช่นนั้นอีกหรือไม่ ? ถ้าเราไม่ปรารถนา เราวางลงได้ไหม ? ถ้าวางได้ก็จะจบ แต่ถ้าเราไม่วางลง เอาไปปรุงแต่งต่อ ก็จะเกิดปัญหาต่อไป
ในส่วนของธัมมานุปัสสนาส่วนใหญ่จะเป็นการพิจารณาแล้ว ในส่วนของจิตตานุปัสสนาเป็นการรู้เท่าทันในปัจจุบันขณะ
ถาม : ธัมมานุปัสสนานี่คือเข้าใจที่ปรากฏ ?
ตอบ : เข้าใจในสิ่งที่มาปรากฏตามสภาพความเป็นจริง อย่างเช่น นิวรณ์ ๕ กามฉันทะ ความพอใจในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย ที่เกิดขึ้นกับตัวเองก็รู้อยู่ แต่สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อสร้างทุกข์สร้างโทษให้แก่เรา ในเมื่อสร้างทุกข์สร้างโทษให้แก่เรา ถ้าเราไม่ไปนึกคิดปรุงแต่งต่อ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ก็ไม่สามารถที่จะสร้างทุกข์สร้างโทษแก่เราได้ ก็เท่ากับว่าดับไป ส่วนหนึ่งอยู่ในลักษณะแค่รู้เท่าทัน อีกส่วนหนึ่งประเภทรู้แล้วปล่อยวาง
ถาม : ถ้ามีสติรู้ทันจะดับไปเอง ?
ตอบ : จะดับไปเอง แต่ว่าในส่วนของสติรู้เท่าทันนั้น จะอยู่ในลักษณะว่าดับโดยการไม่ปรุงแต่งต่อ ในเมื่อดับโดยไม่ปรุงแต่งต่อ ก็จะอยู่ในลักษณะของ ตทังควิมุตติ การหลุดพ้นด้วยองค์ของวิปัสสนาญาณนั้น ๆ แต่ถ้าเราเองรู้เหตุจริง ๆ ว่าเกิดอย่างไร แล้วเราไม่ไปแตะต้องสาเหตุนั้น จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ถ้าอย่างนั้นจะเป็นสมุจเฉทวิมุตติ ก็คือตัดขาดได้อย่างสิ้นเชิง
ถาม : จะกินข้าวให้อร่อย ?
ตอบ : เขาไม่ได้ต้องการให้อร่อย
ถาม : ถ้าไม่อร่อยก็ไม่กินนี่คะ ?
ตอบ : อร่อยกว่าปกติด้วย เพียงแต่ว่ารู้เท่าทันแล้วไม่ไปคิดเท่านั้น ที่อร่อยกว่าปกติ เพราะพอสภาพจิตยิ่งละเอียด การรู้รสยิ่งละเอียดขึ้น
ขออภัยโยมบางคนที่ฟังไม่รู้เรื่องนะจ๊ะ เพราะว่าบางอย่างที่โยมเขาถาม ต้องยกศัพท์บาลีขึ้นมาประกอบด้วย ถ้าเราไม่มีพื้นฐานเรื่องทั้งหลายเหล่านั้นมาก่อนก็จะไม่เข้าใจ
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 03-12-2013 เมื่อ 02:46
|