เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖
ขอให้ทุกคนขยับตัวนั่งในท่าที่สบาย กำหนดความรู้สึกทั้งหมดอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกของเรา หายใจเข้า..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา ใช้คำภาวนาที่เรามีความถนัดมาแต่เดิม
วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๒ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๖ วันนี้มีญาติโยมถามปัญหาว่า เมื่อปฏิบัติไปแล้วเข้าถึงความว่าง จะทราบว่าความว่างนั้นเป็นความว่างแบบไหน ? ซึ่งความว่างในการปฏิบัติของเรานั้นมีหลายระดับชั้นด้วยกัน
ความว่างระดับแรกก็คือ สติ สมาธิ เริ่มทรงตัวเป็นฌาน ถ้าอย่างนี้รัก โลภ โกรธ หลง ต่าง ๆ จะโดนอำนาจของฌานกดดับลงไปชั่วคราว สภาพจิตที่เคยรุงรังด้วยกิเลสต่าง ๆ ก็สงบราบเรียบลง เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นสำหรับตัวเองมาก่อน ก็จะรู้สึกว่าง เบาสบายอย่างยิ่ง อย่างนี้เรียกว่าว่างเพราะอำนาจของฌานสมาบัติกดทับกิเลสเอาไว้
ความว่างระดับต่อไป คือ ความว่างในอากาสกสิณ เป็นการกำหนดช่องว่างส่วนใดส่วนหนึ่งจับมาเป็นนิมิตในการภาวนา ถ้าเป็นในลักษณะอย่างนั้นจะเกิดขึ้นกับบุคคลที่เคยมีของเก่าในอดีต ฝึกเกี่ยวกับอากาสกสิณมาก่อน เมื่อทำไปจนสมาธิเริ่มทรงตัว ของเก่ากลับคืนมา เกิดปฏิภาคนิมิตขึ้น ก็จะรู้สึกถึงความว่างได้เช่นกัน ในส่วนนี้ถ้าจิตของเราละเอียดพอ ก็จะแยกแยะออกได้ว่า ถ้าเป็นความว่างของกสิณนั้น จะเป็นความว่างอยู่ในลักษณะที่เรากำหนดเฉพาะเจาะจงจุดใดจุดหนึ่งตรงหน้า
ความว่างระดับถัดไปนั้นเป็นความว่างของอรูปฌาน ไม่ว่าจะเป็นอากาสานัญจายตนะฌานก็ดี วิญญาณัญจายตนะฌานก็ดี อากิญจัญญายตนะฌานก็ดี เนวสัญญานาสัญญายตนะฌานก็ดี อรูปฌานทั้งหลายเหล่านี้เกิดจากการที่เราเพิกรูปทิ้งไป แล้วจับความว่างของอากาศ จับความไร้ขอบเขตของวิญญาณ จับความรู้สึกที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องเสื่อมสลายพังไป ไม่มีอะไรเหลืออยู่ และกำหนดความรู้สึกว่ามีเหมือนกับไม่มี รู้เหมือนกับไม่รู้ เป็นต้น สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ก็จัดเป็นความว่างอีกอย่างหนึ่ง
บุคคลที่เคยทรงอรูปฌานในอดีต เมื่อกระทำไปจนกระทั่งกำลังทรงตัวแล้ว เข้าถึงอรูปฌานเดิม ๆ ก็ทำให้รู้สึกถึงความว่างเช่นกัน ตรงจุดนี้ถ้าจะสังเกตแยกแยะออกก็จะต้องสังเกตว่า เรายังทรงกำลังของฌานสมาบัติอยู่ การที่เราทรงกำลังของฌานสมาบัติอยู่แม้ว่าจะเบาสบายเพียงใดก็ตาม ความที่ยังต้องทรงฌานอยู่ก็จัดเป็นความหนัก บุคคลที่มีจิตละเอียดจริง ๆ ถึงจะแยกแยะออกได้
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 16-02-2013 เมื่อ 01:50
|