๔. ท่านยึดสังโยชน์ ๑๐ เป็นแนวทางปฏิบัติ ท่านเข้าใจดีว่า ศีลเป็นแม่ของพระธรรม เป็นมารดาของพระพุทธศาสนา สังโยชน์ ๓ ข้อแรก จึงมีความสำคัญอยู่ที่ข้อ ๓ ท่านจึงทรงมีอธิศีลในศีล ๕ ต่อไปก็ทรงกรรมบถ ๑๐ ครบ
(ในระยะ ๗ - ๘ เดือนที่ได้อยู่ใกล้ชิดกับท่าน ได้สนทนากับท่าน ไม่เคยได้ยินท่านตำหนิใคร ไม่เคยยกตนข่มผู้อื่น ไม่เคยยกตนเองว่าดี และไม่เคยยุ่งเรื่องของชาวบ้านในเรื่องส่วนตัว ..นอกหน้าที่ท่าน หมายถึงไม่เอาจิตเข้าไปผูกพันให้เกิดทุกข์ ยามช่วยราษฎร์ก็ช่วยอย่างสุดกำลัง หรือทำดีที่สุดเท่าที่จะพึงช่วยได้ พึงทำได้ แต่เมื่อหมดเวลาแล้วจะไม่เป็นทุกข์ เพราะเอาจิตไปผูกพัน
ทรงแยกได้ว่าอย่างไหนโลก (หน้าที่) อย่างไหนธรรม (ทางที่จะพ้นโลก) เมื่อศีลบริสุทธิ์เป็นอธิศีล ย่อมทำให้จิตบริสุทธิ์ตาม (อธิจิต) ส่งผลทำให้เกิดมีความคิดเห็นถูกหรือสัมมาทิฏฐิ หรือเกิดปัญญาในทางธรรม หรือเข้าใจในธรรม ทำให้หมดสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์ ผู้หมดสงสัยย่อมปฏิบัติตามคำสอนอย่างเคร่งครัด
สัมมาทิฏฐิคือ ตัวเข้าใจหรือตัวปัญญา ซึ่งเป็นอริยมรรคองค์แรกอันมีองค์ ๘ เมื่อบุคคลใดเข้าใจ มีปัญญา ย่อมหมดความสงสัย และย่อมเลือกเดินทางได้ถูกต้อง คือไม่มีวันเดินทางผิด (ไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิ)
พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ไม่มีโทษอันใดที่จะร้ายแรงเท่ากับมิจฉาทิฏฐิ เพราะหากเราเริ่มต้นผิด การกระทำของเราก็จะผิดตลอด และด้านตรงข้าม.. หากเราเริ่มต้นถูก มันก็จะถูกตลอด
พระองค์ทรงเห็นแล้วด้วยญาณทัศนะอันบริสุทธิ์ จึงได้จัดให้สัมมาทิฏฐิเป็นองค์แรกในอริยมรรค ๘ ผมจำได้ว่า เรื่องนี้หลวงพ่อท่านเปรียบสัมมาทิฏฐิเหมือนหัวรถจักร (หัวรถไฟ) หากเรายึดหัวรถจักรได้ และตั้งทิศทางที่จะไปได้ถูกต้อง (มรรค แปลว่าทาง) รถย่อมพาเราไปถึงที่หมายได้ถูกต้องและแน่นอน ในทางปฏิบัติองค์ ๗ ที่เหลือก็จะเกิดขึ้นมาเอง และถูกจูงไปทางเดียวกันหมด
ทำนองเดียวกันกับพวกมิจฉาทิฏฐิ จับหัวรถไฟได้เหมือนกัน แต่เลือกทางวิ่งทางผิด (เพราะเป็นมิจฉามรรค) มิจฉาอีก ๗ ตัวก็จะเกิดตามมาเป็นขบวนเช่นกัน
ให้จำง่าย ๆ ว่าอริยมรรคอันมีองค์ ๘ ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญานั่นเอง พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า ตราบใดที่ยังมีบุคคลปฏิบัติตามอริยมรรค ๘ ของตถาคตแล้ว ตราบนั้น โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอริยเจ้า"
|