สิ่งที่เราจำเป็นต้องศึกษาและปฏิบัติประกอบไปด้วยศีล ถ้าศีลของเราบกพร่อง ด่างพร้อย ขาด ทะลุ อย่างไรก็ตาม ให้ตั้งใจเดี๋ยวนั้นว่า ศีลของเราทุกสิกขาบทบัดนี้บริสุทธิ์บริบูรณ์ แล้วก็ตั้งใจระมัดระวังรักษาของเราต่อไป ในแต่ละวันพยายามทบทวนดูว่า วันนี้ศีลของเรามีข้อใดที่บกพร่องบ้าง ถ้ามีข้อบกพร่องก็พยายามแก้ไขให้ดีขึ้น ถ้าหากว่าดีอยู่แล้วก็รักษาความดีนั้นให้ทรงตัวยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ในส่วนของสมาธิภาวนานั้น เมื่อท่านทั้งหลายภาวนาจนอารมณ์ใจทรงตัวแล้ว อย่าปล่อยทิ้งไปเฉย ๆ ส่วนใหญ่แล้วเราปฏิบัติภาวนาเสร็จ เมื่อเลิกแล้วเราก็ทิ้งเลย ทำให้อารมณ์ใจของเราไม่ทรงตัว ไม่ก้าวหน้า ถ้าปฏิบัติภาวนาจนสมาธิทรงตัวแล้ว ให้ใช้สติสัมปชัญญะของเรา ประคับประคองอารมณ์สมาธินั้น ให้อยู่กับเราให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าสภาพจิตเคยชิน กระทำอย่างนี้บ่อย ๆ ต่อไปก็สามารถที่จะทรงสมาธิต่อเนื่องได้เป็นวัน ๒ วัน ๓ วัน ๕ วัน ๑๐ วัน ครึ่งเดือน ๑ เดือน เป็นต้น
ถ้าสามารถทำอย่างนี้ได้สภาพจิตที่เคยชินกับการที่อำนาจของรัก โลภ โกรธ หลงไม่สามารถที่จะครอบงำได้ ก็จะมีความผ่องใสเป็นพิเศษ เราก็สามารถใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นว่า สภาพร่างกายของเราก็ดี ของบุคคลอื่นก็ดี สรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ก็ดี มีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น แปรปรวนไปในท่ามกลาง สลายตัวไปในที่สุด
ระหว่างที่ดำรงชีวิตอยู่ก็มีแต่ความทุกข์ เราไม่พึงปรารถนาอัตภาพร่างกายที่เต็มไปด้วยความทุกข์เช่นนี้อีกแล้ว ร่างกายของคนอื่นเราก็ไม่ต้องการ โลกนี้เราก็ไม่ต้องการ เราปรารถนาแห่งเดียวคือพระนิพพาน หลังจากนั้นก็ให้ส่งกำลังใจขึ้นไปเกาะพระนิพพาน หรือเกาะภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งที่เรารักเราชอบเอาไว้ จากนั้นก็ภาวนาให้กำลังใจทรงตัวมั่นคง แล้วประคับประคองความมั่นคงในอารมณ์นั้นเอาไว้
ถ้าสามารถทำอย่างนี้ได้บ่อย ๆ ความก้าวหน้าในการปฏิบัติก็จะมีขึ้นจนถึงระดับที่น่าพอใจ ลำดับต่อไปนี้ ก็ให้ทุกคนตั้งใจภาวนาหรือพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา
พระครูวิลาศกาญจนธรรม
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันอาทิตย์ที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๕
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 06-10-2012 เมื่อ 04:18
|