เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๖
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๖ |
วันนี้ตรงกับวันอังคารที่ ๒๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๖ พวกเราใครสะดวกก็ไปงานศพยายเจิง (นางเจิง ผาภูมิวิบูลย์) ได้ แต่กระผม/อาตมภาพเองจะนั่งหลับคาที่อยู่แล้ว..! คงต้องรอไปเผากันทีเดียว สำหรับครอบครัวยายเจิง ต้องบอกว่าเป็นครอบครัวที่อยู่ในศีลกินในธรรมมาตลอด ลูกหลานทั้งหมดเข้าวัดเข้าวา ทำบุญสุนทานกันเป็นปกติ ช่วงที่ยังแข็งแรงอยู่ ถ้าหากว่าวัดท่าขนุนจัดงานบวชเนกขัมมะปฏิบัติธรรม ยายเจิงก็จะพาพรรคพวกมาบวชปฏิบัติธรรมด้วยทุกครั้ง
คราวนี้ในเรื่องของการสร้างกุศลใส่ตัว ต้องบอกว่าควรที่จะทำให้ต่อเนื่อง แบบเดียวกับครอบครัวของยายเจิงนี่แหละ เนื่องเพราะว่าพวกเราทั้งหลายไม่ได้ทำแต่บุญแต่กุศลมาอย่างเดียว ในแต่ละชาติ เราก็มีทำดีบ้าง ทำชั่วบ้าง ถ้าหากว่าเราไม่สร้างกุศลให้ต่อเนื่องไว้ พออกุศลเข้ามาสนอง เราไม่มีอะไรผ่อนหนักเป็นเบายังไม่พอ บางทีอาจจะถึงขนาดเจออุปฆาตกรรมถึงสิ้นชีวิตไปเลยก็มี..! หลายคนประสบเหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างเช่นว่า คนในครอบครัวตายบ้าง เจ็บไข้ได้ป่วยหนักบ้าง เกิดอุบัติเหตุบ้าง แล้วก็ยังมาสงสัยว่าเกิดเพราะเราไม่ได้ทำบุญอีกหรือเปล่า ? แล้วหลายท่านก็ยังฉลาดพอที่จะคิดขึ้นมาได้ว่า เป็นเพราะกระผม/อาตมภาพไม่ได้เปิดบ้านรับสังฆทาน ทำให้เขาได้ทำบุญน้อยลงหรือเปล่า ? ต้องบอกว่าพวกนี้สมควรตาย..! เพราะว่าในส่วนของสังฆทาน อย่างไรเสียก็เป็นแค่ทานเท่านั้น สูงกว่านั้นยังมีศีล ยังมีภาวนาที่เราสามารถทำได้ทุกวัน ทำได้ทุกเวลา แต่กลับไปปล่อยให้เว้นว่างขาดช่วงลง เพียงเพราะว่ากระผม/อาตมภาพไม่ได้เปิดบ้านรับสังฆทาน ถ้าหากว่าโง่ขนาดนั้น ก็สมควรที่จะโดนแล้ว..! |
ถ้าเราดูในบุญกิริยาวัตถุ การสร้างบุญสร้างกุศลมีตั้ง ๑๐ วิธี ก็คือ
ทานมัย สร้างบุญกุศลด้วยการให้ทาน ไม่ว่าจะเป็นให้ทานแก่สัตว์ทั่วไป ให้แก่บุคคลที่ไม่มีศีล ให้แก่บุคคลที่มีศีล ให้แก่สมณชีพราหมณ์ สามารถให้ได้ทั้งนั้น สีลมัย บุญกุศลเกิดจากการรักษาศีล จะเป็นศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ หรือถ้าหากว่าเป็นฆราวาส ไม่สะดวกที่จะรักษาศีล ๕ จนครบถ้วน อย่างน้อยก็ต้องมีข้อใดข้อหนึ่งที่เรายึดมั่น เพราะว่ารักษาศีลน้อย ดีกว่าไม่รักษาเสียเลย ภาวนามัย บุญเกิดจากการเจริญสมาธิภาวนา ถือว่าเป็นบุญใหญ่ที่สุดในบุญทั้งหมดนี้ สามารถที่จะบรรเทาเบาบางอกุศลกรรมได้ดีที่สุด เนื่องเพราะว่า การให้ทาน เราทำ ๑ ได้ ๑๐๐ การรักษาศีล ทำ ๑ ได้ ๑๐,๐๐๐ การเจริญภาวนา ทำ ๑ ใน ๑,๐๐๐,๐๐๐ เหตุที่เขาเปรียบเอาไว้อย่างนี้ เพราะมีผู้อธิบายว่า ทานนั้นเราทำแค่กายก็ได้ ซึ่งความจริงถ้าใจไม่คิดจะทำ กายก็คงจะไม่ทำ แต่ท่านอธิบายไว้อย่างนี้ ศีลนั้นเรารักษาด้วยกายและวาจา อานิสงส์จึงมากขึ้นไปในลักษณะคูณร้อย แต่ภาวนาเราต้องรักษาทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจของเรา จึงต้องคูณร้อยของศีลเข้าไปอีก บุญข้อต่อไป อปจายนมัย การอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ เป็นคนเสมอกัน หรือว่าเป็นเด็ก คนที่เห็นจะเกิดความเย็นตาเย็นใจ รักใคร่เมตตาเรา เพราะเราเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน เราสร้างความดีให้เกิดขึ้นกับใจคนอื่น จึงได้ผลบุญกุศลนี้ไปด้วย เวยยาวัจมัย บุญเกิดจากการขวนขวายช่วยเหลืองานบุญคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นการกระทำในวัดก็ดี ในบ้านก็ดี ถ้าเขาสร้างบุญสร้างกุศล เราไปช่วยหยิบช่วยจับ ไปช่วยทำความสะอาด ไปช่วยจัดสถานที่ ไปช่วยต้มยำทำแกง ไปช่วยถวายของพระ เป็นต้น ต่อไปก็คือปัตติทานมัย บุญกุศลที่สำเร็จด้วยการอุทิศส่วนกุศลให้กับคนอื่น ส่วนใหญ่แล้วสิ่งที่เราหามาโดยยาก ทำได้โดยยาก เราก็มักจะหวงแหน แต่ในเมื่อกำลังใจของเราสามารถที่จะสละออกให้กับคนอื่นได้ การที่สละออกของเรานั่นแหละคือบุญกุศลที่เราจะได้ขึ้นมาอีกส่วนหนึ่ง |
ปัตตานุโมทนามัย บุญกุศลเกิดจากการยินดีในความดีของคนอื่น เพราะว่าโดยทั่วไปแล้ว ธรรมชาติของบุคคลที่หนาไปด้วยกิเลส มักจะเห็นคนอื่นดีกว่าไม่ได้ เกิดความอิจฉาตาร้อนเป็นปกติ ถ้าหากว่าเราสามารถยินดีในความดีของคนอื่นได้ ต้องเป็นกำลังใจที่สูงมาก ก็คือเว้นจากอคติทั้งปวงยังไม่พอ ยังต้องประกอบไปด้วยมุทิตาจิตในพรหมวิหาร ๔ อีกต่างหาก
แต่ว่าในปัจจุบันนี้ ปัตตานุโมทนามัย เรามักจะวางกำลังใจผิด ปัตตานุโมทนามัยที่แท้จริงก็คือเราอยากจะทำบุญแบบนั้น แต่ไม่มีโอกาสได้ทำ เมื่อเห็นคนอื่นเขาทำก็เกิดความยินดี เกิดความดีใจที่เขามีโอกาสนั้น ในขณะที่เราไม่มี การที่เราพลอยยินดีกับความดีของคนอื่นได้ จึงเป็นบุญกุศลที่เกิดขึ้นยาก เพราะว่าทุกวันนี้ที่เราสาธุ เวลาคนอื่นเขาทำความดี เวลาคนอื่นเขาสร้างบุญ เราแฝงไว้ด้วยความหมายว่า "กูจะเอาของมึง" ในเมื่อเราวางกำลังใจผิด บุญกุศลที่ควรจะได้จากปัตตานุโมทนามัย ก็เลยได้น้อยมาก บุญข้อสุดท้ายนั้น เป็นของที่ได้มาตั้งแต่เราตั้งใจไว้ถูก คือทิฎฐุชุกัมม์ มีความเห็นเป็นสัมมาทิฏฐิ เห็นว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนเรามา ไม่ว่าจะเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา ล้วนแล้วแต่ ป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติตามอย่างยิ่ง ตั้งหน้าตั้งตาสร้างความดีตามที่พระพุทธเจ้าท่านสอน รักษากาย วาจา ใจ ของเราให้เป็นไปตามกรอบของไตรสิกขา ซึ่งก็คือมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เราสามารถทำได้ทุกเมื่อเชื่อวัน จะมีเสียเงินเสียของอยู่อย่างเดียวคือทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ทาน ถ้าหากว่าเราไม่อยากเสียเงินเสียของ เราก็มารักษาศีล มาเจริญภาวนา มาปฏิบัติในข้ออื่น ๆ แทน แต่คราวนี้ถ้าหากว่าตราบใดที่เรายังไม่มั่นใจในคติของตนเอง ว่าจะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดอย่างแท้จริง ก็ต้องมีการประกันความเสี่ยงไว้ด้วย เพราะว่าบุญเกิดจากการให้ทาน เราเกิดกี่ชาติ จะเป็นผู้ที่มีทรัพย์สมบัติมาก มีเครื่องอุปโภคบริโภคอุดมสมบูรณ์ พูดง่าย ๆ ว่ามีฐานะร่ำรวยนั่นแหละ บุญเกิดจากการรักษาศีล เกิดไปกี่ชาติ เราก็เป็นผู้มีรูปสวย มีจิตใจที่ดีงาม บุญเกิดจากการภาวนา เกิดไปกี่ชาติ เราก็จะเป็นผู้มีปัญญามาก |
คราวนี้ถ้าหากว่าเราเป็นคนรวยแต่ไร้ปัญญา ก็มีสิทธิ์ที่ทรัพย์สมบัติจะสูญสิ้นไปได้ อย่างสมัยนี้โดนแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกกันเป็นว่าเล่น ถ้าหากว่าเราร่ำรวยแต่หน้าตาไม่เอาไหน คนจะแต่งงานด้วยก็คงต้องคิดแล้วคิดอีก แต่หน้าตาเฮงซวยด้วยแถมจนอีกต่างหาก ก็คงจะหมาไม่แลเหมือนกัน..!
ก็แปลว่าเรื่องของ ทาน ศีล ภาวนา ควรที่จะกระทำในลักษณะประกันความเสี่ยง ก็คือทำให้ครบทุกอย่างไปเลย แปลว่าเรามีโอกาสให้ทาน เราก็ให้ทาน ในระหว่างนั้น เราก็รักษาศีลให้เป็นปกติ เจริญภาวนาเอาไว้ให้สม่ำเสมอ มีโอกาสก็ช่วยเหลือขวนขวายงานบุญคนอื่น แม้กระทั่งเรื่องของการทำความสะอาดสถานที่ ปัดกวาดลานวัด ก็จัดเป็นเวยยาวัจมัยทั้งหมด หรือว่าเมื่อสร้างบุญสร้างกุศลแล้วก็อุทิศให้กับคนอื่น เห็นคนอื่นทำบุญทำกุศล ก็พลอยยินดีไปด้วย รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้อื่น ตลอดจนกระทั่งมีความเห็นเป็นสัมมาทิฏฐิ เหล่านี้เป็นต้น อีกส่วนหนึ่งนั้นต้องการความรู้ที่แท้จริง ก็คือธัมมัสสวนมัย ฟังธรรมแล้วน้อมนำไปปฏิบัติ ทำให้เกิดผลดีทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจของเรา เมื่อปฏิบัติเกิดผลแล้ว ถึงจะสามารถแสดงธัมมเทสนามัย บุญที่เกิดจากการเทศน์สอนคนอื่น ตราบใดที่เรายังไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเองอย่างแท้จริง เราก็ยังไม่รู้ว่าจะสอนคนอื่นให้เดินถูกทางหรือเปล่า ? จะกลายเป็น "แม่ปูสอนลูกปู" หรือเปล่า ? เดินเท่าไรก็มีแต่คดไม่มีทางตรง เหล่านั้นเป็นต้น ดังนั้น..ในเรื่องของบุญกิริยาวัตถุทั้ง ๑๐ ประการ จึงเป็นเรื่องที่เรามีโอกาสทำได้ทั้งวัน ทำได้ทุกวัน ไม่ใช่ต้องรอไปเปิดบ้านรับสังฆทานแล้วค่อยทำ ปล่อยให้บุญตัวเองขาดช่วงลง แบบนั้นถ้าเป็นฆราวาส ชีวิตก็โดนกรรมสนอง ต้องลำบากเดือดร้อน เป็นพระภิกษุสามเณร แม่ชี ก็โดนกิเลสรุมตี รุมกระหน่ำ เดี๋ยวก็ไม่สามารถที่จะอยู่ในกรอบของศีลของตนได้ ต้องสึกหาลาเพศไปเพราะความประมาทของตนเอง จึงเป็นเรื่องที่เราทั้งหลายจะต้องตระหนักและปฏิบัติให้เป็นปกติ ไม่เช่นนั้นแล้วถ้าเกิดเรื่องไม่ดีขึ้น ไปบ่นให้ใครฟังก็คงจะมีแต่คนสมน้ำหน้าเรา..! สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้ พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๒๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๖ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย) |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 07:04 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.