กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน เดือนเมษายน ๒๕๖๖ (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=133)
-   -   เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๖ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=9424)

พิชวัฒน์ 21-04-2023 18:45

เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๖
 
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๖



เถรี 21-04-2023 23:55

วันนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ ๒๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๖ กระผม/อาตมภาพบันทึกเสียงธรรมจากวัดท่าขนุนนี้ บนรถยนต์ระหว่างเดินทางกลับวัดท่าขนุน เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าต้องเดินทางไปหาหมอก่อน หลังจากที่รับการรักษาแล้ว ถึงได้เดินทางกลับวัด ตอนแรกคาดว่าพลขับน่าจะไปไม่ไหว แต่ปรากฏว่าพอได้กาแฟเข้าไป ๒ ช็อต รู้สึกว่าหูตาสว่าง พอที่จะขับรถต่อไปได้..!

แต่ว่าเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าหากว่าญาติโยมมีประสบการณ์ กระผม/อาตมภาพขอเตือนว่า
การขับรถนั้นเราไม่มีโอกาสพลาด เพราะว่าถ้าพลาดเมื่อไร ไม่สูญเสียทรัพย์สิน ก็ต้องเจ็บหรือว่าตาย ดังนั้น..ถ้าหากว่าไม่ไหวก็ให้พักเสียก่อน

แต่เนื่องจากว่ากระผม/อาตมภาพนั้นมีงานต่อเนื่องอยู่เป็นปกติ ดังนั้น..ทางน้องเล็ก (นางสาวจิราพร ซื่อตรงต่อการ) ซึ่งทำหน้าที่ขับรถให้นั้น จึงพยายามที่จะกลับให้ทันในวันนี้ เพื่อที่ว่าพรุ่งนี้จะได้ต้อนรับคณะนักศึกษามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี ซึ่งขอมาปฏิบัติธรรมเป็นเวลา ๓ วัน

สำหรับในเรื่องของการปฏิบัติธรรมนั้น ญาติโยมส่วนหนึ่งมีปัญหาอยู่ตรงที่ว่า ทำไปเท่าไรก็ไม่ก้าวหน้า แล้วขณะเดียวกัน ญาติโยมอีกส่วนหนึ่งก็มีปัญหาตรงที่ว่า ไม่สามารถที่จะแปลงทฤษฎีและการปฏิบัติไปสู่การใช้งานจริงได้

เรื่องของการปฏิบัติธรรมแล้วไม่ก้าวหน้านั้น กระผม/อาตมภาพสรุปไว้สั้น ๆ ว่า ถ้าไม่ทำเกินก็ทำขาด ซึ่งเชื่อว่าในยุคปัจจุบันนี้ จะหาบุคคลผู้ทำเกินนั้นยากเป็นที่สุด ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะทำขาด บุคคลที่กระทำขาดนั้น ก็เกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน

เถรี 21-04-2023 23:59

อันดับแรกก็คือ ไม่เข้าใจธรรมชาติของการปฏิบัติธรรม ว่าถ้าท่านหวังความก้าวหน้า ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาอารมณ์การปฏิบัติธรรมนั้นให้ต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งบางสายท่านใช้คำว่า จดจ่อต่อเนื่องตามกันไม่มีที่สิ้นสุด

เพราะว่าเราท่านทั้งหลายส่วนใหญ่แล้วก็อยู่ในพวกใหม่ต่อการปฏิบัติทั้งสิ้น ไม่เคยชินกับการทรงฌานตั้งเวลาอย่างหนึ่ง ไม่เคยชินกับการเข้าออกฌานสมาบัติอีกอย่างหนึ่ง จึงทำให้การปฏิบัติของท่านนั้นอยู่ในลักษณะไปไม่รอด เพราะว่าเมื่อถึงเวลาแล้ว สมาธิไม่สามารถจะดำเนินต่อไปได้ ท่านทั้งหลายก็จำเป็นที่จะต้องหยุด ไม่เช่นนั้นแล้วก็ออกอาการจะบ้าเอา..! เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่ากำลังสมาธิของเรายังน้อย เมื่อลากให้อยู่ในระยะยาว ๆ แล้ว ย่อมไม่สามารถที่จะไปต่อได้

อีกส่วนหนึ่งก็คือ ท่านทั้งหลายปฏิบัติธรรมแล้วก็มักจะทิ้งไปเลย ก็คือตอนนั่งปฏิบัติก็เอาจริงเอาจังมาก แต่ลืมไปว่าการปฏิบัติธรรมนั้นต้องทำในทุกอิริยาบถ โดยเฉพาะกิเลสนั้นกินเราอยู่ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ในเมื่อเราไม่สามารถรักษาอารมณ์ใจให้ต่อเนื่องได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เราก็จะอยู่ในลักษณะของการที่ทำงานขาดทุนอยู่ทุกวัน โดยเฉพาะเมื่อปฏิบัติแล้ว อารมณ์กำลังทรงตัว ลุกขึ้นจากการปฏิบัติท่านก็ทิ้งไปหมดเลยทีเดียว

ในลักษณะแบบนี้ โอกาสที่ท่านจะได้ดีนั้นก็ยากเหลือเกิน เพราะว่าการปฏิบัติธรรมเป็นการทวนกระแสโลก เหมือนกับการว่ายทวนน้ำ เมื่อถึงเวลาว่ายไปจนได้ระยะทางที่ตนพอใจแล้ว ท่านก็ปล่อยให้ตนเองลอยตามน้ำไป ถึงเวลาอยากจะว่ายใหม่ก็ตะเกียกตะกายว่ายขึ้นมาอีก ถ้าอยู่ในลักษณะอย่างนี้ อย่างดีท่านก็ได้ระยะทางแค่เดิม ถ้าวันไหนขี้เกียจ ก็ได้ระยะทางที่น้อยกว่าเดิม แล้วจะเอาความก้าวหน้าในการปฏิบัติมาจากไหน ?

อีกส่วนหนึ่งก็คือ ท่านทั้งหลายที่ปฏิบัติธรรมแล้วไม่สามารถที่จะประยุกต์ใช้กับชีวิตจริงได้ จึงทำให้อยู่ในลักษณะของกรรมฐานแตก หรือว่าตบะแตกอยู่เสมอ เพราะว่าถึงเวลาแล้ว ท่านต้องไปผจญกับ รัก โลภ โกรธ หลง ในชีวิตจริง ซึ่งสิ่งทั้งหลายเหล่านี้นั้นมีมากระทบกระทั่งเราอยู่ตลอดเวลา

ในเมื่อท่านไม่สามารถที่จะรับมือได้ ก็แปลว่าเสียทีที่ท่านปฏิบัติมา เพราะว่าการรักษาอารมณ์ใจนั้นก็เหมือนกับการเดินทาง เมื่อถึงเวลาเดินทางมาแล้วพบอุปสรรค ท่านเองก็ล้มลุกคลุกคลาน บางคนหมดกำลังใจไม่ไปต่อเลยก็มี แล้วจะเกิดความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมได้อย่างไร ?

เถรี 22-04-2023 00:05

การที่ท่านทั้งหลายปฏิบัติธรรมจึงไม่ใช่เลี่ยงหนีหายไปจากโลกเลย หากแต่ว่าทำอย่างไรที่จะรักษาอารมณ์ใจของตนให้อยู่กับโลก ในลักษณะของน้ำกลิ้งบนใบบัว หรือว่าใบบอน ก็คืออยู่กับโลก แต่ไม่ติดอยู่ในโลกทั้งหลายเหล่านั้น ก็แปลว่าเราต้องมี ศีล สมาธิ และปัญญา เป็นเครื่องคุ้มตัวเอง

อันดับแรกเลยก็คือ ไปเฉพาะกรอบของศีลเท่านั้น เกินไปกว่านั้นเราไม่ไปด้วย ถ้าหากว่ายังมีคนมาเซ้าซี้อยู่ เราก็อย่าไปใส่ใจ เพราะเรารู้ว่าสิ่งที่เราทำนั้นดีหรือว่าไม่ดีอย่างไร เราก็ใช้วิธีหลีกหนีไปจากบุคคลเหล่านั้นไปเลย

อีกส่วนหนึ่งก็คือ เมื่อท่านตั้งหน้าตั้งตาทำความดี ก็ต้องเผชิญกับการ "บูลลี่" จากคนรอบข้าง ซึ่งคำพูดทั้งหลายเหล่านั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นการเสียดสี กระทบกระแทก แดกดัน ถ้าท่านทั้งหลายรับเข้ามาใส่ใจ ก็จะทำให้จิตตก สมาธิตก กรรมฐานแตก ไม่สามารถที่จะไปต่อได้ ท่านทั้งหลายต้องทำตนอยู่ในลักษณะเหมือนกับบ้านว่าง คำว่าบ้านว่างในที่นี้ก็คือ เหมือนกับเรานั่งอยู่กลางแจ้ง ใครจะขว้างอะไรมา ก็เลยหัวไปหมด แต่ถ้าท่านทำตัวเป็นบ้านซึ่งยังมีข้างฝา มีหลังคาอยู่ เขาขว้างอะไรมาก็จะเกิดการกระทบอยู่เสมอ

ดังนั้น..ท่านทั้งหลายจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้พรหมวิหาร ๔ อย่างหนัก โดยเฉพาะในส่วนของเมตตา กรุณา และอุเบกขา
ความเมตตากรุณาก็คือ รู้สึกรักและสงสารเขาทั้งหลายเหล่านั้น ว่าเขายังไม่รู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว ยังพยายามละเว้นสิ่งดีกระทำสิ่งชั่ว จึงไม่ใช่บุคคลที่ควรค่าแก่การโกรธ หากแต่เป็นบุคคลที่น่าสงสารมากกว่า หรือถ้าท่านทั้งหลายทำได้มากกว่านั้นก็วางอุเบกขา โดยเฉพาะอุเบกเขาในสังขารุเปกขาญาณ ก็คือหยุดการคิดเสีย เขาจะว่าอะไรก็สักแต่ว่าได้ยิน ใจไม่ไปปรุงไปแต่งให้เกิดโทษขึ้นมาเผาตัวเราเอง

ถ้าสามารถทำได้ในลักษณะแบบนั้น ท่านเองก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปแบกสิ่งต่าง ๆ ที่เขามา "บูลลี่" เราอยู่ และสิ่งที่เขาทำนั้นมักจะกลายเป็นแรงกดดันกลับไปหาเขาเอง อยู่ในลักษณะว่าในเมื่อเขาส่งของมาให้แล้วเราไม่รับ เขาก็ต้องรับภาระในการแบกหามของทั้งหลายเหล่านั้นต่อไป

เถรี 22-04-2023 00:08

เรื่องทั้งหลายเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ท่านนอกจากต้องมีศีลเป็นกรอบแล้ว ยังต้องมีสมาธิเป็นเครื่องหยุดยั้งหักห้ามใจ ป้องกันไม่ให้ใจของเราเกิดแรงกระทบ แล้วก็ต้องมีปัญญาประกอบด้วย พิจารณาว่าสิ่งทั้งหลายที่เขาว่ามานั้นเป็นจริงหรือไม่ ? ถ้าหากว่าไม่จริง แทนที่จะโกรธ เราก็ควรที่จะสงสารเขา ว่าเรื่องจริงเป็นอย่างไรเขายังไม่รู้ บุคคลที่โง่เขลาขนาดนี้ไม่ควรค่าแก่การโกรธเลย เขาน่าสงสารอีกต่างหาก เพราะว่าสร้างกรรมให้แก่ตัว โดยที่ไม่รู้เลยว่าตัวเองนั้นจะต้องรับทุกข์รับโทษอย่างไร ควรที่จะให้อภัยเขาเถิด

แต่ถ้าสิ่งที่เขาทั้งหลายเหล่านั้นกล่าวมาเป็นเรื่องจริงแล้ว เราก็ควรที่จะขอบอกขอบใจเขาทั้งหลายเหล่านั้น ว่าเขายอมตนเป็นกระจก ส่องให้เห็นภาพพจน์ที่น่าเกลียดน่าชังของเรา เราควรที่จะขอบใจเขาที่เป็นผู้เสียสละ ไม่หวั่นเกรงว่าจะโดนเราต่อว่า ด่าว่า พยายามที่จะฉายภาพพจน์ที่แท้จริงให้เราเห็น เราจะได้แก้ไขให้ดีขึ้น

ถ้าหากว่าเราใช้พรหมวิหาร ๔ ในลักษณะอย่างนี้ พยายามฝึกฝนขัดเกลาตนเองไป ท่านทั้งหลายก็จะค่อย ๆ ปล่อยวางได้มากขึ้นไปตามลำดับ ยิ่ง ศีล สมาธิ ปัญญาของท่านมั่นคงเท่าไร ท่านก็จะปล่อยวางได้มากเท่านั้น ท้ายที่สุดก็ไม่มีอะไรเหลือให้ท่านแบกอีก

ยิ่งท่านปล่อยวาง ความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมของท่านก็ยิ่งมากขึ้น ความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมทั้งหลายเหล่านี้ ย่อมเป็นเครื่องชูใจให้เกิดความปีติยินดี ทำให้ท่านทั้งหลายไม่เบื่อไม่หน่ายในการปฏิบัติธรรม สามารถที่จะแสวงหาความก้าวหน้าให้แก่ตนเองได้มากยิ่งขึ้นไปทุกที

สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
วันศุกร์ที่ ๒๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 05:03


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว