![]() |
การภาวนาภาพพระ-คาถามงกุฏพระพุทธเจ้า-ผลอภิญญาต่อร่างกาย-การใช้งานพระคาถา-ถ้าไม่ศรัทธาต่อวัตถุมงคล-
กราบนมัสการพระอาจารย์ที่เคารพอย่างสูง เดือนนี้ขอกราบเรียนสอบถามดังนี้
๑. การภาวนาเห็นภาพพระ ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธหรือพระสงฆ์ ควรจะเป็นองค์เดียวตลอดหรือไม่ หากเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เช่น วันนี้เป็นพระแก้วมรกต วันต่อมาเป็นพระพุทธชินราช แบบไม่ซ้ำกันเลย ตามที่จิตชอบอยากนึกเห็น แต่เป็นภาพพระเสมอ จะเป็นผลอย่างไร แบบใหนจะเป็นผลดีต่อผู้ภาวนามากกว่ากัน ๒. การภาวนาเห็นภาพพระ ถ้าลืมตาแล้วภาพพระจะชัดเจนมากกว่าหลับตา หลับตาแล้วมักเผลอจะใช้สายตาเพ่งมองประจำ ตรงนี้ขอคำแนะนำว่าควรจะฝึกปฏิบัติอย่างไร ๓. คาถามงกุฎพระพุทธเจ้า พระอาจารย์เคยบอกว่าหลวงปู่ฤๅษีสวดแล้ว สามารถรู้ข้อมูลหนังสือทั้งเล่ม โดยไม่ต้องเปิดหนังสืออ่านเลย แต่ถ้าสวดแล้ว รู้เพียงหนึ่งหรือสองหน้ากระดาษเท่านั้น ตรงนี้เกี่ยวกับตบะเฉพาะตัวหรือไม่ ๔. อภิญญาต่าง ๆ ถ้าเป็นผู้ยังมีกิเลสอยู่ จะส่งผลกระทบต่ออวัยวะ ร่างกายและสภาพจิตใจหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่นทำให้เกิดมึนศีรษะ อ่อนเพลีย มีภาวะมึนงง เครียด คิดมาก เป็นต้น มีวิธีใดที่จะแก้ไข ป้องกัน ๕. การสวดใช้คาถาบทเดียวกัน แต่จะใช้งานแตกต่างกัน ต้องกำหนดกำลังใจสวดต่างกันตามการใช้งานไหม ๖. พระเครื่อง วัตถุมงคลต่าง ๆ ถ้าผู้รับไม่มีศรัทธาหรือไม่เชื่อถือ ไม่ว่าจะต่อพระเครื่อง วัตถุมงคลนั้น ๆ หรือต่อพระเกจิที่ร่วมพุทธาภิเษก จะเกิดผลอานุภาพหรือไม่ ๗. การศรัทธาผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ นอกจากต้องพัวพันเสียเวลาถูกผูกมัดไปเกิดร่วมกันเรื่อย ๆ ยังอาจต้องลงอบายภูมิตามกันอีกได้หรือไม่ สรุปแล้วความเป็นมิจฉาทิฏฐิ คือบาปกรรมที่หนักหนากว่าอนันตริยกรรมหรือไม่ ๘. สายพุทธภูมิ ตามปกติมักจะมีคู่อริหรือคู่ปรับประจำเสมอหรือไม่ กราบขอขมาและกราบขอบพระคุณพระอาจารย์ที่เคารพอย่างสูงค่ะ |
ถาม : การภาวนาเห็นภาพพระ ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธหรือพระสงฆ์ ควรจะเป็นองค์เดียวตลอดหรือไม่ หากเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เช่น วันนี้เป็นพระแก้วมรกต วันต่อมาเป็นพระพุทธชินราช แบบไม่ซ้ำกันเลย ตามที่จิตชอบอยากนึกเห็น แต่เป็นภาพพระเสมอ จะเป็นผลอย่างไร แบบไหนจะเป็นผลดีต่อผู้ภาวนามากกว่ากันคะ ?
ตอบ : ถ้าหากว่าเป็นพุทธานุสติ แล้วเห็นพระพุทธรูปสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปก็ใช้ได้ ถ้าเป็นสังฆานุสติ เห็นพระสงฆ์สับเปลี่ยนหมุนเวียนไปก็ใช้ได้ แต่ถ้าภาวนาพุทโธแล้วกลายเป็นภาพพระสงฆ์ ถือว่ามาผิดกองกรรมฐาน ใช้ไม่ได้ ยกเว้นว่ารักเดียวใจเดียว ก็กำหนดเอาแน่ ๆ ไปเลยองค์หนึ่ง ซึ่งจะจับได้ง่ายแล้วก็สะดวกกว่าด้วย เพราะว่าง่ายต่อการจดจำ ถาม : การภาวนาเห็นภาพพระ ถ้าลืมตาแล้วภาพพระจะชัดเจนมากกว่าหลับตา หลับตาแล้วมักเผลอจะใช้สายตาเพ่งมองประจำ ตรงนี้ขอคำแนะนำว่าควรจะฝึกปฏิบัติอย่างไรคะ ? ตอบ : อาตมาก็ลืมตามาตลอด สำคัญอยู่ตรงที่ว่า เราทำแบบไหนที่สามารถกำหนดได้ชัดเจน แล้วสภาพจิตมั่นคงกว่ากัน ลืมตาหรือหลับตาไม่สำคัญ ถ้าหากว่ากำหนดได้ ก็ใช้ได้เหมือนกันหมด |
ถาม : คาถามงกุฎพระพุทธเจ้า พระอาจารย์เคยบอกว่าหลวงปู่ฤๅษีสวดแล้ว สามารถรู้ข้อมูลหนังสือทั้งเล่ม โดยไม่ต้องเปิดหนังสืออ่านเลย แต่ถ้าสวดแล้ว รู้เพียงหนึ่งหรือสองหน้ากระดาษเท่านั้น ตรงนี้เกี่ยวกับตบะเฉพาะตัวหรือไม่คะ ?
ตอบ : น่าจะอยู่ตรงคำว่าสวดนั่นแหละ เขาต้องภาวนาให้อารมณ์ใจเป็นสมาธิ ถ้าสามารถขึ้นถึงฌาน ๔ หรือสมาบัติ ๘ ได้ยิ่งดี คราวนี้กำลังของเราสูงเท่าไรก็รู้ได้มากเท่านั้น ท่านที่กำลังสูงกว่าสามารถรู้ได้ทั้งเล่ม เรารู้ได้ ๑-๒ หน้าก็เก่งมากแล้ว |
ถาม : อภิญญาต่าง ๆ ถ้าเป็นผู้ยังมีกิเลสอยู่ จะส่งผลกระทบต่ออวัยวะ ร่างกายและสภาพจิตใจหรือไม่ เช่น ทำให้มึนศีรษะ อ่อนเพลีย มึนงง เครียด คิดมาก เป็นต้น ?
ตอบ : ถ้าหากว่าทำได้จริง ๆ จะไม่เป็น ถาม : มีวิธีใดที่จะแก้ไข ป้องกันไหมคะ ? ตอบ : แสดงว่าทำได้ไม่จริง ไปตั้งหน้าตั้งตาทำใหม่ |
ถาม : การสวดใช้คาถาบทเดียวกัน แต่จะใช้งานแตกต่างกัน ต้องกำหนดกำลังใจสวดต่างกันตามการใช้งานไหมคะ ?
ตอบ : ตั้งใจอย่างไรจะเป็นอย่างนั้น เพราะว่าคาถาเป็นเครื่องโยงใจให้เป็นสมาธิ สมาธิเกิดแล้ว ผลของฌานฤทธิ์ทำให้เป็นดังที่ต้องการ หรือที่เรียกว่า มโนมยา คือสำเร็จด้วยใจ เพราะฉะนั้น..ต้องการผลแบบไหน ต้องกำหนดใจก่อนว่าต้องการอย่างไร |
ถาม : พระเครื่อง วัตถุมงคลต่าง ๆ ถ้าผู้รับไม่มีศรัทธาหรือไม่เชื่อถือ ไม่ว่าจะต่อพระเครื่อง วัตถุมงคลนั้น ๆ หรือต่อพระเกจิฯ ที่ร่วมพุทธาภิเษก จะเกิดผลอานุภาพหรือไม่คะ ?
ตอบ : ศรัทธาเป็นอันดับแรกของการใช้วัตถุมงคลทุกประเภท ถ้าไม่มีศรัทธา แปลว่ากำลังใจไม่เปิดรับ เครื่องส่งดีแค่ไหนก็ช่วยอะไรไม่ได้ |
ถาม : ความเป็นมิจฉาทิฏฐิ คือบาปกรรมที่หนักหนากว่าอนันตริยกรรมหรือไม่คะ ?
ตอบ : ก็อยู่ที่ว่าคุณจะเปลี่ยนได้ไหม ? ถ้าเปลี่ยนไม่ได้ก็อาจจะต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกนับชาติไม่ถ้วน เพราะว่ามิจฉาทิฏฐิก็คือเห็นผิดไปจากทำนองคลองธรรม โอกาสที่จะลงอบายภูมิมีสูงมาก |
ถาม : สายพุทธภูมิ ตามปกติมักจะมีคู่อริหรือคู่ปรับประจำเสมอหรือไม่คะ ?
ตอบ : ไม่จำเป็น ถ้าหากว่าเราไม่ทะเลาะกับใครเสียอย่างก็จบ แต่ว่าส่วนใหญ่แล้วก็อย่างที่ว่า "มารบ่มี บารมีบ่เกิด" |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 01:53 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.