![]() |
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
ให้ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดสติคือความรู้สึกของเราไว้ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า...ให้ความรู้สึกทั้งหมดของเรา ไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก...ให้ความรู้สึกทั้งหมดของเรา ไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ ที่เรามีความถนัด มีความชำนาญมาแต่เดิม
วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๓ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ เมื่อวานได้กล่าวถึงการปฏิบัติในอานาปานสติควบกับพุทธานุสติ วันนี้เราก็ยังคงใช้อานาปานสติเป็นหลัก เพราะว่าอานาปานสติหรือการระลึกถึงลมหายใจเข้าออกนั้น เป็นพื้นฐานใหญ่ของกองกรรมฐานทั้งปวง กรรมฐานทั้งหมดถ้าไม่มีอานาปานสติประกอบ ก็ไม่สามารถที่จะปฏิบัติให้เข้าถึงได้อย่างแท้จริง การที่เราใช้อานาปานสตินั้น สามารถทำให้สมาธิของเราเข้าถึงระดับอัปปนาสมาธิ คือทรงเป็นฌานตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไปได้ คราวนี้ในเมื่อเราใช้อานาปานสติควบกับพุทธานุสติแล้ว เมื่ออารมณ์ใจทรงตัวสูงสุดก็คือ สามารถเห็นภาพพระได้ชัดเจนแจ่มใส สว่างไสวเหมือนพระอาทิตย์ยามเที่ยง อธิษฐานให้เล็กก็ได้ ให้ใหญ่ก็ได้ ให้หายไปก็ได้ ให้กลับมาก็ได้ จึงถือว่าเราเข้าถึงอานาปานสติในพุทธานุสติเต็มระดับ เราจะใช้เป็นทิพจักขุญาณก็อธิษฐานเอาตามอัธยาศัย เมื่อซักซ้อมจนมีความคล่องตัวแล้ว ก็เปลี่ยนกองกรรมฐาน มาจับธัมมานุสติแทน |
การจับในธัมมานุสตินั้น เราจำเป็นที่จะต้องกำหนดภาพในลักษณะของกสิณเข้ามาควบด้วยเช่นกัน ก็คือหายใจเข้าหายใจออกภาวนาว่า "ธัมโม...ธัมโม" ขณะเดียวกันก็นึกถึงภาพพระไตรปิฎกก็ได้ พระไตรปิฎกในที่นี้ ถ้าจะให้ดีให้นึกถึงแบบโบราณ คือที่เป็นลักษณะของแผ่นพับ ที่เรียกกว่าสมุดไทย หรือพับสา ถ้านึกถึงลักษณะนั้นเรารู้สึกว่าแห้งแล้งไร้รสชาติ ก็นึกว่าเรากำลังพลิกเปิดหน้าสมุดไทยทีละหน้า ๆ ภาวนาว่า "ธัมโม" ครั้งหนึ่งก็เปิดไปหน้าหนึ่ง
ถ้าลักษณะอย่างนี้จิตจะมีงานทำ ก็ไม่รู้สึกว่าเบื่อหน่าย เราเองอาจจะงอนิ้วนับไปด้วย ว่า "ธัมโม" ครั้งที่ ๑ "ธัมโม" ครั้งที่ ๒ เปิดสมุดไทยพระไตรปิฎกหน้าที่ ๑ เปิดสมุดไทยพระไตรปิฎกหน้าที่ ๒ เป็นต้น อีกแนวทางหนึ่งโบราณาจารย์สอนเอาไว้ คือ ให้กำหนดภาพในพุทธานุสติ คือภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมาก่อน หลังจากนั้นก็กำหนดให้มีดอกมะลิทองคำ หลั่งไหลจากพระโอษฐ์ของพระองค์ท่าน ลงมาเป็นสายทีละดอก ๆ ว่านั่นคือธรรมะที่พระองค์ท่านเทศนาสั่งสอนต่อพวกเรา ดอกมะลิทองคำนั้นให้ไหลตกลงมาบนพานทองคำ ที่วางอยู่เบื้องหน้าขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราไม่ชอบดอกมะลิ จะเปลี่ยนเป็นดอกบัว ดอกพิกุลอะไรก็ได้ ถึงเวลาภาวนา "ธัมโม" ก็ลอยลงมาหนึ่งดอก ตกลงสู่พานทองคำเบื้องหน้า "ธัมโม" ดอกที่ ๒ ลอยตามลงมา ตามลงมา "ธัมโม" ดอกที่ ๓ ลอยตามลงมา |
แรก ๆ อย่าไปเอาความชัดเจนเช่นเดียวกัน แต่ถ้าหากว่าท่านผ่านพุทธานุสติมาแล้ว ไม่กี่นาทีภาพก็จะปรากฏชัดเจนอยู่เบื้องหน้า และเป็นสีแก้วประกายพรึกไป แต่ถ้าไม่เคยผ่านในพุทธานุสติมาก่อน ภาพที่เป็นดอกไม้ทองคำของเราก็จะมีสีจางลง จากสีทองแพรวพราวที่เรานึกได้ ก็จะจางลงเป็นสีเหลือง เป็นสีเหลืองอ่อน เป็นสีขาว ค่อย ๆ ใสเป็นแก้วขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามระดับสมาธิที่ลึกเข้าไป จนกระทั่งเป็นแก้วแพรวพราวหมดทั้งสายที่ไหลเลื่อนลงมาอยู่ในพาน ก็เท่ากับว่าเราทรงอารมณ์ในธัมมานุสติเป็นอัปปนาสมาธิแล้ว
ให้ทดลองขยายภาพดอกมะลิและพานแก้วนั้น ให้ใหญ่ขึ้นหรือเล็กลงดู ถ้าสามารถขยายให้ใหญ่เล็กได้ตามที่เราอธิษฐาน กำหนดให้หายไปก็ได้ กำหนดให้มาเมื่อไรก็ได้ หรือกำหนดเปลี่ยนสีดอกมะลินั้นดูก็ได้ ถ้าทำได้คล่องตัวก็แปลว่าเราทรงฌานในธัมมานุสติเต็มระดับอย่างแท้จริง ซึ่งตรงจุดนี้เราจะได้พุทธานุสติไปด้วย ก็คือภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่กำลังทรงแสดงธรรมเป็นดอกมะลิแก้วหลั่งไหลลงมา ถ้าเราควบต่อไปว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย นอกจากอยู่บนพระนิพพาน เราก็จะได้อุปสมานุสสติ คือการระลึกถึงความสงบระงับจากกิเลสบนพระนิพพานไปด้วย เราตั้งใจไว้ว่าเราเห็นพระองค์ท่าน เท่ากับเราอยู่ใกล้พระองค์ท่าน เราอยู่ใกล้พระองค์ท่าน ก็คือเราอยู่บนพระนิพพาน แล้วก็รักษากำลังใจของเราในพุทธานุสติควบธัมมานุสติ ควบอุปสมานุสติดังนี้เอาไว้ |
ถ้าสามารถรักษาได้ต่อเนื่องยาวนานเท่าไร กำลังใจของเราก็จะสะอาดผ่องใสจากกิเลสได้มากเท่านั้น ถ้าเห็นว่าดอกมะลิที่ลอยลงมา ตอนแรกก็อยู่สูง เลื่อยลอยลงมาอยู่ระดับกลาง ท้ายสุดตกลงไปสู่พาน นี่เป็นความไม่เที่ยงอย่างหนึ่ง แล้วขณะเดียวกัน การที่เราต้องคอยกำหนดจิต กำหนดดู กำหนดรู้ภาพดอกมะลินั้น พร้อมกับกำหนดลมหายใจพร้อมกับคำภาวนา เป็นความยากเป็นความลำบาก นี่คือความทุกข์
และท้ายที่สุดดอกมะลิก็มีการเปลี่ยนแปลง จากสีทองเป็นสีเหลือง จากสีเหลืองเป็นสีขาว จากสีขาวเปลี่ยนเป็นแก้ว หาความเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้ ยึดถือมั่นหมายเป็นตัวตนที่แท้จริงไม่ได้ สภาพของพระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงชัดเช่นนี้ สภาพตัวเราก็ไม่เที่ยงอย่างชัดเจนเช่นนี้ ขึ้นชื่อว่าการเกิดมามีสภาพร่างกายที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีอะไรยึดถือเป็นตัวตนเช่นนี้ จะไม่มีสำหรับเราอีก เราต้องการที่เดียวคือพระนิพพาน แล้วรักษาอารมณ์ใจสุดท้ายเกาะพระนิพพานไว้ ถ้าสามารถทำได้ทั้งเช้าทั้งเย็นสักวันละ ๕ นาที ๑๐ นาที ถ้ากำลังใจมั่นคงจริง ๆ ตายเมื่อไรท่านจะเข้าสู่พระนิพพานได้ดังที่ปรารถนา ลำดับต่อไปขอให้ทุกท่านภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านเติมบุญ วันเสาร์ที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย คะน้า) |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 21:14 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.