![]() |
ธรรมเนียมชาวพุทธที่ถูกต้องเกี่ยวกับพิธีงานศพ
ขอกราบเรียนถามพระอาจารย์ ถึงธรรมเนียมชาวพุทธที่ถูกต้องเกี่ยวกับพิธีงานศพ ดังนี้ครับ
๑. มีข้อยกเว้นใดบ้างที่ชาวพุทธจะไม่ทำการเผาศพผู้ที่เสียชีวิต แต่จะใช้การฝังศพแทนครับ ๒. การฝังศพ แทนการเผา จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่เสียชีวิต อย่างไรบ้างครับ ๓. ในกรณีเผาศพ หลังจากที่เผาแล้ว การที่ญาติเก็บกระดูกบางส่วนของผู้เสียชีวิต ไว้ในที่บรรจุที่บ้าน หรือที่วัด เพื่อบูชา จะมีโอกาสที่จะทำให้ดวงวิญญาณของผู้ที่เสียชีวิตยังไปสู่ภพภูมิต่อไปทันทีเลยไม่ได้ ยังต้องวนเวียนอยู่ใกล้ ๆ กระดูกของตน คอยอยู่รับเครื่องบูชา และปกป้องคุ้มครองลูกหลาน เป็นความจริงหรือไม่ครับ ๔. การลอยอังคารทั้งหมดของผู้ที่เสียชีวิต จะทำให้ผู้ที่เสียชีวิต หมดห่วงในร่างสังขารตนเอง และมีโอกาสไปสู่ภพภูมิต่อไปได้ง่ายขึ้น เป็นความจริงหรือไม่ครับ ๕. การสวดพระอภิธรรมในงานศพของวัดท่าขนุน ทางวัดจะเลือกใช้บทสวดใดบ้าง เพื่อสวดในงานสวดศพครับ ๖. การทำบุญ ๑๐๐ วัน มีจุดประสงค์เพื่ออะไร ตัวเลข ๑๐๐ วัน จะเป็นวันที่เกี่ยวกับผู้ที่เสียชีวิตอย่างไร และจำเป็นต้องทำในวันที่ ๑๐๐ ตรง ๆ ไหมครับ ถ้าวันที่ ๑๐๐ ไม่ตรงกับเสาร์ อาทิตย์ ญาติ ๆ จะทำบุญ ๑๐๐ วันในวันเสาร์ อาทิตย์ถัดมา จะต่างจากการทำบุญในวันที่ ๑๐๐ ตรง ๆ อย่างไรบ้างครับ ขอกราบขอบพระคุณที่กรุณาให้ปัญญาครับ |
ถาม : มีข้อยกเว้นใดบ้างที่ชาวพุทธจะไม่ทำการเผาศพผู้ที่เสียชีวิต แต่จะใช้การฝังศพแทนครับ ?
ตอบ : ไม่มี...ยกเว้นว่าชาวพุทธนั้นเป็นชาวพุทธมหายาน คือ คนจีนเขาจะนิยมฝังมากกว่า เพราะเขาเชื่อว่าการฝังบรรพบุรุษไว้ในฮวงจุ้ยที่ดี ลูกหลานจะเจริญรุ่งเรือง ถาม : การฝังศพแทนการเผา จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่เสียชีวิตอย่างไรบ้างครับ ? ตอบ : ผู้ที่เสียชีวิตไม่รู้สึกรู้สาอะไรหรอก เพราะว่าตายไปแล้ว แต่ถ้าหากเป็นประโยชน์ ตำราจีนเขาบอกว่า ฮวงจุ้ยที่ดีย่อมส่งผลให้ลูกหลานเจริญรุ่งเรือง |
ถาม : ในกรณีเผาศพ หลังจากที่เผาแล้ว การที่ญาติเก็บกระดูกบางส่วนของผู้เสียชีวิต ไว้ในที่บรรจุที่บ้าน หรือที่วัดเพื่อบูชา จะมีโอกาสทำให้ดวงวิญญาณของผู้ที่เสียชีวิตยังไปสู่ภพภูมิต่อไปทันทีเลยไม่ได้ ยังต้องวนเวียนอยู่ใกล้ ๆ กระดูกของตน คอยอยู่รับเครื่องบูชา และปกป้องคุ้มครองลูกหลาน เป็นความจริงหรือไม่ครับ ?
ตอบ : เป็นความจริงแค่ที่ว่า ผีบางตัวไปไม่ได้เพราะยึดมั่นถือมั่น แต่เรื่องปกป้องคุ้มครองลูกหลานก็แล้วแต่เขาว่าจะมีอารมณ์ไหม ถาม : การลอยอังคารทั้งหมดของผู้ที่เสียชีวิต จะทำให้ผู้ที่เสียชีวิต หมดห่วงในร่างสังขารตนเอง และมีโอกาสไปสู่ภพภูมิต่อไปได้ง่ายขึ้น เป็นความจริงหรือไม่ครับ ? ตอบ : เป็นเฉพาะรายที่ยึดติดอยู่ ถ้ารายที่ไม่ยึดติดก็ไม่มีประโยชน์อะไรไปมากกว่าตัวเราที่หมดภาระดูแล ถ้าเป็นในความคิดของอาตมาก็คือ เผาแล้วก็ลอยไปทั้งกระดูก ลอยไปทั้งอังคารนั่นแหละ จะได้ไม่ต้องมีภาระต่อไป ถึงเวลาครบรอบปีเราก็เอารูปของท่านมาทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ สะดวกกว่าการเก็บกระดูกเยอะเลย |
ถาม : การสวดพระอภิธรรมในงานศพของวัดท่าขนุน ทางวัดจะเลือกใช้บทสวดใดบ้าง เพื่อสวดในงานสวดศพครับ ?
ตอบ : สวดพระอภิธรรมเขาก็ระบุชัด ๆ ว่าพระอภิธรรม แล้วจะไปเลือกอะไรได้เล่า ? นี่แสดงว่าไม่เข้าใจใช่ไหมว่าการสวดพระอภิธรรมคืออะไร ? พระอภิธรรมมีอยู่ ๗ คัมภีร์ด้วยกัน ตัวย่อ คือ สัง วิ ธา ปุ กะ ยะ ปะ ก็คือ พระสังคิณี พระวิภังค์ พระธาตุ พระปุคคะละปัญญัติ พระกะถาวัตถุ พระยะมะกะ พระปัฏฐาน ส่วนใหญ่เป็นการแสดงหัวข้อธรรมหลัก ๆ ย่อ ๆ ที่ว่าเราเป็นมนุษย์ฟังแล้วไม่ค่อยรู้เรื่อง เหมาะสำหรับคนที่เป็นอุคฆติตัญญู หรือบุคคลประเภทเทวดา นางฟ้า หรือพรหมเท่านั้น พอพระท่านขึ้น กุสลาธัมมา เทวดา นางฟ้า พรหมก็จะเข้าใจว่าธรรมที่เป็นกุศลมีอะไร ก็มีธรรมที่ประกอบไปด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ธรรมที่เป็นอกุศลประกอบไปด้วยอะไร ก็คือ สิ่งที่ทำไปด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เป็นต้น เราฟังแค่นี้เรายังจะตาย แล้วต้องไปขยายว่า กายทุจริตคืออะไร ? คือ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม ดื่มสุราเมรัย วจีทุจริตคืออะไร ? คือ การโกหก พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ พูดคำหยาบ มโนทุจริตคืออะไร ? คือ โลภอยากได้ของเขา มีความเห็นผิดไปจากสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน เป็นต้น เราต้องขยายแล้วขยายอีก แต่เทวดา นางฟ้า พรหม ท่านฟังหัวข้อก็เข้าใจทะลุปรุโปร่งหมด ดังนั้น...ที่สวดกันอยู่ทุกวันนี้ ประโยชน์มักจะเกิดแก่คนเป็นน้อยมาก นอกจากจะได้สมาธิหรือได้ความเคารพในพระรัตนตรัย |
ถาม : การทำบุญ ๑๐๐ วัน มีจุดประสงค์เพื่ออะไร ? และจำเป็นต้องทำในวันที่ ๑๐๐ ตรง ๆ ไหมครับ ? ถ้าจะทำบุญ ๑๐๐ วันในวันเสาร์-อาทิตย์ถัดมา จะต่างจากการทำบุญในวันที่ ๑๐๐ ตรง ๆ อย่างไรบ้างครับ ?
ตอบ : ต่างกันตรงที่ไม่ได้ทำวันที่ ๑๐๐ ตรง ๆ นั่นแหละ...! การทำบุญ ๑๐๐ วัน เป็นธรรมเนียมประเพณีที่เกิดจากการรู้จริงของคนโบราณ บุคคลที่ตายไป ถ้าโชคดีมีโอกาสได้ไปตำหนักพระยายมราช ก่อนที่จะตัดสินความจะมีเวลาอยู่ประมาณ ๓ เดือน ถึง ๓ เดือนเศษ ๆ ของโลกมนุษย์ เนื่องด้วยระยะเวลาที่ต่างกันมาก ๑ วันของที่นั่นเท่ากับ ๕๐ ปีของโลกมนุษย์ ดังนั้นโบราณจึงทำบุญในระหว่าง ๗ วัน หลังจากนั้นก็ทำ ๕๐ วัน ทำ ๑๐๐ วัน เป็นการตอกย้ำประกันความเสี่ยงว่า ผู้ตายจะต้องได้รับส่วนกุศลนั้นแน่ ๆ ถ้าหากผู้ตายมีโอกาสโมทนาในบุญกุศลนั้น ก็จะไปเสวยส่วนของผลบุญเลย โดยที่ไม่ต้องผ่านการตัดสินของพระยายมราช ดังนั้น..ถ้าไม่สะดวกในวันที่ ๑๐๐ ตรง ๆ ควรจะทำวันก่อนในวันที่ ๙๐ กว่า ไม่ใช่ไปรอทำหลังวันที่ ๑๐๐ ถ้าเกิดท่านตัดสินตอนนั้นไปแล้วก็ซวยไป..! |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 14:51 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.