![]() |
การอธิษฐานพรรษา
๑. ถ้าพระอธิษฐานเข้าพรรษา ตอนเช้าวันเข้าพรรษา แล้วปวารณาออกพรรษาตอนบ่ายวันออกพรรษา อย่างนี้จะได้นับพรรษาหรือไม่ครับ
๒. ถ้าพระบวชมาแล้ว ๓ ปีไม่เคยเข้าพรรษาเลยและมีพระบวชมา ๒ ปีเข้าพรรษาทุกปีเวลาเรียงลำดับอาวุโส ใครเป็นอาวุโสใครเป็นภันเตครับ เวลานั่งเรียงลำดับใครนั่งหน้านั่งหลังครับ ๓. พระไตรปิฎก ฉบับไหนที่ผิดเพี้ยนน้อยที่สุดครับ ๔. ผลไม้ในวัดร่วงหล่นแล้วยังไม่เน่ามีมูลค่าที่จะขายได้ พระรูปใดรูปหนึ่ง จะนำไปฉันถือว่าขโมยของสงฆ์ปาราชิกหรือไม่ครับ ๕. ของสงฆ์มีมูลค่าตั้งแต่ ๑ บาทขึ้นไปภิกษุอยากได้จึงหยิบเอามา พร้อมกับชำระหนี้สงฆ์ตามมูลค่าทันที แต่ไม่ได้เอ่ยปากบอกภิกษุรูปใด แบบนี้จะโดนอาบัติข้อใดหรือไม่ครับ |
ถาม : ถ้าพระอธิษฐานเข้าพรรษา ตอนเช้าวันเข้าพรรษา แล้วปวารณาตอนบ่ายวันออกพรรษา อย่างนี้จะได้นับพรรษาหรือไม่ครับ ?
ตอบ : ถ้าว่ากันตรงตามพระวินัยแล้วไม่ได้พรรษา เพราะไม่ครบ ๓ เดือนถ้วน หลวงพ่อวัดท่าซุงแนะนำให้อธิษฐานพรรษาในวันอาสาฬหบูชา และไปปวารณาในวันตักบาตรออกเทโวฯ ซึ่งหลังออกพรรษาไปแล้ว ๑ วัน ลักษณะอย่างนั้นจะครบถ้วนสมบูรณ์ แต่สมัยนี้เราจะเห็นว่านอกจากวัดท่าขนุนแล้ว ที่อื่นไม่ค่อยจะเคร่งครัดเรื่องนี้กันนัก ถ้าช่วงเดือนแรกไม่สามารถอธิษฐานพรรษาได้ อาจจะเจ็บไข้ได้ป่วย อาจจะติดด้วยเดินทางไกลไม่ถึงสถานที่ซึ่งต้องการจะจำพรรษา ท่านให้อธิษฐานจำพรรษาหลังได้ แทนที่จะอธิษฐานจำพรรษาในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ก็ไปอธิษฐานในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ ได้ แต่จะไปออกพรรษาในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ซึ่งหมดฤดูกฐินแล้ว แปลว่าได้อานิสงส์พรรษา แต่จะไม่ได้รับกฐิน |
ถาม : ถ้าพระบวชมาแล้ว ๓ ปีไม่เคยเข้าพรรษาเลยและมีพระบวชมา ๒ ปีเข้าพรรษาทุกปี เวลาเรียงลำดับอาวุโส ใครเป็นอาวุโส ใครเป็นภันเตครับ เวลานั่งเรียงลำดับใครนั่งหน้านั่งหลังครับ ?
ตอบ : ส่วนใหญ่ถ้าไม่ได้จำพรรษาเลย ก็ถือว่าไม่ได้รับพรรษานั้น ก็แปลว่าเป็นพระใหม่อยู่ตลอดเวลา ต่อให้ผู้อื่นบวชทีหลัง จำเพียงพรรษาเดียว ก็ถือว่าอาวุโสมากกว่า ถึงเวลาผู้ที่จำพรรษาก็นั่งหน้าไป |
ถาม : พระไตรปิฎกฉบับไหนที่ผิดเพี้ยนน้อยที่สุดครับ ?
ตอบ : ฉบับที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ส่งไปฝรั่งเศส ถาม : จะหาอ่านได้ที่ไหนคะ ? ตอบ : พิพิธภัณฑ์ประเทศฝรั่งเศส..! |
ถาม : ผลไม้ในวัดร่วงหล่นแล้วยังไม่เน่า มีมูลค่าที่จะขายได้ พระรูปใดรูปหนึ่ง จะนำไปฉันถือว่าขโมยของสงฆ์ ปาราชิกหรือไม่ครับ ?
ตอบ : ถ้าคิดแบบนั้นก็บรรลัยหมด อย่าลืมว่าพระก็เป็นส่วนหนึ่งของสงฆ์ แต่ไม่ควรที่จะทำเองโดยพลการ เพราะว่าพระจะฉันอาหารต้องรับประเคนแล้วทุกอย่าง การรับประเคนเท่ากับว่าบุคคลอื่นมอบให้ แล้วจะไปปรับอาบัติท่านอย่างไร ? |
ถาม : ของสงฆ์มีมูลค่าตั้งแต่ ๑ บาทขึ้นไป ภิกษุอยากได้จึงหยิบเอามา พร้อมกับชำระหนี้สงฆ์ตามมูลค่าทันที แต่ไม่ได้เอ่ยปากบอกภิกษุรูปใด แบบนี้จะโดนอาบัติข้อใดหรือไม่ครับ ?
ตอบ : ตั้งใจชำระหนี้ก็ไม่โดนอาบัติ แต่โดยมารยาทแล้วควรที่จะบอกก่อน เพราะบางทีคนอื่นอาจจะต้องการ หรือไม่ก็ต้องการแบ่งปันกันในท่ามกลางสงฆ์ในลักษณะของสลากภัต ซึ่งเป็นการเสี่ยงดวงกันเอง ไม่ใช่ไปเจาะจงหยิบเอาเองแบบนั้น |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 05:05 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.