![]() |
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๙
ให้ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดสติคือความรู้สึกทั้งหมดของเราเอาไว้ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า...ให้ความรู้สึกของเราไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก...ให้ความรู้สึกของเราไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ที่เรามีความถนัดมาแต่เดิม
วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๗ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ ตามที่เด็กหญิงนาตาลีถามว่าพระนิพพานคืออะไร ? ความจริงคำนี้ไม่สามารถที่จะอธิบายเป็นภาษามนุษย์ได้ เพราะว่าเป็นสภาวธรรมที่เข้าถึงด้วยจิตทั้งนั้น ต้องบอกว่าเป็นวิมุตติ ที่พ้นจากสมมุติทั้งปวงไปแล้ว สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เรายังเรียกได้ ยังอธิบายถึงได้ด้วยถ้อยคำที่เราสมมุติขึ้นมา เพื่อให้เข้าใจว่าสิ่งนั้น ๆ มีสภาพเป็นอย่างไร แต่ว่าพระนิพพานเป็นวิมุตติ เป็นส่วนที่เข้าถึงด้วยสภาพจิตที่พ้นกิเลสเท่านั้น จึงไม่สามารถที่จะอธิบายเป็นภาษามนุษย์ที่ชัดเจนได้ เพราะว่าในเรื่องสภาวธรรมนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นปัตจัตตัง คือผู้ที่ปฏิบัติจะรู้เป็นการเฉพาะตน ไม่สามารถที่จะอธิบายเป็นคำพูดหรือตัวหนังสือให้ละเอียดได้เท่ากับสภาพใจที่สัมผัส แม้กระทั่งในส่วนของโลกียสุขก็คือสุขในการทรงฌานนั้น ยังไม่สามารถที่จะอธิบายเป็นคำพูดได้ว่าสุขนั้นคืออะไร |
อาตมาเคยสมมุติว่า ปกติคนเราโดนไฟใหญ่ ๔ กอง คือ รัก โลภ โกรธ หลง เผาอยู่ตลอดเวลา อยู่ ๆ ไฟทั้ง ๔ กองดับลง เรามีความสุขสบายแบบไหนสามารถบอกเป็นคำพูดได้หรือไม่ ? ก็ไม่มีใครสามารถที่จะอธิบายเป็นคำพูดแม้แต่คนเดียว เพราะว่าคำอธิบายทั้งหมดก็ยังอยู่ในสภาพสมมุติเท่านั้น แล้วถ้าอย่างนั้นพระนิพพานนั้นจะเข้าถึงได้อย่างไร ? เราก็ต้องเกาะสมมุติไปก่อน เพราะว่าถ้าเราไม่เกาะ เราก็ไม่มีอะไรให้ปล่อยวาง
การเกาะสมมุตินั้น ก็คือ ยึดในเรื่องของศีล ของสมาธิ ของปัญญา ปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญาในลักษณะอย่างไร ? ก็คือ รักษาศีลทุกสิกขาบทให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่ละเมิดศีลด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีล ไม่ยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นละเมิดศีล ทำความเคารพใน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างแน่นแฟ้นจริงใจ ไม่ล่วงเกินด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ตั้งใจจับภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าภาพใดภาพหนึ่งให้เป็นปกติ ว่านั่นก็คือภาพแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งอยู่บนพระนิพพาน เราเห็นพระองค์ท่านคือเราอยู่ใกล้ชิดกับพระองค์ท่าน เราอยู่ใกล้ชิดกับพระองค์ท่านคือเราอยู่บนพระนิพพาน ในการกำหนดสมมุติลักษณะอย่างนี้ ถ้าเราทำไปเรื่อย ๆ ความเข้มข้นของกำลังใจมีมากเข้า ๆ ก็ก้าวล่วง รัก โลภ โกรธ หลง ไปได้ เหมือนอย่างกับเราอาศัยเกาะราวบันไดแล้วเดินขึ้นบันไดไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งท้ายสุดบันไดนั้นก็จะหมดไปสักวันหนึ่ง เมื่อถึงเวลาเราก้าวพ้นแล้ว จากบันไดเข้าไปสู่ห้องชั้นบน เราก็ไม่ได้แบกบันไดตามไปด้วย บางท่านก็ไม่รู้เสียด้วยซ้ำไปว่าตนเองปล่อยราวบันไดตอนไหน |
ในส่วนที่ว่ามานี้ ถ้าเราเปรียบกับพระนิพพานก็คือเราต้องเกาะเสียก่อน จนกระทั่งกำลังใจเต็มก็จะปล่อยเองโดยอัตโนมัติ ในเมื่อเราปล่อยแล้วเราจะเข้าถึงพระนิพพานอย่างไร ? เราปล่อยเมื่อไร สภาพจิตของเราไม่ยึดเกาะสิ่งหนึ่งสิ่งใด สภาพของการล่วงพ้นจากกิเลสจะปรากฏชัดขึ้นในจิตในใจของเรา เต็มอยู่ในจิตในใจของเรา เราจะรู้ตัวทันทีว่าถ้าเราตายตอนนี้คือไปพระนิพพานตอนนี้ พระนิพพานไม่ได้อยู่ที่ไหนไกลเลย อยู่ภายในจิตในใจของเรานี่เอง เพียงแต่เป็นจิตใจที่ปล่อยวางจาก รัก โลภ โกรธ หลง ไม่มีการปรุงแต่งให้สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เกิดขึ้นได้อีก
ดังนั้น...พวกเราทุกคนก็ควรจะยึดหลักที่ว่า เอาศีล สมาธิ ปัญญาเป็นบันได เพื่อให้เราก้าวล่วงพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพาน ลำดับต่อไปก็ให้ทุกท่านภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี วันอาทิตย์ที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๙ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย รัตนาวุธ) |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 05:09 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.