![]() |
อดีตที่ผ่านพ้นตอนที่ ๓๐ : ยาอมแก้ปากไว
๓๐. ยาอมแก้ปากไว ในศีล ๕ อันประกอบด้วย ห้ามฆ่าสัตว์ ห้ามลักทรัพย์ ห้ามประพฤติผิดในกาม ห้ามพูดปดมดเท็จ และห้ามดื่มสุราเมรัยนั้น หากไปถามบุคคลทั่วไปว่า ศีลข้อไหนที่รักษายากที่สุด ร้อยละเก้าสิบต้องตอบว่า ข้อสี่ห้ามพูดปดรักษายากที่สุด...! แล้วถ้ากล่าวถึงกรรมบถ ๑๐ ก็ยิ่งยากขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว เพราะประกอบด้วยข้อห้ามทางกาย ๓ ข้อ คือ ห้ามฆ่าสัตว์ ห้ามลักทรัพย์ ห้ามประพฤติผิดในกาม เช่นเดียวกับศีล ๕ แต่มีข้อห้ามทางวาจาเพิ่มเป็น ๔ ข้อ คือ ๑. มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากการพูดปดมดเท็จ ๒. ผรุสวาทา เวรมณี เว้นจากการพูดคำหยาบคาย ๓. ปิสุณาวาทา เวรมณี เว้นจากการพูดส่อเสียด ๔. สัมผัปปลาปวาทา เวรมณี เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อเหลวไหล และข้อห้ามทางใจอีก ๓ ข้อ คือ ไม่โลภอยากได้จนเกินพอดี ไม่โกรธเกลียดอาฆาตพยาบาทใคร และเชื่อตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ออกนอกลู่นอกทาง... ทุกคนจะไปร้องอู้เอาตรงวจีกรรมทั้ง ๔ ข้อนั่นแหละ เพราะคนเรามักปากไว พูดไปแล้วจึงคิดได้ว่าผิดศีลเสียแล้ว (แสดงว่าโกหกจนชำนาญ) บางทีด่าไปแล้วสามวัน จึงนึกได้ว่านี่เราด่าเขาไปแล้วนี่หว่า...... (เจริญเนอะ....ยังดีที่นึกได้...!) แล้วไอ้การพูดส่อเสียดนั่นน่ะ...บางคนถือเป็นของว่างหลังอาหารเลยเชียว ถ้าไม่ได้พูดจายุแหย่ชาวบ้านเขาวันใด รู้สึกมันจะท้องขึ้นท้องเฟ้อ กินไม่ได้ถ่ายไม่ออก คงเป็นปลาหมอตายเพราะปาก แบบนางปิสุณาวาทีเข้าซักวัน...! อันว่านางปิสุณาวาทีนั้น ในชาดกกล่าวไว้ว่า เธอมีพี่น้อง ๔ คน แต่ละคนมีคุณสมบัติแสบไส้ไปคนละอย่าง เช่น ด่าไฟแล่บสามวันไม่ซ้ำคำ ท้องยุ้งพุงกระสอบกินทุกอย่างที่ขวางหน้า บ้างก็คว้าผู้ชายทุกคนที่ผ่านมาเป็นสามี แต่ว่าที่แสบแบบไม่ต้องกินพริกเข้าไปช่วย คือนางปิสุณาวาทีนั่นแหละ... นางคนนี้มักนำเรื่องของชาวบ้านไปนินทาเป็นอาหารปาก แล้วชักมันมากเกินไป จึงมีการต่อเติมเสริมแต่ง แถมยุแยงตะแคงรั่ว จนชาวบ้านที่ไม่รู้ตัวตกเป็นเหยื่อของนางปากชั่ว ถึงกับตีด่าทะเลาะกันมั่วไปทั้งเมือง เป็นที่สุขใจของนางยิ่งนัก... ต่อมาชาวบ้านทบทวนถึงสาเหตุ ทราบว่าเกิดอาเพศเพราะนางปากไม่ดี จึงช่วยกันจับนางทรลักษณ์ปากอัปรีย์ลอยแพไปตามยถากรรม แต่ดวงคนยังไม่ถึงที่ จำเพาะไปเจอกับเรือโจรสลัด หัวหน้าโจรเห็นปั๊บก็ปิ๊ง จึงรับนางขึ้นเรือมา แต่งตั้งเป็นศรีภรรยาทันที... พอได้อยู่สบายลายก็เริ่มออก นางนอกคอกก็เริ่มซ้อมฝีปากยุแหย่หัวหน้าโจรกับลูกน้อง ให้แตกแยกกันตามระเบียบ ทะเลาะกันจนแทบล้มประดาตาย จึงนึกขึ้นมาได้ว่าไม่เคยเป็นแบบนี้ สอบถามสาเหตุก็มาลงที่นางปิสุณาวาที (อีกแล้ว....!) ขืนให้อยู่ด้วยคงฆ่ากันตายหมดแน่ ๆ นายโจรจึงตัดใจ จับนางปากมหาภัยลอยน้ำไปอีก แต่ชะตาชีวิตก็ชอบกล บันดาลให้มีนกอินทรีใหญ่สองตัวผัวเมียมาพบนางเข้า พญานกสงสารจึงหาไม้มาหนึ่งท่อนให้นางจับตรงกลาง พาบินไปส่งที่ฝั่ง... ขนาดห้อยโตงเตงอยู่บนอากาศ ก็ยังอดปากหมาไม่ได้ (หมาไม่เกี่ยวนะครับ โฮ่ง..) นางขยับไปทางนกผู้เป็นผัว ทำกระซิบกระซาบอะไรอยู่ครู่หนึ่ง แล้วก็ปีนมาทางนางนก บอกว่าผัวนางไว้ใจไม่ได้ “อาไร้... เป็นนกไม่อยู่ส่วนนก ต่อหน้าเมียแท้ ๆ ยังมาเกี้ยวพานาง…!” ลมเพชรหึงไม่ขึ้นหน้าก็ไม่ใช่วิสัยหญิง นางนกโกรธจนหน้าเขียวหน้าดำ ตรงเข้าจิกตีผัวอุตลุด สมใจนึกของนางปิสุณาวาทีเขาล่ะ... แต่ว่าถึงคราวกรรมจะสนอง พอตีกันไม้ที่นางปากระยำอาศัยเกาะ ก็หล่นตูมลงทะเล คราวนี้จบเห่จมน้ำตายห่...สมใจนึกไปเลย...! ยัง.....ยังไม่หมดฤทธิ์ เป็นผียังอาละวาดได้ พอศพลอยไปติดฝั่ง พระพบเข้าก็สงสาร (ยายนี่ทำบุญอะไรมาน้อ...? ใครเจอเป็นต้องสงสาร) จึงจัดการเผาศพให้ แล้วเก็บเอากะโหลกไปปลงอสุภกรรมฐาน พอกะโหลกเข้าวัดก็เกิดเรื่อง... ธรรมดาพระท่านอยู่ร่วมกันด้วยความสงบ ก็ต้องมาทะเลาะกันอย่างหาสาเหตุไม่ได้ กว่าจะรู้ตัวนำกะโหลกไปทิ้งป่าช้า ก็วางมวยเป็นพระวัดเส้าหลินไปหลายยก เดี๋ยว...ยังมีต่อ พวกคอเหล้าเข้าไปต้มเหล้ากันในป่าช้า เจอทีเด็ดยายฝีปากม้าเข้าอีก…! หาหินมาทำก้อนเส้าเพื่อจะวางหม้อต้มเหล้า ดันไปเก็บเอาหัวกะโหลกมาแทน ทุกวันกินเหล้าไม่มีเรื่อง วันนั้นตีกันหัวร้าง คางแตก ปากคอเริ่ดไปตาม ๆ กัน แล้วตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ใครกินเหล้าเป็นต้องชอบหาเรื่อง ฝีมือนางปิสุณาวาทีเขาละ ตามมาอาละวาดจนถึงสมัยนี้...! เรื่องของปากมันแก้ยากอย่างนี้นี่เอง พออาตมาเริ่มรักษาศีล ด้วยความเคยชินก็มักจะเผลอโกหก แก้อย่างไรก็ไม่หาย เพราะสติยังตามปากไม่ทัน ต้องหาทางจัดการขั้นเด็ดขาด ไม่มีอะไรดีกว่ายึดหลวงพ่อเป็นที่พึ่ง...เอาเหรียญยันต์เกราะเพชรของหลวงพ่อ มาอมแทนยาอมเลย ทีนี้ใครจะมาพูดด้วย เหรียญที่คาปากอยู่ทำให้เกิดความยั้งคิด ก่อนจะพูดก็มีสติตรองดูก่อนว่า พูดไปแล้วผิดศีลมั้ย..? พยายามแทบตายกว่าจะเลิกโกหกได้เด็ดขาด เฮ้อ...ขอบคุณยาอมวิเศษ... ๓ มีนาคม ๒๕๓๓ พระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 08:48 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.