![]() |
โอวาทงานบวชเนกขัมมะ ๑๐-๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๖ (๒)
งานวันแม่ปีนี้ไม่ทราบว่าครูบาหน่อแก้วฟ้าพอจะมาไหวไหม ? เพราะเอ็นหลังอักเสบนั่งไม่ได้ ท่านสงเคราะห์โยมแบบเมตตาเกินประมาณ อาตมาเองไม่ค่อยเมตตาโยมหรอก ถึงเวลาก็ไล่เตลิดเปิดเปิง แต่ท่านทั้งหลายเหล่านี้เมตตาสูง สมัยก่อนก็มีหลวงปู่ครูบาธรรมชัย ญาติโยมไปให้ท่านตรวจรักษาโรคทั้งวัน ๆ คนไปก็เอาแต่ประโยชน์ตัวเอง ไม่ได้สนใจว่าหลวงปู่จะได้ฉันเพลหรือเปล่า ? นั่งล้อมอยู่ไม่เลิก หลวงปู่ท่านก็ตรวจไปเรื่อย รักษาไปเรื่อย เลยเที่ยงก็อดไปอีกวันหนึ่ง กระทั่งบางวันญาติโยมบางท่านทนไม่ไหว ด่ากระจายก็หายไปหน่อยหนึ่ง มีโอกาสฉันเพลนิดหนึ่ง
พระที่ท่านมาสายพระโพธิสัตว์จะมีความเมตตาต่อผู้อื่นเป็นปกติ ท่านไม่ได้ห่วงสังขารร่างกายตัวเอง โยมมาขอให้สงเคราะห์ก็สงเคราะห์ไปเรื่อย อาตมาเองก็มาสายพระโพธิสัตว์ แต่เลิกแล้ว ถ้าไม่ใช่โดนล้มทับตีน ดิ้นหนีไปทางไหนไม่ได้ก็ไม่ช่วยใครแล้ว แต่จะว่าไปแล้วงานก็ยังอยู่ในลักษณะเดิม เพราะพระท่านบอกว่าอนุญาตให้ลา แต่ทำหน้าที่เดิมไปก่อน ฟังแล้วทะแม่ง ๆ แปลว่าถ้าเก่งจริงก็ไปพระนิพพานได้ ถ้าไม่เก่งจริงก็อยู่ต่อก็แล้วกัน เป็นเรื่องที่ ...(ถอนหายใจ)... |
หมาที่ดุ ๆ แล้วเราไม่กลัวเขาและไม่คิดทำร้ายเขา เขาจะทำอะไรเราไม่ถูก สัตว์ทุกชนิดก็เหมือนกัน อาตมาไปบ้านลูกศิษย์ท่านหนึ่ง พ่อเขามัวแต่เอารถเข้าไปโรงเก็บอยู่ ปรากฏว่าหมาพุ่งพรวดออกมา กระโดดท้าวไหล่อาตมาแล้วแฮ่ใส่หน้า
อาตมาถามว่า มีอะไรหรือ ? หมาเลยลงไปยืน ๔ ขางงอยู่พักหนึ่ง แล้วท้ายสุดก็นึกได้ว่า ตามบทแล้วเราต้องกัดนี่หว่า..! จึงกระโดดขึ้นมาแฮ่ใส่ใหม่ อาตมาก็ถามอีกว่า "จะเอาอะไรเล่า ?" คุณหมาเลยทำอะไรไม่ถูก พอดีเจ้าของเห็นวิ่งมาคว้าคอไว้ บอกว่าไม่นึกว่าจะหลุดจากโซ่มา ปกติแล้วจะกัดทุกคน อาตมาบอกเขาไปว่า จริง ๆ แล้วสัตว์จะทำร้ายเราด้วย ๒ สาเหตุด้วยกัน เหตุแรกคือเรากลัวเขา เหตุที่สองก็คือเขากลัวเรา ถ้าเรากลัว เขาก็จะขับไล่ออกไปนอกเขตของเขา สัตว์จะมีเขตหากินของเขาอยู่ ถ้าสัตว์อื่นมาอยู่ในเขตนั้นอาจจะแย่งอาหารแล้วทำให้เขาอด ฉะนั้น..เขาจะขับไล่ให้พ้นจากเขตเขา สาเหตุที่สองคือเขากลัวเรา จึงต้องป้องกันตัวด้วยการกัดเราก่อน ทำร้ายเราก่อน ถ้าเราไม่กลัวและไม่คิดร้ายเขา ส่วนใหญ่ที่อาตมาเจอมา เขาจะทำอะไรไม่ถูก ตรงปั๊ม ปตท.ที่สามแยก ออกไปจากวัดท่าขนุนประมาณกิโลเมตรกว่า ๆ จะมีร็อตไวเลอร์อยู่ ๒ ตัว เคยกัดยางรถยนต์ระเบิดมาแล้ว ไม่น่าเชื่อว่ากรามจะแข็งแรงขนาดนั้น กัดยางรถยนต์ได้ เจ้า ๒ ตัวนี้จริง ๆ แล้วขี้เล่นมาก ถึงเวลาจะโถมเข้ามากอดเอว แล้วคนไปตกใจส่งเสียงร้องเอะอะ ทำให้สัญชาตญาณนักล่าเกิดขึ้น เขาก็เลยกัด อาตมาตอนแรกก็ไม่รู้หรอก พอเขาโถมมากอดเอวก็หันไปดู อ้าว..เขาไม่ได้คิดจะกัดเรานี่หว่า.. เพราะเขายังคาบลูกเทนนิสอยู่ ก็เลยล้วงลูกเทนนิสจากปากเขาแล้วขว้างไป เขาก็เลยวิ่งไล่ลูกเทนนิสไป เด็กปั๊มเขาถามว่าพระอาจารย์ไม่กลัวหมาหรือ ? อาตมาบอกว่ากลัวมากเลย กลัวว่าจะกินหมา..! เพราะว่าเนื้อแน่นปั้กเลย ถ้า ร็อตไวเลอร์อยู่กับอาตมา ก็ถือว่าเป็นอาหารสำรอง..! |
ในเรื่องของการปฏิบัติของเรา ถ้าเรายังกลัวอยู่ถือว่าใช้ไม่ได้ ฉะนั้น..ต้องปฏิบัติอย่างไรที่จะไม่ให้กลัว ก็ต้องพิจารณาให้เห็นชัดให้ได้ว่า ความตายเป็นเรื่องปกติธรรมดา ความตายมาถึงเราอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกอยู่แล้ว ถ้าไม่กลัวตายเสียอย่างเดียวจะไม่มีอะไรให้กลัวเลย แล้วอีกอย่างหนึ่ง สิ่งที่ทำให้เรากลัวก็คือความไม่รู้ หรือที่ภาษาบาลีเรียกว่า อวิชชา
อาตมาฝึกพิจารณาความตายตอนที่ยังอยู่วัดท่าซุงสมัยบวชใหม่ ๆ ฝึกอยู่เป็นปี ๆ ทำให้รู้ว่า จริง ๆ แล้วเรากลัวเพราะใจเราคิดหลอกตัวเอง ไปนั่งกรรมฐานอยู่ในป่าช้า พอดึก ๆ ได้ยินเสียงงูเลื้อยมา พอได้ยินเสียงเลื้อยผ่านใบไม้แห้งแกรก ๆ มา ความรู้สึกบอกชัดเลยว่า ตัวอย่างเก่งก็ไม่เกินถ่านไฟฉายขนาด ๓ เอหรอก ตัวนิดเดียว แต่ปรากฏว่ามีอีกความคิดหนึ่ง “เอ๊ะ ถึงตัวเล็กแค่นั้นถ้ามีพิษก็กัดเราตายได้นะ” ความกลัวก็เริ่มเกิดขึ้น พอความกลัวเริ่มเกิดขึ้น ในความรู้สึกก็ “เอ..? น่าจะตัวใหญ่กว่าที่เราคิดสักนิดหนึ่งนะ” จะปรุงอย่างนี้ไปเรื่อย ไปเรื่อย ท้ายสุดความรู้สึกของเราคือ งูตัวนั้นใหญ่เป็นต้นเสาเลย ใหญ่ขึ้นตามความรู้สึกนึกคิดปรุงแต่งของเรา ท้ายสุดกลัวจนกระทั่งทนไม่ไหว แล้วอาตมาเป็นประเภทกลัวแล้วไม่หนี ในเมื่อเป็นอย่างนั้นก็เผชิญหน้ากันให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย คว้าไฟฉายได้ก็เปิดกลดไปส่องไฟดู โห..เป็นงูที่โบราณเราเรียกว่า งูก่านปล้อง บางทีเขาเรียกงูปล้องฉนวน จะเป็นสีดำสลับขาว ตัวประมาณนิ้วก้อย ยาวยังไม่ถึงศอกเลย พอเจอเรางูก็รีบหนีแล้ว สรุปว่า..ที่หลงกลัวอยู่แทบตายเกือบชั่วโมงนั่นเราคิดหลอกตัวเอง เพราะใจเราไปปรุงแต่งเอง |
การฝึกกรรมฐานของเรา ฝึกเพื่อให้กำลังใจของเรามั่นคง หยุดอยู่กับปัจจุบันได้ ถ้าใจเราหยุดอยู่กับปัจจุบัน ไม่ปรุงไปในอดีต ไม่ปรุงแต่งไปในอนาคต รัก โลภ โกรธ หลงต่าง ๆ จะโดนกดดับลงชั่วคราว ไม่สามารถจะกินใจเราได้ เพราะส่วนใหญ่แล้วที่เราทุกข์เพราะความคิดของตัวเอง
เราคิดฟุ้งซ่านไปในอดีต น่าจะเป็นอย่างนั้น น่าจะเป็นอย่างนี้ ไม่น่าทำอย่างนั้น ไม่น่าจะทำอย่างนี้ สารพัดที่จะคิด แล้วก็ฟุ้งซ่านไปในอนาคต จะต้องเป็นอย่างนั้น จะต้องเป็นอย่างนี้ ถ้าทำอย่างนี้จะต้องได้อย่างนี้ สารพัดจะฝันเฟื่องไป อดีตผ่านไปแล้ว เปรียบเหมือนกับรถยนต์ที่ออกจากท่าไปแล้ว เราขึ้นไม่ได้หรอก อนาคตยังมาไม่ถึง รถที่ยังมาไม่ถึงเราก็ขึ้นไม่ได้ ฉะนั้น..พาหนะที่จะนำเราพ้นจากกองทุกข์ ไปสู่พระนิพพานได้ก็คือรถยนต์คันปัจจุบันนี้เท่านั้น แล้วการที่เราจะอยู่กับปัจจุบันนี้ได้ วิธีที่ดีที่สุดคืออยู่กับลมหายใจเข้าออกของตัวเอง ขณะใดที่จิตเราผูกอยู่กับลมหายใจเข้าออกเฉพาะหน้า ก็ไม่สามารถไปอดีตได้ ไม่สามารถไปอนาคตได้ การสร้างกรรมต่าง ๆ จะโดนหยุดลงชั่วคราว ในเมื่อมโนกรรม คือจิตนึกคิดปรุงแต่งไม่มี ก็ไม่สามารถจะบัญชาให้วจีกรรมคือการพูด หรือกายกรรมคือการกระทำเกิดขึ้นได้ แปลว่าการปฏิบัติของเราก็เป็นการพัฒนากาย วาจา และใจของเรา เพื่อก้าวขึ้นไปสู่หนทางแห่งความหลุดพ้น การพัฒนาขั้นต้นก็คือหยุดให้ได้ก่อน หยุดคิด หยุดพูด หยุดทำในสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นความชั่ว แล้วก็คิด พูด ทำในสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นความดี |
เมื่อทำอย่างนี้ได้แล้ว หลังจากนั้นก็พยายามที่จะมองให้โทษของสิ่งที่ชั่ว ว่าทำให้เราลำบากเดือดร้อนอย่างไร ดีคือสิ่งที่เป็นบุญเป็นกุศล จะเกื้อหนุนส่งผลให้เรามีความสุขความสบายอย่างไร แล้วก็ละชั่ว ทำดี ขั้นตอนต่อไปเมื่อทำดีไปแล้ว ก็พยายามให้เห็นด้วยว่า แม้แต่ดีก็ยังไม่ใช่หนทางที่ทำให้เราหลุดพ้นอย่างแท้จริง เพราะว่าตราบใดที่เราเกาะฝั่งซ้ายคือชั่ว ฝั่งขวาคือดี เราก็ไปไหนไม่ได้ สมมติว่าเราจะไปกรุงเทพฯ เราไม่เกาะเสาต้นข้างซ้าย เราก็เกาะเสาต้นข้างขวา แล้วจะไปไหนได้ ? ในเมื่อเราเกาะต้นเสาอยู่ ก็ต้องปล่อยก่อนเพื่อที่จะให้เราก้าวเดินไปได้
ถ้ามาถึงตอนนี้ ก็จะเป็นช่วงสุดท้ายของการปฏิบัติ คือ รู้ว่าดีก็ทำ รู้ว่าชั่วก็ละ ในเมื่อเราไม่เกาะดีแล้วทำไมถึงต้องทำดี ? ประการแรกคือเป็นความไม่ประมาท เพราะกำลังของบุญกุศลคือความดีจะทำให้เราหลุดพ้นได้ ประการที่สองคือทำเป็นเนตติ คือเป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่นเขา ว่าบุคคลที่ไม่ประมาทในธรรมจริง ๆ ยังต้องละชั่ว ทำดีอยู่เสมอ ถ้าก้าวเข้ามาถึงจุดนี้ โอกาสที่เราจะล่วงพ้นจากกองทุกข์จึงจะเกิดขึ้นได้ แต่ว่าอันดับแรกก็คือ ทำอย่างไรที่เราจะหยุดความนึกคิดของเราทั้งหมดให้อยู่กับปัจจุบันได้ นั่นก็คือการที่เราต้องสร้างสติ สมาธิ และปัญญาให้เข้มข้นมากขึ้น ก็คือการที่เรามาปฏิบัติธรรมกันอย่างนี้ เราก็มาเน้นตรงสมาธิ เมื่อสมาธิทรงตัว สติก็จะว่องไว แหลมคม ปัญญาก็จะแก่กล้า |
ดังนั้น...ทุกวันที่เรามาทำ เราต้องรู้ด้วยว่าเราทำอะไร เพื่ออะไร ไม่อย่างนั้นแล้วเราก็เปะปะไปเรื่อย พอเปะปะไปเรื่อย ไม่รู้ผลที่เราทำยังไม่พอ ไม่รู้เหตุด้วยว่าทำอะไร เพื่ออะไร ก็จะทำให้เราซังกะตาย ทำไปวันหนึ่ง ๆ แล้วพอถึงเวลายังไม่รู้จักดูว่า ทำแล้วมีความก้าวหน้าตรงไหน ก็จะทำให้เราท้อถอย หมดอารมณ์ที่จะทำ แล้วก็ยอมปล่อยตัวเองให้จมอยู่ในห้วงทุกข์ต่อไป
นี่คือสิ่งที่อยากจะบอกกับพวกเราไว้ในขั้นต้น ว่าสิ่งที่เราทำมานี้เราทำอะไร เพื่ออะไร มีขั้นตอนอย่างไร และเชื่อว่ายังจำกันไม่ได้หรอก ที่ว่ายังจำกันไม่ได้เพราะว่าต้องทำไปถึงตรงนั้นก่อน แล้วขั้นตอนเหล่านี้ถึงจะซึ้งอยู่ในใจของเรา ไม่อย่างนั้นความจำที่เป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยง ก็จะพาให้สิ่งทั้งหลายเหล่านี้หายหกตกหล่นไปเฉย ๆ อาตมาเองสมัยปฏิบัติธรรมใหม่ ๆ อาศัยหนังสืออยู่ ๓ - ๔ เล่ม มีประวัติหลวงปู่ปาน กรรมฐาน ๔๐ คู่มือปฏิบัติกรรมฐาน มหาสติปัฏฐานสูตร เป็นต้น อ่านทวนอยู่ทุกเช้า เช้าละบท หรืออาจจะกำหนดว่ากี่หน้ากี่วรรคสำหรับหนังสือที่ไม่มีบทตอน เป็นการอ่านไปพร้อมกับกำหนดภาวนาไป เพราะฉะนั้น..หนังสือทั้งเล่มคือคำภาวนา เมื่ออ่านไปภาวนาไป กำลังใจก็จะทรงตัวได้เร็ว เท่ากับว่าช่วยโยงใจของเราให้เป็นสมาธิ แล้วก็มาปฏิบัติต่อไป พอชอบใจตรงไหนก็ไปขีดเน้นเอาไว้ ปรากฏว่ามาตอนหลังถึงได้รู้ว่าทำได้โง่มาก เพราะว่าหลักธรรมที่ชอบใจของเรา ก็คือกำลังใจของเราเริ่มเข้าถึงระดับนั้น เราก็จะรู้สึกว่าดีเหลือเกิน เหมาะเหลือเกินสำหรับเรา แต่พอไปอ่านทวนรอบใหม่ก็ “อ้าว..ตรงนี้ก็ดี แล้วหายไปไหน ? ตอนนั้นเราข้ามไปได้อย่างไร ?” คือตอนนั้นกำลังใจของเรายังไม่ถึง ทำให้เราข้ามไปเฉย ๆ เหมือนกับมองไม่เห็น แบบเดียวกับที่อาตมาพูด โยมได้ยิน แต่ได้ยินเฉย ๆ ไม่ลึกเข้าไปในใจของตนเอง เพราะว่าบางคนยังทำไม่ได้ |
เมื่อเป็นดังนั้น ในสิ่งที่เรากระทำต้องมีการทบทวน ทางโลกก็ต้องมีการทบทวนและประเมินผล จะได้รู้ว่างานการที่ทำแล้วได้ผลหรือไม่ได้ผลอย่างไร ทางธรรมของเรา พระพุทธเจ้ามอบหลักการประเมินให้เรามาสองพันกว่าปีแล้ว คือหลักวิมังสา ต้องไตร่ตรองทบทวนอยู่เสมอ ๆ ว่าเราทำอะไร ? เพื่ออะไร ? บัดนี้เราทำไปถึงไหน ? ยังตรงกับเป้าหมายอยู่หรือไม่ ? เหลือระยะทางใกล้ไกลเท่าไรกว่าเราจะไปถึงเป้าหมายเหล่านั้น ?
ฉะนั้น..การทบทวนประเมินผล จะช่วยให้เรารู้ว่า ปัจจุบันนี้เราทำอะไร ? ตอนนี้เราทำได้แค่ไหน ? เป้าหมายของเราอยู่อีกห่างไกลเท่าไร ? ถ้าเรามีการทบทวนอย่างนี้เสมอ ๆ เราจะไม่พลาดจากสิ่งที่ตั้งเป้าหมายไว้ โดยเฉพาะส่วนใหญ่แล้วพระภิกษุสามเณร ถึงเวลาเข้าพรรษาก็ตั้งเป้าไว้สูงส่งเลิศลอยเลย พรรษานี้ต้องเอาอย่างนี้ พรรษานั้นต้องเอาอย่างนั้น แต่พอไปได้ครึ่ง ๆ หนึ่ง ก็โดนเหตุการณ์ต่าง ๆ ดึงจนแปรไปจากเจตนาและเป้าหมายเดิมของตน ไม่สามารถจะคงความแน่วแน่อยู่ที่เป้าหมายได้ ก็ทำให้การปฏิบัติได้ผลช้า หรือว่าไม่ได้ผลเลยก็มี |
สมัยก่อนที่อาตมาอยู่ที่วัดท่าซุง ถ้านอกเหนือเวลางาน เวลาทั้งหมดก็คือการปฏิบัติธรรม สถานที่ปฏิบัติธรรมที่เป็นหลัก ๆ เลยก็คือป่าช้ากับใต้ถุนสวนไผ่ ๖ ไร่ ถ้าท่านใดที่ไปร้านอาหารที่สวนไผ่จะเห็นว่า หลวงพ่อวัดท่าซุงท่านราดคอนกรีตไว้ให้เป็นที่ใช้งานได้เต็มพื้นที่นั้น แต่ว่าช่วงที่เว้นให้ต้นไผ่ขึ้นมาจะมีช่องว่างให้มุดลงไปได้ อาตมาก็จะมุดไปอยู่ข้างใต้ ซึ่งเป็นเหมือนกับถ้ำใหญ่มหึมา กว้างตั้ง ๖ ไร่ มีเพื่อนคือจระเข้น้อย แต่ขนาดไม่น้อยหรอก บางทีตัวยาว ๒ เมตรกว่าก็มี จระเข้ใหญ่ไม่รู้จะใหญ่เท่าหรือเปล่า ? แล้วก็มีพวกงูเหลือม บางทีวันดีคืนดีงูเหลือมก็ลากแมวลากหมาเข้าไปกินข้างในด้วย ไม่ยอมแบ่งอาตมาสักตัวเลย..!
คราวนี้พวกงูหรือสัตว์เลื้อยคลาน ร่างกายของเขาจะปรับอุณหภูมิตามบรรยากาศข้างนอก ในเมื่อเป็นอย่างนั้นเขาจะเคลื่อนไหวไม่สะดวก ฉะนั้น..วิธีที่ดีที่สุดก็คือถ้ามีคนอุ่น ๆ อยู่เขาก็จะมาซุกด้วย เพื่อให้ตัวอุ่น ถ้าเป็นคนขี้กลัวหน่อยก็จะไม่กล้าไปอยู่แถวนั้น ก็สบาย..ไม่มีใครมากวน ใช้เวลาปฏิบัติแบบลืมวันลืมคืนเลย ตอนนั้นอาตมาอยู่ที่ตึกกองทุน อยู่คนเดียว หลังจากหลวงน้ามีชัยสึกไปก็ไม่มีเพื่อนอยู่ด้วย ตึกกองทุนชั้นล่างจะใหญ่ประมาณศาลาหลังนี้แหละ ส่วนชั้นบนเขาแบ่งออกเป็น ๓ ช่วง คือด้านซ้ายขวาจะเป็นห้องใหญ่อยู่ด้านละ ๔ ห้อง รวมแล้วก็ ๘ ห้องด้วยกัน โยมลองนึกถึงว่าพื้นที่ประมาณตึกแดง แล้วแบ่งแค่ ๔ ห้องจะใหญ่แค่ไหน แล้วตรงกลางก็เป็นโถงใหญ่ เดินจงกรมได้สบาย |
อาตมาปฏิบัติแบบคนไม่มีเวลา ก็คือทำไปเรื่อย หมดสภาพอยากนอนตรงไหนก็นอนตรงนั้น คือในเรื่องของการปฏิบัติ ถ้ามัวแต่ไปวิตกว่าจะต้องกินที่นั่น จะต้องนอนที่นั่น จะเป็นเรื่องที่เป็นกังวลเสียเปล่า ตอนออกบิณฑบาตจะเป็นตอนที่รักษากำลังใจสุดชีวิตเลย เพราะว่าสิ่งที่มากระทบจะมีมาก สิ่งที่มากระทบที่ว่ามีมากก็คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสธรรมดานี่แหละ เพียงแต่ว่าในชีวิตฆราวาส เราอยู่กับสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ บางทีก็ไม่รู้ว่ารบกวนการปฏิบัติ แต่ชีวิตของความเป็นพระ พอเราโดนตีกรอบ ก็อยากรู้อยากเห็นทุกเรื่อง “ขอมองสักนิดก็ยังดี” ทำนองนั้น
ญาติโยมหลายคนก็เมตตาเหลือเกิน รู้ว่าพระไม่ค่อยได้เห็นอะไร บางทีโยมลงมาใส่บาตร พอเปิดฝาบาตรเสร็จก็ก้มหน้าสำรวมตามพระวินัย “อะไรวะ..ขาวไปหมด..?!” ก็คุณเธอเล่นลงมาใส่บาตรในชุดนอนบาง ๆ นิดเดียว แขนเสื้อก็ไม่มี ข้างล่างก็ลงมาไม่ถึงหัวเข่า เขาคงรู้ว่าพระไม่ค่อยได้เห็นอะไร ไหน ๆ ใส่บาตรแล้วก็ทำบุญทางสายตาไปด้วยก็แล้วกัน..! สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ทำให้เราต้องรู้จักระมัดระวังตัวเอง ทำอย่างไรจะรักษาอารมณ์ในการปฏิบัติเอาไว้ได้ ก็ต้องพยายามที่จะจับลมหายใจเข้าออกพร้อมกับภาพพระ ในขณะที่เดินบิณฑบาต ตั้งแต่ก้าวแรกที่ออกจากวัดไป ถ้าพลาดตรงไหนก็เริ่มต้นใหม่ตรงนั้น ประคับประคองกันใหม่ ในเมื่อเป็นอย่างนั้นความที่พยายามทำอย่างต่อเนื่อง เลยทำให้ในเรื่องของการปฏิบัติเริ่มมีความก้าวหน้ามากขึ้น |
วันแรกที่สามารถรักษาอารมณ์การภาวนาพร้อมกับภาพพระ ก้าวแรกจากวัดไปจนกระทั่งกลับเข้ามาถึงหอฉันได้ รู้สึกมีความสุขเหมือนกับจะเหาะได้บินได้ รู้สึกว่าตัวเรามีกำลังพอที่จะสู้กับบรรดากิเลสทั้งหลายเหล่านี้ได้แล้ว คราวนี้สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ที่มาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจจะกระทบอยู่ตลอดเวลา ญาติโยมส่วนใหญ่ที่ใส่บาตร ถ้าอยู่ในทางบิณฑบาต จะรู้กันหมดว่าบ้านไหนเป็นอย่างไร ก็พอจะระมัดระวังได้ทัน
ส่วนใหญ่จะมาเสียท่าตรงหน้าประตูวัด เพราะว่าส่วนใหญ่เป็นโยมที่ไปงาน เหมือนกับพวกเราที่มาเฉพาะงาน มีอยู่วันหนึ่งโยมมาใส่บาตรพร้อมกับกลิ่นน้ำหอม อาตมาพอได้กลิ่นน้ำหอมก็รู้สึกว่าหอมชื่นใจน่าดม แต่ความรู้สึกก็คือว่า ถ้าเราหายใจซ้ำต้องแพ้แน่ เหมือนกับที่อาตมาบอกว่า ถ้ากับข้าวใครอร่อย อาตมาฉันได้คำเดียว เพราะถ้าตักซ้ำนี่..ไม่รู้แล้วว่าเราตักตามใจกิเลสหรือเปล่า ? ฉะนั้น..โยมคนไหนถ้าเห็นอาตมาตักกับข้าวคำเดียวนี่อย่าเสียใจ โยมทำอร่อยเกินไป ก็เลยตักได้คำเดียว คราวนี้ในเมื่อรู้ตัวว่า ถ้าหายใจซ้ำ..เราจะหายใจตามกิเลสหรือเปล่า ? เพราะชอบกลิ่นหอมนั้น ก็เลยกลั้นใจ ในเมื่อกลั้นใจเสร็จก็ตั้งใจดูพระพี่พระน้อง ข้างหน้าข้างหลังรวมกัน ๑๑ รูปว่าเป็นอย่างไรบ้าง ปรากฏว่าขำที่ทุกท่านกลั้นใจเหมือนกันหมดเลย เวลากลับไปถึงหอฉัน เทข้าวแล้วล้างบาตรเสร็จก็มานั่งคุยกัน บอกว่า “เฮ้ย..เมื่อครู่ผมรู้นะว่าทุกคนกลั้นหายใจหมดเลย แต่ขอถามหน่อยเถอะ ว่าการกลั้นหายใจของเรานี่เป็นปัญญาหรือเปล่า หรือว่าเป็นการหนีปัญหาแต่เฉพาะหน้า ? ” ญาติโยมฟังดี ๆ นะ คนปฏิบัติถ้าจะเอาดีจริง ๆ ต้องวิเคราะห์แม้กระทั่งเรื่องอย่างนี้ การที่เรากลั้นลมหายใจ ไม่ยอมหายใจซ้ำ เป็นการหนีปัญหาเฉพาะหน้า หรือว่าเป็นใช้ปัญญาในการปฏิบัติธรรม ท้ายสุดเกือบจะไม่ได้ฉันเช้า เพราะมัวแต่วิเคราะห์กันอยู่ สรุปลงมาตรงที่หลวงตาวัชรชัยบอกว่า “เป็นการใช้ปัญญา เพราะเราว่ากำลังของเรายังไม่พอสู้ แล้วจะโง่ไปสู้ทำไม ? ใช้ปัญญาที่พอมีของเรากลั้นหายใจไปเลย” สรุปแล้วว่าตรงนี้เป็นปัญญา เพียงแต่ว่าเป็นปัญญาที่จนแต้มจริง ๆ ไม่รู้จะใช้ไม้ไหนสู้กันแล้ว มุดดินหนีก็เอา |
เพราะฉะนั้น..ในเรื่องการปฏิบัติ ญาติโยมจะต้องมีลักษณะอย่างนี้ อย่างพวกอาตมาในสมัยนั้น พอทุ่มครึ่งเลิกจากการปฏิบัติธรรม ก็จะมานั่งฉันน้ำปานะกันที่หอระฆัง ตรงหน้าร้านอาหารป้ากิมกี ซึ่งมีห้องยามของพระเวรอยู่ ในเมื่ออยู่ไปอยู่มาก็มีการหาพวกน้ำปานะมาเตรียม ๆ ไว้ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นขิงผง กาแฟอะไรก็ตาม จะเอามารวมกันในนั้น ถ้าเลิกกรรมฐานก็มาอยู่รวมกันในนั้น ถ้าช่วงที่เป็นพระใหม่ ก็มาท่องหนังสือแข่งกันตรงนั้น ถ้าเลยมาแล้วก็มาวิเคราะห์ในเรื่องของการปฏิบัติธรรมกัน
ในเมื่อมีลักษณะอย่างนี้ จะมีผล ๒ อย่างด้วยกัน อย่างแรกคือทำให้เรารู้ว่า พี่น้องก้าวหน้าไปถึงขั้นไหนแล้ว แล้วเราต้องรีบตะเกียกตะกายตามเขาให้ทัน อีกอย่างหนึ่งก็คือในเรื่องของการปฏิบัติ บางทีเราคิดคนเดียว ทำคนเดียวจะไม่รอบคอบ อาจจะตีความหลักธรรมผิดได้ ต้องอาศัยบุคคลที่เคยผ่านมาก่อน ถ้าชี้ทางให้ รับรองให้ ก็จะง่าย ในเมื่อเป็นดังนั้นก็จะมีการมานั่งวิเคราะห์กัน อาตมาเองได้อะไรบางอย่างมาจากตรงห้องนั้น จำได้ว่าตอนนั้นตัวเองซื้อนิยายกำลังภายในเรื่องแส้สะบัดเลือด ปรากฏว่าท่านหนู พระลูกชายของลุงเอี๊ยง ท่านอ่านกำลังภายในเล่มนั้นแหละ นอนอยู่บนเก้าอี้โยก เพื่อนก็ “ขอขิงผงหน่อย” ก็ส่งข้ามไป ทางนี่ก็ “ขอน้ำหน่อย” ก็ส่งข้ามไป ข้ามหัวท่านไปมา ท่านหนูไม่รับรู้อะไรเลยนอกจากหนังสือตรงหน้า อาตมามองแล้ว “เฮ้ย..! นี่ระดับนิโรธสมาบัติเลยนะ” เพียงแต่ใช้ผิดเท่านั้น เป็นมิจฉาสมาธิ เพราะไปยินดีกับเนื้อหาในหนังสือ แต่ฉันทะความพอใจเหลือล้น วิริยะปักมั่นอยู่ตรงนั้น จิตตะไม่ต้องห่วง จิตจดจ่อแน่วแน่ มีเต็มที่ ขาดวิมังสาอย่างเดียว อิทธิบาทเกือบจะครบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลย แล้วสุดยอดขนาดนั้นด้วย |
อาตมาก็มาคิดว่าถ้าในเรื่องของการปฏิบัติ เราสามารถเกิดฉันทะ คือความยินดีในหนังสือที่เราอ่าน ในเมื่อมีกำลังสูงขนาดนั้น เราแค่เปลี่ยนเจตนา พลิกมุมนิดเดียว เอามาใช้ในการปฏิบัติโดยกำลังใจที่เท่ากัน โยมลองคิดดูว่า..การปฏิบัติของเราจะก้าวหน้าไปถึงระดับไหน ?
ดังนั้น..หลายคนอาจจะมีสิ่งที่ตัวเองรักชอบ บางคนชอบเล่นหวยเหลือเกิน อันนี้ไม่ใช่ความผิด บางคนกินเหล้าได้ทุกวัน บางคนเล่นการพนันได้ทุกวัน สิ่งนี้เราชอบ..ทำให้เราฝักใฝ่เล่นอยู่ทุกวัน ต้องเข้าอินเตอร์เน็ตทุกวัน ไม่เข้าไม่ได้ นั่นระดับทรงฌานเลยนะ ถ้าเราสามารถพลิกเอากำลังใจแค่นี้มาใช้ในการปฏิบัติ เราจะก้าวหน้าไหม ? ต้องคิดให้เป็นนะ พลิกนิดเดียว แค่เปลี่ยนกำลังใจที่เราใช้ทำในสิ่งที่ไม่ค่อยจะถูกจะต้อง มาทำในสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้น กำลังในการปฏิบัติจะเท่ากัน เพียงแต่เปลี่ยนมุมให้ถูกเท่านั้น ถ้าเราสามารถทำอย่างนี้ได้ จากคนที่ไม่เอาไหนเลยก็จะกลายเป็นคนประเภทองคุลีมาล วางดาบประหารก็สำเร็จอรหันต์ ฉะนั้น..สิ่งที่เราติด สิ่งที่เราชอบ ทำอยู่ทุกวัน บางทีพ่อแม่ก็ด่า สามีภรรยาก็ว่า “ทำอยู่ได้ทุกวัน ขยันไม่เป็นเรื่อง” อะไรอย่างนี้ เปลี่ยนมุมมาขยันให้เป็นเรื่องเท่านั้นพอ แล้วการปฏิบัติของเราจะก้าวหน้าอย่างชนิดที่คิดไม่ถึง |
สมัยก่อนอย่างสายของหลวงปู่มั่น ถึงเวลาท่านจะมาประชุมรวมกันที่สำนักของครูบาอาจารย์ แล้วแต่ว่าท่านธุดงค์ไปอยู่ตรงไหน ถึงเวลาก็สนทนาธรรม ไต่ถามเรื่องของการปฏิบัติ ตนเองทำอย่างไร ไปถึงไหน มีอาการอย่างไร ให้ครูบาอาจารย์ช่วยบอก ช่วยแก้ไขให้ ถ้าเราสามารถปรับในลักษณะอย่างนี้ได้ แบบเดียวกับสมัยที่อาตมาอยู่กับพี่ ๆ น้อง ๆ ที่วัดท่าซุง การปฏิบัติของเราจะก้าวหน้ามาก ๆ
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าในสมัยนั้นที่วัดท่าซุง ท่านที่จะเอาแบบนี้ส่วนใหญ่เป็นพระใหม่ อาตมาเองตอนนั้นก็เพิ่งจะ ๒ - ๓ พรรษา ที่พรรษามากหน่อยก็จะมีหลวงตาวัชรชัย มีหลวงพี่อาจินต์ มีหลวงตาสมชาย ส่วนใหญ่ก็ประเภทอย่างอาตมาหรือท่านอาจารย์สมปอง กลายเป็นว่ารุ่นเก่าเกิดความล้า เหตุที่เกิดความล้าเพราะว่ามัวแต่รอหลวงพ่อท่านบอก ส่วนอาตมาเองรับฟังโอวาทหลวงพ่อวัดท่าซุงวันแรกที่บวช แล้วถือเป็นหลักปฏิบัติตลอดชีวิต คือ "ตอนนี้คุณบวชเข้ามาแล้ว บุคคลที่เป็นพระถือว่ามีความเป็นผู้ใหญ่พอ หนังสือมี เทปมี ไปอ่านเอา ไปฟังเอา แล้วปฏิบัติตามนั้น ถ้าติดขัดตรงไหนค่อยมาถามผม" อาตมาอยู่กับหลวงพ่อ ๗ พรรษาเต็ม ๆ ถ้าบวกกับระยะเวลาฆราวาสอีก ๑๑ ปีก็คือ ๑๘ ปี มีคำถามแค่ ๔ ครั้งเท่านั้น ส่วนใหญ่ที่ถามก็คือเป็นช่วงการเปลี่ยนอารมณ์ ที่อาตมาไม่เข้าใจจริง ๆ ว่านั่นคืออะไร สำหรับเรื่องอื่นไม่เคยถาม เพราะถ้าเราทำจริง จะได้คำตอบในการกระทำของเราเอง อาตมาขอยืนยัน ถ้าทุกคนทำจริง คำตอบจะอยู่ในนั้นเอง ขอให้ทำให้จริงเท่านั้น |
ฉะนั้น ๑๘ ปีกับ ๔ คำถาม โยมต้องเข้าใจว่าอาตมาเป็นคนค่อนข้างรั้น ถ้าคนอื่น ๑๐ นิ้วเท่ากันแล้วทำได้ เราต้องทำได้ด้วย ถ้าคนอื่นทำได้ เราทำได้ เราต้องให้ได้ดีกว่าด้วย เพราะฉะนั้น..จะเป็นคนที่ทำไม่ได้ให้รู้กันไป หรือไม่ได้ให้ตายไปเลย ในเมื่อเป็นดังนี้ก็จะดื้อทำไปเรื่อย เพราะว่าที่ทำผ่าน ๆ มาตามที่หลวงพ่อท่านบอก ทุกขั้นตอนเป็นเช่นนั้น เพราะฉะนั้น...ตรงนี้ที่เรายังไม่ผ่าน ก็แปลว่าต้องเป็นเช่นนั้น นี่คือความเชื่อมั่นในครูบาอาจารย์ แต่ตัวเองอาจจะปัญญาไม่ถึง สมาธิยังไม่เพียงพอ ทำให้เราก้าวไม่พ้นตรงจุดนี้
บางอย่างติดอยู่ ๒ - ๓ ปี แต่จะเบื่อไม่ได้ จะหน่ายไม่ได้ ต้องย้ำแล้วย้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำแล้วทำอีก จนกว่าจะกำลังเพียงพอแล้วก้าวข้ามตรงจุดนั้นไป ฉะนั้น..การปฏิบัติของพวกเรา ถ้าถามว่าจะเอาใครเป็นครู ตำราเป็นครูได้ เพียงแต่ว่าทำให้จริง แล้วถึงเวลาเราจะรู้เองว่า สิ่งที่ตำราเขียนไว้นั้นคืออะไร เพราะว่าการปฏิบัตินั้น เมื่อทำไปแล้วจะเป็นปัจจัตตัง คือความรู้เฉพาะตน อธิบายเป็นภาษาพูดหรือภาษาหนังสือไม่ได้ ภาษาพูดหรือภาษาหนังสือหยาบเกินไปที่จะอธิบายอารมณ์ธรรมที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง แค่ในส่วนของปฐมฌาน บอกว่าจะเกิดความสุขอย่างไม่เคยมีมาก่อน เราก็ไม่สามารถจะบอกได้แล้วว่าสุขแบบไหน อาตมาได้แต่เปรียบเทียบหยาบ ๆ ว่าคนเราโดนไฟใหญ่ ๔ กองคือ รัก โลภ โกรธ หลงเผาอยู่ตลอดเวลา ต้องดิ้นรนเร่าร้อนทุกข์ยากอยู่ตลอดเวลา ทันทีที่สมาธิทรงถึงระดับอุปจารฌานขั้นปลายเกือบจะเป็นปฐมฌานแล้ว กำลังสมาธิจะกดไฟใหญ่ ๔ กองคือ รัก โลภ โกรธ หลงให้ดับลงชั่วคราว คนที่โดนไฟเผาอยู่ตลอดเวลา อยู่ ๆ ไฟดับลง มีความสุขแบบไหนอธิบายเป็นภาษามนุษย์ไม่ได้หรอก ต้องทำให้ถึงเอง นี่คือตัวอย่างที่ยกให้แค่นิดเดียวเท่านั้นว่า ในเรื่องของการปฏิบัติถ้าเราทำจริง ถึงเวลาจะรู้ว่าสิ่งที่ครูบาอาจารย์พูดหรือว่าท่านเขียนเอาไว้ในตำรานั้นคืออะไร เพราะสิ่งที่ท่านพูดหรือท่านเขียนเป็นส่วนที่หยาบมากอยู่ หลวงพ่อวัดท่าซุงอธิบายได้ละเอียดที่สุดแล้ว ง่ายที่สุดแล้ว แต่ก็ยังไม่ใช่ทั้งหมดของอารมณ์ปฏิบัติที่เป็นกำลังใจที่แท้จริงในตอนนั้น ฉะนั้น..การที่พวกเราถึงเวลาปฏิบัติไป ๆ แล้วอ๋อ..ขึ้นมา ที่ทางญี่ปุ่นเขาเรียกว่าซาโตริ ก็คือการที่เข้าถึงในบางส่วนของหลักธรรมที่เราปฏิบัติอยู่ |
อาตมาเป็นมาลาเรียมา ๓๐ กว่าปีแล้ว และเป็นมาลาเรียที่รักษาไม่ได้ ต้องบอกว่าเป็นเรื่องของกรรมเก่าที่ทำมา ขอให้เชื่อที่พระพุทธเจ้าที่ท่านบอก กัลยาณะการี กัลยาณัง ปาปะการี จะ ปาปะกัง ทำดีย่อมได้รับผลดี ทำชั่วย่อมได้รับผลชั่ว เป็นเรื่องที่จริงแน่นอน ตัวอาตมาจะเห็นชัด ๆ อยู่เรื่องหนึ่งก็คือเรื่องนอน จะไม่เคยนอนได้อย่างที่ตนเองต้องการเลย เพราะว่าในอดีตเป็นทหารมาทุกชาติ ส่วนใหญ่แล้วรับหน้าไปก่อกวนข้าศึก คือคอยไปกวนเขาไม่ให้หลับไม่ให้นอนอยู่ตลอดทั้งวันทั้งคืน จนกระทั่งเขาอ่อนเพลียไม่มีกำลัง แล้วพวกเราเข้าไปตีก็จะชนะโดยง่าย
พอมาชาตินี้ก็จะเจอแบบนี้ตลอด ถ้านอนเมื่อไรจะมีคนปลุกทุกครั้ง เมื่อครู่นี้ฉันเพลเสร็จไปนอนยังไม่ถึง ๕ นาทีเลย โยมโทรศัพท์เข้ามาเพื่อจะแจ้งข่าวว่าหลวงพ่อสมเด็จฯ วัดสระเกศมรณภาพแล้ว อาตมาอยากจะบีบคอมัน..! ตูลงเว็บแล้วไม่เข้าไปดู แต่กลับโทรมารายงาน จะเป็นลักษณะอย่างนี้ แล้วอาตมามีนิสัยตื่นแล้วตื่นเลย จะนอนต่ออีกไม่ได้ จะโดนปลุกอย่างนี้ตลอดทุกครั้ง มีอยู่ครั้งหนึ่งหลังงานเป่ายันต์เกราะเพชร อาตมาหมดสภาพนอนแผ่ พระครูน้อยขับรถขนขยะมาจอดหน้ากุฏิ ไม่ดับเครื่องนะ ปล่อยรถติดตึง ๆ อยู่อย่างนั่นแหละ แล้วพระครูน้อยก็ขยันมาก วิ่งไปลากถังขยะจากตรงนั้นมาเทใส่รถ จากตรงนี้มาเทใส่รถ ถังขยะจากทั่ววัดลากมาเทใส่รถที่ตรงหน้ากุฏิอาตมา แต่ไม่ยอมดับเครื่อง แล้วตูจะนอนได้อย่างไร ? ตื่นก็ได้วะ..จะโดนแบบนี้ตลอด พอเลิกงานแล้วไปถามพระครูน้อยว่า "ไม่รู้หรือว่าผมนอนพักอยู่ ?" ท่านบอกว่า “ก็รู้ครับ คิดเหมือนกันว่าอาจารย์อาจจะตื่นก็ได้ แต่ทำไมไม่ดับเครื่องก็ไม่รู้ ?” |
อันนี้เราจะได้รู้ว่าแรงกรรมที่เราทำไว้หนักหนาสาหัสขนาดไหน ? ในเมื่อเราทำเอาไว้ ถึงเวลาเราก็ต้องรับ คราวนี้ส่วนใหญ่แล้วพวกเราทำใจให้รับไม่ได้ ในเมื่อทำใจให้รับไม่ได้ก็จะไปดิ้นรน ยิ่งดิ้นรนก็ยิ่งทุกข์มากขึ้น เรื่องกฎของกรรมและวาระที่เราทำ บางสิ่งบางอย่างถ้าเรารู้ บางทีก็ช่วยได้มากเลยในการวางกำลังใจ
การที่เราไม่ยอมรับกฎของกรรม เพราะบางทีเราก็ไม่รู้ว่าสาเหตุที่แท้จริงเกิดจากอะไร ถ้ารู้สาเหตุแล้วเราจะรู้ว่า กฎของกรรมที่ทวงนั้นประมาณ ๑ ใน ๑๐๐ เท่านั้น ไม่เกินนั้น ก็แปลว่าที่อาตมาโดนอ่วมอรทัยอยู่นี่เป็น ๑ ใน ๑๐๐ หรืออาจจะ ๑ ในล้านด้วยซ้ำ ส่วนใหญ่เราเล่นเขาถึงตายแทบทั้งนั้น พอถึงเวลาเขาก็จะมาทวงตามปกติ |
ถ้าถามว่าอาตมาเล่นเขาถึงตาย แล้วเขามาทวงก็จะน่าครั้งเดียวเลิกไม่ใช่หรือ ? ไม่ใช่หรอก เพราะว่ารบมาทุกชาติ บางครั้งต้องบอกว่าถึงขนาดกวาดเขาหมดทั้งกองทัพเลย ค่อนข้างจะโหด เคยนำกองทัพไปซุ่มโจมตีกองทัพพม่า อันนี้ต้องบอกว่าเป็นนิทานโกหก ในเมื่อเป็นนิทานโกหก ก็อย่าถามรายละเอียด
เลือกวางกำลังตรงจุดกึ่งกลางเนินเขา ถามว่าทำไมต้องกึ่งกลางเนิน ? ก็เพื่อให้ข้าศึกขึ้นมาเกินครึ่งทางก่อน เราซุ่มอยู่ตรงกลาง ต้องรอทัพเขาเลยไปได้ระยะที่เราต้องการแล้วถึงจะให้สัญญาณเข้าตี ข้างบนกระหนาบลงมา ข้างล่างตีขึ้น ข้าศึกมีทางเดียวคือต้องหนีออกข้าง แต่ปรากฏว่าข้าง ๆ นั้นพวกเราฝังขวากไว้เพียบเลย ก็แปลว่าวิ่งออกไปแล้วเหยียบขวาก ไปไหนไม่ได้ รอให้พวกเราไปฟันหัวทีละคน ทัพหน้าข้าศึกไม่เหลือกลับไปแม้แต่คนเดียว นึกเอาก็แล้วกัน กำลังพลไม่หนีสามพัน แล้วไม่เหลือสักคน นี่งานเดียวนะ แล้วโยมคิดว่ากรรมขนาดนี้ เท่าที่เขาทวงอาตมาคุ้มแล้วหรือยัง ? หลวงพ่อวัดท่าซุงท่านบอกว่า อาตมาทำอย่างนี้มาทุกชาติ เพราะฉะนั้น..ชาตินี้จะป่วยเป็นปกติ ซึ่งอาตมาก็ยอมรับ เพราะว่าป่วยเป็นปกติ ท่านบอกว่าให้ไปปล่อยชีวิตสัตว์ที่เขาจะฆ่า อย่างเช่นพวกปูปลาในตลาดที่เขาขายเพื่อให้คนเอาทำอาหาร พวกนี้ตายแน่ ๆ เมื่อเป็นเช่นนั้นท่านบอกว่าให้ไปปล่อยชีวิตสัตว์พวกนี้เดือนละตัวสองตัว ให้ทำเป็นประจำ อาตมาก็กราบเรียนหลวงพ่อท่านว่า “ในเมื่อการปล่อยชีวิตสัตว์เป็นการต่ออายุ แล้วผมไม่อยากจะอายุยืนอยู่แล้ว ผมจะปล่อยทำไมครับ ?” ท่านบอกว่า “แกอย่าเพิ่งเข้าใจผิด การปล่อยชีวิตจะอายุยืนก็ต่อเมื่ออุปฆาตกรรมเข้ามาถึง ทำให้เราสามารถต่ออายุสืบไปได้ แต่ถ้าไม่มีอุปฆาตกรรมเข้ามา การที่เราปล่อยชีวิตสัตว์เป็นการชดเชยในการที่เราเคยฆ่าคน ฆ่าสัตว์ใหญ่ไว้ จะทำให้อาการเจ็บไข้ได้ป่วยจากเศษกรรมปาณาติบาตพวกนี้ลดลง” พูดง่าย ๆ ก็คือว่าจะโดนไม่หนัก อาตมาก็น้อมรับคำสั่งมาปฏิบัติ จำได้แม่นยำเลยว่าปล่อยครั้งแรกวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๙ ตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้เฉพาะปลาอย่างเดียวนับจำนวนไม่ถ้วน ไม่ได้นับถึงวัวถึงควายที่ปล่อยทุกเดือน วัวควายนี่ปล่อยตั้งแต่ราคาตัวละหมื่นบาท จนเดี๋ยวนี้ตัวละ ๒๓,๐๐๐ บาท ปล่อยเดือนละตัวสองตัวเป็นปกติ เหตุที่ปล่อยปลาจำนวนมากนับไม่ได้ เพราะว่าเป็นคนค่อนข้างจะใจอ่อน แต่ไม่รู้ฆ่าไปได้อย่างไรตั้งเยอะแยะ ที่ใจอ่อนก็คือไปเห็นปลาแล้ว ถ้าเราซื้อตัวนี้ ตัวโน้นก็ตาปริบ ๆ ซื้อกาละมังนี้ กาละมังโน้นก็มองหน้า ท้ายสุดก็เหมาหมดตลาดนั่นแหละ ปัจจุบันนี้ก็ยังปล่อยปลาอยู่ทุกเดือน ญาติโยมจะร่วมกันทำบุญมา การปล่อยปลาในปัจจุบันนี้ก็ตกหมื่นกว่าสองหมื่นบาทเป็นปกติ แล้วบรรดาแม่ค้าก็มักจะถามว่า จะมาอีกเมื่อไรให้บอกก่อน จะได้เตรียมปลาไว้ให้ จ้างอาตมาก็ไม่บอก เพราะถ้าเราโทรบอกจุดมุ่งหมายจะเปลี่ยน แทนที่จะเป็นปลาที่เขาขายไว้เพื่อฆ่า ก็จะเป็นปลาที่เขาเตรียมไว้ให้เราปล่อย อานิสงส์ที่เราจะพึงได้ตรงจุดนี้จะไม่มี พระครูวิลาศกาญจนธรรม บวชเนกขัมมะ ๑๐-๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๖ วัดท่าขนุน (๒) (ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยรัตนาวุธ) |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 05:06 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.