เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๔
ทุกคนนั่งในท่าที่สบายของตัวเอง กำหนดความรู้สึกทั้งหมดอยู่กับลมหายใจเข้าออกเฉพาะหน้าของเรา หายใจเข้าให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออกความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอย่างไรก็ได้ อยู่ที่เราถนัดและชำนาญ
สำหรับวันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นการปฏิบัติกรรมฐานวันสุดท้ายของต้นเดือน จาก ๒ วันที่ผ่านมา ได้กล่าวถึงสภาวะน้ำท่วมว่า เราจะต้องวางกำลังใจอย่างไร จึงสามารถที่จะปฏิบัติได้โดยที่ไม่เกิดความเครียดจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สำหรับวันนี้จะมาสรุปตรงที่ว่า เมื่อเราตั้งใจที่จะปฏิบัติแล้ว จะต้องเป็นคนที่มีความมั่นคง มีความพอใจที่จะปฏิบัติจริง ๆ หรือตามภาษาบาลีว่า ฉันทะ และมีความพากเพียรที่จะทำจริง ๆ ก็คือ วิริยะ มีกำลังใจปักมั่น แน่วแน่ต่อเป้าหมาย คือจิตตะ และไตร่ตรองทบทวนอยู่เสมอ ๆ คือวิมังสา เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ส่วนใหญ่เราทราบแล้วทุกคน แต่ยกตัวอย่างให้เห็นว่า ถ้าฉันทะคือความพอใจเกิดขึ้น เราจะมีความพากเพียรที่จะทำอย่างเต็มที่ไปด้วย เพราะในเมื่อพอใจที่จะทำแล้ว ก็จะตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติไปไม่ย่อท้อ อย่างอาตมาเองในสมัยที่ไปเรียนวิชาทหาร เขามีการฝึกยุทธวิธีการรบในเวลากลางคืน หลังจากที่เป่านกหวีดให้นอนตอน ๓ ทุ่ม พอ ๔ ทุ่มก็จะเป่านกหวีดปลุกให้ตื่น จากนั้นก็จะเข้าสู่บทเรียนไปเรื่อย ไม่ว่าจะเข้าป่าเข้าดงไปในลักษณะของการลาดตระเวน หาข่าว ซุ่มโจมตี แล้วแต่ว่าวันนั้นจะฝึกบทเรียนอะไร ส่วนใหญ่ก็จะเลิกประมาณตี ๒ พอกลับมาถึง หัวไม่ทันจะถึงหมอนก็หลับกลางอากาศไปแล้ว ตี ๕ เสียงนกหวีดปลุกให้ตื่นใหม่ เริ่มเข้าสู่วงจรการฝึกใหม่ ไปจบลงตรง ๓ ทุ่มเข้านอน แล้ว ๔ ทุ่มโดนปลุกไปอย่างนี้ทุกวัน จะเห็นได้ว่ามีเวลานอนตอนหัวค่ำ ๑ ชั่วโมง แล้วตอนใกล้สว่างอย่างมากก็ไม่เกิน ๓ ชั่วโมง ก็คือช่วงระหว่าง ตี ๒ ถึงตี ๕ อาตมาทราบดีว่าในระยะแรก ๆ นั้น ถ้าเราทิ้งการปฏิบัติ กำลังใจจะถอยหลังไปหารัก โลภ โกรธ หลง แล้วจะเอากำลังใจคืนได้ยาก ในเมื่อเรารักที่จะทำ รักที่จะปฏิบัติ ก็ต้องทุ่มเทให้กับการปฏิบัติ เมื่อเป็นดังนั้นก็ต้องตัดเวลานอนของตัวเอง คือชิงตื่นขึ้นมาในช่วงประมาณตี ๓ ถึงตี ๔ แล้วมานั่งภาวนา ในระหว่างที่ทำการฝึก ไม่ว่าจะเป็นการวิ่งหรือว่ากายบริหาร ก็ไม่ได้ทิ้งคำภาวนา โดยเฉพาะตอนวิ่งก็กำหนดคำภาวนาไปด้วย เท้าซ้ายพุท เท้าขวาโธ การที่เรากำหนดภาวนาไปด้วยก็ทำให้เราไม่เหนื่อยง่าย วิ่งได้นาน วิ่งได้ทนกว่าคนอื่นเขา |
สำหรับตัวอย่างอีกส่วนหนึ่งก็คือในช่วงที่ทำงาน อาตมาจะมีเวลาพักตั้งแต่ตอนเที่ยงถึงบ่ายโมงเท่านั้น เนื่องจากว่าเป็นงานที่ทำกันเองในครอบครัว ก็จะเริ่มตั้งแต่ ๖ โมงเช้า ได้พักกินข้าวกลางวันก็ตอนเที่ยง บ่ายโมงเริ่มต่อ แล้วไปเลิกเอาตอน ๖ โมงเย็น
ในระหว่างที่ทำงานสมาธิต้องจดจ่ออยู่กับงาน เพราะว่างานที่ทำคือการซ่อมรถ โดยเฉพาะการทำสีรถ ถ้าเผลอเมื่อไรจะเกิดความเสียหายขึ้น โดยเฉพาะตอนขัดสี สมัยก่อนไม่มีเครื่องขัดเหมือนสมัยนี้ ต้องขัดด้วยมือ ถ้าเผลอสติหน่อยเดียวก็จะทะลุจากพื้นผิวเข้าไปถึงสีชั้นใน ก็คือถึงสีรองพื้น เกิดตำหนิขึ้นมา ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ต้องเริ่มมาทำใหม่ ซ่อมใหม่ เสียเวลาแล้วก็เปลืองวัสดุอุปกรณ์มากขึ้น ทำให้ต้องทุ่มเทสติสมาธิอยู่กับงานตลอดเวลา ทำให้คิดว่าไม่ได้ภาวนา เพราะตอนนั้นไม่รู้ว่าสมาธิที่อยู่กับงานเป็นการภาวนาอยู่แล้ว ก็ต้องฉวยเวลาที่มีประมาณ ๑ ชั่วโมงตอนพักกลางวัน รีบกินอาหารกลางวันอย่างเร็วที่สุด ก็คือไม่เกิน ๑๐-๑๕ นาที เสร็จแล้วใช้ระยะเวลาที่เหลือในการภาวนา นี่คือตัวอย่างว่า ถ้าเราเกิดฉันทะคือความพอใจขึ้นแล้ว ก็ต้องมีวิริยะคือความพากเพียรตามมาด้วย เพราะว่าจิตตะ คือกำลังของเราปักมั่นแน่วแน่ต่อเป้าหมายแล้ว เรามั่นใจแล้วว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดีแน่ ก็ทุ่มเทให้สิ่งนั้นไป สำคัญที่สุดคือวิมังสา คือการไตร่ตรองทบทวนอยู่เสมอ จะช่วยให้เราได้รู้ว่าเราทำอะไร เพื่ออะไร ขณะนี้ทำไปถึงไหนแล้ว ยังเหลืออีกมากน้อยเท่าไร ตรงตามเป้าประสงค์แต่แรกหรือไม่ การทบทวนอย่างนี้จะทำให้เราปฏิบัติได้ไม่ผิดพลาด ตรงต่อเป้าหมาย และสัมฤทธิ์ผลตามที่ปรารถนาได้โดยง่าย ดังนั้นใน ๒ วันที่ผ่านก็ได้กล่าวถึงสภาวะจิตใจที่ต้องเครียดจากน้ำที่ท่วมเข้ามาทุกทิศทุกทาง แต่เราจะทิ้งการปฏิบัติไม่ได้ เพราะการปฏิบัติคือตัวผ่อนคลายความเครียดที่ดีที่สุด แล้วให้เราทุ่มเทกับการปฏิบัติโดยรักษาสภาพจิตให้มั่นคงอยู่ในอิทธิบาทธรรมทั้ง ๔ ก็คือฉันทะมีความพอใจที่จะปฏิบัติในธรรมะเหล่านี้ วิริยะมีความพากเพียรทุ่มเทให้กับการปฏิบัติโดยไม่ย่อท้อ จิตตะมีความแน่วแน่ต่อเป้าหมาย ไม่แปรผันเป็นอื่น วิมังสามีการไตร่ตรองทบทวนอยู่เสมอว่าเราทำอะไร ไปถึงจุดใดแล้ว ถ้าหากว่าทุกคนสามารถทำตรงนี้ได้ ความเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติก็จะปรากฏให้เห็น และโดยเฉพาะว่าพวกเราทั้งหมดตั้งความปรารถนาเอาไว้ว่าเรามีพระนิพพานเป็นที่ไป |
ดังนั้น..ในส่วนของการปฏิบัติตามกติกาเพื่อจะไปสู่พระนิพพาน ก็ต้องเอาตามแบบที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดท่าซุงท่านได้สอนเอาไว้ คือให้เคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างแน่นแฟ้นจริงจัง ไม่ล่วงเกินด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
ให้รักษาศีลทุกสิกขาบทให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่ละเมิดศีลด้วยตัวเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีล และไม่ยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นละเมิดศีล ท้ายสุดเป็นการใช้ปัญญา ก็คือรู้ตัวอยู่เสมอว่าเราจะต้องตาย ถ้าหากว่าตายเราขอไปพระนิพพานแห่งเดียวเท่านั้น ถ้ากำลังใจของเรามั่นคงอย่างนี้ ก็ให้จับลมหายใจเข้าออกภาวนาต่อไป เพื่อสร้างความเข้มแข็งมั่นคงให้กำลังใจยิ่ง ๆ ขึ้นไป สำหรับตอนนี้ก็ให้ทุกคนกำหนดใจจดจ่ออยู่กับลมหายใจและคำภาวนาของตน ผู้ใดจับภาพพระ ก็ให้ภาพพระไหลตามลมหายใจเข้าออกของตนไป หรือท่านที่ยกจิตไปเกาะพระนิพพาน ก็ให้แน่วแน่มั่นคงกับภาพพระบนพระนิพพานนั้น ถ้ายังมีลมหายใจอยู่ เราก็กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกไปด้วย มีคำภาวนาอยู่ก็ให้กำหนดคำภาวนาไปด้วย ถ้าหากว่าไม่มีลมหายใจ ไม่มีคำภาวนา ก็กำหนดรู้อยู่ว่าตอนนี้ไม่มีลมหายใจ ตอนนี้ไม่มีคำภาวนา อย่าอยากให้เป็นอย่างนั้น และอย่าอยากให้หายจากอาการอย่างนั้น เราทำตัวเหมือนคนดูที่อยู่ห่าง ๆ มีหน้าที่รับรู้เอาไว้เท่านั้นเป็นพอ สภาพจิตจะค่อย ๆ ดิ่งลึกเข้าไปสู่องค์สมาธิเบื้องสูงมากกว่านั้น ลำดับนี้ก็ให้ทุกคนภาวนาและพิจารณาไปตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้ยินเสียงสัญญาณบอกว่าหมดเวลา พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี วันอาทิตย์ที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ |
สามารถรับชมได้ที่
http://www.sapanboon.com/vdo/demo.ph...ame=2554-11-06 ป.ล. - สามารถชมบนไอโฟนและแอนดรอยด์ได้ - ห้ามคัดลอกไฟล์ไปเผยแพร่ที่อื่นเด็ดขาด ! |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 07:00 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.