![]() |
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔
ทุกท่านขยับตัวนั่งในท่าที่สบาย กำหนดความรู้สึกทั้งหมดอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกของเรา อันดับแรกหายใจเข้าออกยาว ๆ เพื่อระบายลมหยาบทิ้งสัก ๒-๓ ครั้ง หลังจากนั้นก็ปล่อยให้หายใจตามปกติ เพียงแต่เรากำหนดความรู้สึกตามเข้าไป กำหนดความรู้สึกตามออกมา ถ้าคิดถึงเรื่องอื่นเมื่อใดก็ให้ดึงความรู้สึกทั้งหมดมาอยู่กับลมหายใจเข้าออกของเรา จะใช้คำภาวนาหรือพิจารณาอย่างไรก็ได้ตามที่เราถนัด
สำหรับวันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔ เป็นการปฏิบัติกรรมฐานประจำเดือนพฤษภาคมวันสุดท้ายของพวกเรา เมื่อใช้คำว่าวันสุดท้าย ก็ขอให้พวกเราเข้าใจด้วยว่า การที่พวกเราดำรงชีวิตอยู่นั้น แม้แต่คิดว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายก็ยังเป็นความประมาทจนเกินไป เพราะวันหนึ่งมีถึง ๒๔ ชั่วโมง จะว่าไปแล้วก็คือ ชีวิตของเรามีแค่ลมหายใจเข้าออกเท่านั้น หายใจเข้าถ้าไม่หายใจออกก็ตายแล้ว หายใจออกถ้าไม่หายใจเข้าก็ตายแล้ว เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนา ได้ฟังธรรมแล้วเกิดความเลื่อมใส ปฏิบัติตามธรรมะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ แปลว่าเราเป็นผู้ที่มีบุญญาบารมีมาเพียงพอต่อการไปพระนิพพานแล้ว ถ้าหากว่าเราละทิ้งโอกาสนี้ไป ก็เป็นสิ่งที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่แน่ว่าเราจะได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนาอีก ไม่แน่ว่าเราจะเกิดมาพบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีก และการเกิดแต่ละชาติล้วนเต็มไปด้วยความทุกข์ทั้งสิ้น ดังนั้น..เราจึงต้องฉวยโอกาสในชาตินี้ ปัจจุบันนี้ ตอนนี้ เดี๋ยวนี้ กอบโกยความดีใส่ตัวให้มากที่สุด |
โดยเฉพาะพยายามใช้ปัญญาของเรา พิจารณาให้เห็นชัดเจนว่า ร่างกายของเรานี้มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีการเปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปในท่ามกลาง และมีความสลายไปในที่สุด ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอนแม้แต่อย่างเดียว
ระหว่างที่ดำรงชีวิตอยู่ก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ทุกข์ของการเกิด ทุกข์ของการแก่ ทุกข์ของการเจ็บ ทุกข์ของการตาย ทุกข์ของการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ทุกข์ของความปรารถนาที่ไม่สมหวัง ทุกข์ของการกระทบกระทั่งอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ ตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นมาจนหลับตาลงไป เราดำเนินชีวิตอยู่ในกองทุกข์ที่แผดเผาเราให้เร่าร้อนอยู่ตลอดเวลา แล้วท้ายที่สุดร่างกายนี้ก็เสื่อมสลายตายพังคืนแก่โลกไป ไม่สามารถที่จะยึดถือเป็นตัวเป็นตนของเราให้มั่นคงได้ ในเมื่อสภาพร่างกายของเราเป็นอย่างนี้ ร่างกายของคนอื่นเป็นอย่างนี้ วัตถุธาตุทุกอย่างก็เป็นอย่างนี้ ก็แปลว่าไม่ว่าจะเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุธาตุ เป็นสิ่งของใด ๆ ก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีความไม่เที่ยง มีความเป็นทุกข์ ไม่มีอะไรดำรงอยู่ได้ในลักษณะเป็นเราเป็นของเราให้ยึดถือมั่นหมายเลย เมื่อเป็นดังนี้เราควรจะไปที่ใด ก็ต้องตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ ว่าสถานที่เดียวที่เป็นเอกันตบรมสุข พ้นจากความทุกข์ทั้งปวงคือพระนิพพาน บุคคลที่จะไปสู่พระนิพพานได้นั้น จะต้องตัดสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ประการให้ขาดสิ้นไปให้ได้ โดยอันดับแรก ต้องยึดหัวหาดด้วยการตัดสังโยชน์ทั้ง ๓ ข้อให้ได้ก่อน สังโยชน์ทั้ง ๓ ข้อก็คือ สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าร่างกายนี้เป็นเราเป็นของเรา และเคยสอนกันมากแล้วว่า สภาพร่างกายนี้เป็นเพียงธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ประกอบกันขึ้นมาเป็นร่างกาย ให้เราอยู่อาศัยเพียงชั่วคราว ถึงเวลาก็เสื่อมสลายตายพังไป กลับคืนเป็นสมบัติของโลกไปตามเดิม ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเราเลย |
ข้อที่สอง คือวิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยไม่เชื่อมั่นในคุณของพระรัตนตรัย อย่าให้มีขึ้นในจิตในใจของเรา เราเองเกิดมาจนบัดนี้ สร้างความดีมาจนบัดนี้ ขึ้นชื่อว่าความลังเลสงสัยนั้นมีน้อยมากแล้ว ถ้าหากว่าเราลังเลสงสัยเราก็ไม่เข้ามาปฏิบัติอย่างนี้
เมื่อเป็นดังนี้ก็ฉวยกำไรตรงนี้เอาไว้ โดยการทำความเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ให้แน่นแฟ้นจริงจัง ไม่ล่วงเกินด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ประการสุดท้ายคือ สีลัพพตปรามาส การรักษาศีลอย่างไม่จริงไม่จัง การที่เราจะรักษาศีลนั้น นอกจากไม่ละเมิดศีลด้วยตัวเองแล้ว ยังต้องไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีล ไม่ยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นได้ละเมิดศีลไปแล้ว พูดง่าย ๆ ว่าเรายอมให้ตัวตายดีกว่าศีลขาด ถ้าทุกท่านสามารถทำดังนี้ได้เป็นปกติ ก็แสดงว่าท่านสามารถที่จะยึดหัวหาด ก็คือก้าวแรกของการเข้าสู่พระนิพพานได้ นั่นคือความเป็นพระโสดาบัน ลำดับต่อไปเราก็ก้าวขึ้นสู่ความเป็นพระสกทาคามี ก็คือการที่เราพิจารณาละรัก โลภ โกรธ หลงของเราให้น้อยลง ด้วยการควบคุมทั้งวาจาและใจของเราไปด้วย วาจานอกจากไม่พูดโกหกแล้ว ยังไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดวาจาเพ้อเจ้อไร้ประโยชน์ ใจของเราไม่โลภอยากได้จนเกินพอดี ต้องการสิ่งใดก็หามาให้ถูกต้องตามศีลตามธรรม ไม่อาฆาตพยาบาทผู้อื่น สามารถที่จะโกรธได้ แต่โกรธแล้วให้ลืมเสีย อย่าเก็บเอาไว้ในใจ และท้ายสุดมีความเห็นเป็นสัมมาทิฏฐิ ว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนมานั้นเป็นสิ่งที่ดีทั้งสิ้น เราตั้งใจทำตามด้วยความเคารพ และที่สำคัญคือรู้ตัวอยู่เสมอว่าเราจะต้องตาย ถ้าตายเมื่อไรเราขอไปพระนิพพานแห่งเดียว |
ถ้าบุคคลใดสามารถก้าวขึ้นสู่ระดับสูงกว่านั้น คือความเป็นพระอนาคามี การพิจารณาในเบื้องต้นก็เหมือนกัน เพียงแต่ว่าสมาธิจะต้องเข้มข้นมากขึ้น ต้องทรงได้ถึงระดับฌาน ๔ คล่องตัว ถึงจะมีกำลังพอที่จะใช้ในการตัดราคะและโทสะได้ทันท่วงที
พระอนาคามีนั้นไม่เห็นความสวยความงามในร่างกายนี้เลย เห็นแต่ความสกปรกโสโครก เห็นแต่ความเป็นจักรกล เห็นความเป็นชิ้น เป็นแท่ง เป็นก้อน เป็นอัน ไม่ได้โดนเนื้อหนังมังสาภายนอกหลอกลวงได้ สามารถที่จะตัดราคะ อารมณ์ระหว่างเพศ โทสะ ความโกรธความเกลียดคนอื่น ลงได้อย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะในส่วนละเอียดก็คือรูปราคะและอรูปราคะ ความยินดีในรูปซึ่งหมายถึงรูปฌาน ความยินดีในอรูปหมายถึงอรูปฌาน ซึ่งเป็นอารมณ์ละเอียด ปฏิบัติได้แล้วมีความสุข ไปเพลิดเพลินหลงติดอยู่ ผู้ที่เป็นพระอนาคามีนั้น ท่านยังคงใช้รูปฌานและอรูปฌานเป็นปกติตามที่ตนทำได้ แต่ส่งกำลังใจนั้นไปเกาะพระนิพพานแทน ก็แปลว่าท่านไม่ได้ติดในรูปฌานและอรูปฌาน แต่อาศัยฌานทั้ง ๒ ประการนั้นเป็นบันไดก้าวไปสู่พระนิพพาน ถ้าผู้ใดสามารถทำได้สูงกว่านั้นอีก ก็ตัดมานะ ความถือตัวถือตนว่าดีกว่าเขา เลวกว่าเขา หรือเสมอเขาลงได้ เห็นว่าทุกคนล้วนแล้วแต่เป็นรูปเป็นนาม หรือสักแต่ว่าเป็นธาตุประกอบกันขึ้นมา ไม่มีสิ่งใดที่แตกต่างกันไปเลย ท้ายสุดก็เสื่อมสลายตายพังไปเช่นกัน เมื่อเห็นชัดเจนดังนั้นก็จะหมดมานะ ไม่มีความถือเนื้อถือตัวอยู่ กำลังใจมุ่งตรงจดจ่อแน่วแน่อยู่ที่เป้าหมายคือพระนิพพานแห่งเดียว ไม่ฟุ้งไปสู่อารมณ์อื่น เท่ากับตัดตัวอุทธัจจะความฟุ้งซ่านไปได้ ก็เหลือเพียงลำดับสุดท้ายคืออวิชชา ซึ่งถ้าแยกออกแล้วเป็น ๒ ศัพท์ คือฉันทะความยินดีและพอใจในสิ่งต่าง ๆ แล้วก็ราคะ ความอยากมีอยากได้ เพราะฉะนั้น..เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส ก็ให้หยุดเอาไว้แค่ตรงนั้น เพียงสักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยิน สักแต่ว่าได้กลิ่น สักแต่ว่าได้รส สักแต่ว่าสัมผัส ไม่ครุ่นคิด ไม่นำเข้ามาสู่ใจ ถ้าเราหยุดอยู่ตรงนั้นได้ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ก็ไม่สามารถที่จะทำอันตรายเราได้ อวิชชาทั้งหลายก็ไม่สามารถจะร้อยรัดเราอยู่ได้ เพราะเราไม่ยินดียินร้ายด้วย ถ้าท่านทำดังนี้ได้ ก็สามารถที่จะก้าวเข้าสู่พระนิพพานได้อย่างเต็มภาคภูมิ |
ดังนั้นท่านทั้งหลายต้องเข้าใจว่า อันดับแรก เรื่องของลมหายใจเข้าออกนั้น เราจะทิ้งไม่ได้ เพราะเป็นพื้นฐานใหญ่ที่จะสะสมกำลัง ช่วยในการกดกิเลสและตัดกิเลสได้
อันดับที่ ๒ พุทธานุสติหรืออุปสมานุสติต้องเกาะไว้ให้มั่น ตอนแรกเราต้องเกาะไปก่อน ถ้าเราไม่มีที่เกาะ เราก็ไม่มีอะไรจะปล่อย เหมือนกับบุคคลที่ขึ้นสู่ที่สูง ก็ย่อมหาสิ่งที่เกาะเพื่อความมั่นคง แต่เมื่อถึงจุดหมายปลายทางเราก็ปล่อยวางการเกาะนั้นไปเอง ประการสุดท้าย รู้ตัวอยู่เสมอว่าเราจะต้องตาย ให้ปักใจแน่วแน่อยู่ที่เดียวว่า ถ้าตายแล้วขอไปพระนิพพาน หลายท่านปฏิบัติไปถึงระดับอยากจะตายแล้วคิดว่าดี อาตมาขอยืนยันว่าคนที่อยากตายนั้นจิตใจเศร้าหมอง ตายตอนนั้นไม่ได้ไปดีแน่ คนที่ทำถึงจริง ๆ เขาไม่ได้อยากตาย แต่เขาพร้อมที่จะตาย กำลังใจจะอยู่ในลักษณะว่า อยู่ก็ได้ ตายก็ดี อยู่เราก็ได้สร้างบุญสร้างบารมี ตายเราก็ได้ไปนิพพาน ให้ทุกคนวางกำลังใจลักษณะอย่างนี้ โดยเฉพาะให้ส่งกำลังใจเกาะภาพพระ หรือเกาะพระนิพพานของเราเอาไว้เป็นปกติ ถ้ายังมีลมหายใจเข้าออกอยู่ ให้กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ถ้ายังมีคำภาวนาอยู่ ให้กำหนดรู้คำภาวนา ถ้าไม่มีลมหายใจเข้าออก ไม่มีคำภาวนา ก็ให้กำหนดรู้ว่าตอนนี้ไม่มีลมหายใจเข้าออก ไม่มีคำภาวนา อย่าไปดิ้นรนอยากจะหายใจใหม่ แค่กำหนดรับรู้เอาไว้เฉย ๆ ให้รักษาอารมณ์ดังนี้เอาไว้ จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี วันอาทิตย์ที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔ |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 01:51 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.