กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=39)
-   -   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๔ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=2620)

เถรี 20-04-2011 16:21

เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๔
 
ทุกคนขยับนั่งในท่าที่สบายของตัวเอง ส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือ เมื่อเรานั่งตัวตรงแล้ว ให้กำหนดความรู้สึกทั้งหมดอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า..กำหนดความรู้สึกไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก..กำหนดความรู้สึกทั้งหมดของเราไหลตามลมหายใจออกมา ถ้าจิตไปคิดถึงเรื่องอื่น รู้ตัวเมื่อไรก็ให้ดึงกลับมาอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกนี้เท่านั้น

วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๔ เมื่อเช้ามืดอาตมาได้นำหนังสือไปส่งมอบให้ท่านอาจารย์พระมหาณรงค์ศักดิ์ ฐิติญาโณ ที่วัดใหม่ยายแป้น เพราะว่าพระอาจารย์ท่านจัดงานสาธยายพระไตรปิฎกเฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ ๕๖ พรรษา

หากเรามาดูว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีนั้น ทรงเจริญพระชนมพรรษามาถึงป่านนี้แล้ว ถ้าเป็นคนทั่ว ๆ ไปก็อีก ๔ ปี จะเกษียณอายุราชการแล้ว

จากที่พวกเราได้เห็นพระองค์ท่าน ตั้งแต่ยังเป็นเจ้าหญิงพระองค์น้อย ๆ จนกระทั่งเติบโตขึ้นมา จบการศึกษา ทรงสนองงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จไปเหนือไปใต้ ทุ่มเทการงานทุกอย่างเพื่อความสุขของมหาชนทั่วทั้งประเทศ โดยที่ไม่ได้ดูแลใส่ใจพระองค์เองเลยแม้แต่น้อย

เราจะได้เห็นว่าในเรื่องของการแต่งองค์ทรงเครื่องของพระองค์ท่าน ก็แค่พอออกสังคมได้ ไม่ให้คนตำหนิว่าเอาได้เท่านั้น แต่ว่าไม่ได้ใส่ใจในความสวยความงามเช่นคนทั่วไป

การที่จะปล่อยวางในสภาพสังขารให้ได้อย่างพระองค์ท่าน ลองมาคิดดูว่าถ้าเป็นพวกเรา เราจะทำได้หรือไม่ ? เราอาจจะไม่เคยเห็นพระองค์ท่านทรงสมาธิ อย่างดีก็เห็นพระองค์ท่านเสด็จไปประกอบกองบุญกองกุศลตามวาระ แต่ว่าพระองค์ท่านทรงศีล ทรงสมาธิ ทรงปัญญาเป็นปกติ ถึงขนาดสามารถปล่อยวางสภาพร่างกายได้

จะทรุดโทรมอย่างไรก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เป็นธรรมดาของร่างกายนี้ ไม่มีอะไรที่จะต้องขายหน้า ไม่มีอะไรที่จะต้องกลัวคนอื่นเขามาว่า สภาพร่างกายมีความแก่เป็นธรรมดา ก็ปล่อยให้แก่ไป เจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาก็รักษาไปตามสภาพ จะหายก็หาย ถ้าไม่หายก็ช่างมัน

สิ่งที่สำคัญก็คือ หน้าที่การงานที่ทรงอยู่ตลอดเวลา เพื่อความสุขโดยรวมของประชาชนทั้งประเทศ

เถรี 21-04-2011 06:39

ถ้าเราพิจารณาในเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ ก็จะเห็นว่า นี่คือการปฏิบัติธรรมที่แท้จริง การปฏิบัติธรรมที่แท้จริงนั้น ไม่ใช่ว่าต้องมานั่งหลับตาทำสมาธิกัน หากแต่ว่าปรับเอาการปฏิบัติธรรมนั้น ไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับการปฏิบัติหน้าที่การงานของตน

อย่าลืมว่า ธรรมะนั้นแปลได้หลายศัพท์ด้วยกัน จะแปลว่า ธรรมชาติก็ได้ จะแปลว่าความดีความงามก็ได้ ในขณะเดียวกัน ถ้าหากว่า เราตั้งใจจะแปลจริง ๆ คำว่า ธรรมะ ก็ยังแฝงความหมายเอาไว้อีกหลายอย่างหลายประการ เพราะว่า ธรรมะ สามารถแปลได้อย่างหนึ่งว่า การปฏิบัติหน้าที่ การทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด

พวกเราจึงต้องมาดูตัวเองว่า เราได้กระทำตามปฏิปทาที่พระองค์ท่านได้กระทำให้เห็นบ้างหรือไม่ ? คือเราได้ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดแล้วหรือไม่ ? ในหน้าที่ของความเป็นลูก เราได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนต่อพ่อแม่ อย่างสุดความสามารถแล้วหรือไม่ ? ในหน้าที่ของความเป็นพี่เป็นน้อง เราทำหน้าที่ของความเป็นพี่น้อง อย่างสุดความสามารถของเราแล้วหรือไม่ ?

เมื่อขึ้นมาถึงหน้าที่ของคนเป็นพ่อเป็นแม่ เราทำหน้าที่ของความเป็นพ่อเป็นแม่ อย่างเต็มสติกำลังแล้วหรือไม่ ? ถ้าก้าวสูงขึ้นไปอีก คือหน้าที่ของความเป็นปู่ย่าตายาย ความเป็นครูบาอาจารย์ เราได้กระทำหน้าที่ทั้งหลายเหล่านั้น อย่างเต็มที่เต็มกำลังแล้วหรือไม่ ?

โดยเฉพาะหน้าที่ซึ่งสำคัญที่สุด คือหน้าที่ของพุทธศาสนิกชน หน้าที่ของความเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส ซึ่งเราจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

นอกจากกระทำให้เกิดผลต่อตัวเองแล้ว ยังต้องนำผลนั้นไปเผยแผ่ เพื่อยังให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองต่อไป ถึงแม้ว่าจะไม่ได้นำธรรมนั้นไปสั่งสอนผู้อื่นโดยตรง เราก็ต้องปฏิบัติอย่างที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติเป็นตัวอย่างให้เราเห็น ก็คือทำตัวเป็นตัวอย่างแก่บุคคลอื่นเขา ทำในลักษณะที่ไม่ต้องมาจ้ำจี้จ้ำไช สั่งสอน หากแต่ว่าทำให้ดู อยู่ให้เห็น

เถรี 21-04-2011 18:43

สิ่งที่หลายเหล่านี้ เราได้กระทำเต็มที่แล้วหรือไม่ ? เราลองมาประเมินทบทวนตนเองว่า เป้าหมายในการปฏิบัติของเราคือพระนิพพาน เครื่องมือที่จะวัดว่าเราปฏิบัติตรงตามหลักคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือไม่นั้น มีหลายต่อหลายอย่างด้วยกัน มีทั้งเครื่องมือที่ไม่ดี แต่เป็นเครื่องวัดที่ดี และมีเครื่องมือที่ดี ซึ่งใช้เป็นเครื่องวัดได้ดีอย่างยิ่ง

อย่างเช่นว่า นิวรณ์ ๕ ประการ คือความยินดีในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ ๑ ความโกรธเกลียด อาฆาตพยาบาทผู้อื่น ๑ ความง่วงเหงาหาวนอน ขี้เกียจในการปฏิบัติ ๑ ความฟุ้งซ่าน อารมณ์ใจไม่ตั้งมั่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ๑ และความลังเลสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ๑

สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นความไม่ดีทั้งสิ้น แต่เราใช้เป็นเครื่องวัดตนเองได้ว่า ถ้าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มีอยู่ในจิตในใจของเรา แสดงว่าเราสอบตก การประเมินครั้งนี้ เราไม่สามารถที่จะก้าวข้ามไปได้ แต่ถ้ากำลังใจของเราในปัจจุบันไม่มีนิวรณ์ ๕ แสดงว่ากำลังใจของเราอยู่ในข้างดีมากกว่า ก็ถือว่าสอบได้ แต่ว่ายังได้แค่ระดับโลกียะเท่านั้น

เครื่องมือวัดในส่วนต่อไปคือ ศีล ๕ เราลองทบทวนดูว่า ในแต่ละวัน ศีลทั้ง ๕ สิกขาบท หรือว่าท่านใดรักษาศีล ๘ ก็ศีลทั้ง ๘ สิกขาบทของเรา สมบูรณ์บริบูรณ์แล้วหรือไม่ ? เรารักษาศีลด้วยตนเองได้สมบูรณ์แล้วหรือไม่ ? เมื่อเรารักษาด้วยตนเองได้สมบูรณ์แล้ว เรายังไปยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีลหรือไม่ ? เรารักษาศีลด้วยตนเองได้สมบูรณ์แล้ว ไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีลแล้ว แต่เราเห็นบุคคลอื่นละเมิดศีล เรามีความยินดีบ้างหรือไม่ ?

ถ้าหากว่ามีส่วนใดส่วนหนึ่งบกพร่อง การประเมินการปฏิบัติของตนก็แปลว่าสอบตก แต่ว่าไม่ต้องไปเสียกำลังใจ ไม่ต้องไปสมาธิตก กำลังใจตก เพราะว่าเป็นเรื่องปกติของบุคคลที่มีสติสัมปชัญญะยังไม่สมบูรณ์ ก็ต้องมีผิดพลาดบ้าง แต่ให้เราตั้งใจใหม่ในเวลานั้น เดี๋ยวนั้น เลยว่า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เราจะเป็นผู้มีศีลทุกสิกขาบทบริสุทธิ์บริบูรณ์ แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาระมัดระวังรักษาของเราต่อไป

เถรี 22-04-2011 07:52

ส่วนตัวชี้วัดอีกตัวหนึ่งนั้นก็คือ กิเลสใหญ่ที่เรียกว่าสังโยชน์ เครื่องร้อยรัดให้เราติดอยู่ในวัฏสงสาร มีอยู่ทั้งหมด ๑๐ ประการด้วยกัน เราเอาแค่ ๓ ประการแรกก็พอ

สังโยชน์ข้อที่ ๑ คือ สักกายทิฐิ ความเห็นว่าร่างกายนี้เป็นเราเป็นของเรา มีตัวกูของกูอยู่อย่างเต็มที่ เราพิจารณาดูอย่างไม่เข้าข้างตนเองแล้ว เห็นว่าสังโยชน์ข้อนี้ของเรา ยังยึดครองจิตใจของเราอยู่หรือไม่ ? ถ้ายังยึดครองจิตใจของเราอยู่ ก็ต้องรีบสลัดตัดทิ้งไปให้เร็วที่สุด เพื่อที่เราจะได้ก้าวล่วงเข้าไปสู่ความดีให้มากกว่านี้

สังโยชน์ข้อที่ ๒ คือ วิจิกิจฉา หน้าตาเหมือนกับวิจิกิจฉาในส่วนของนิวรณ์ ๕ คือความลังเลสงสัย ไม่เชื่อมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่เชื่อมั่นในหลักปฏิบัติที่หลักที่ครูบาอาจารย์สั่งสอน ในเมื่อมัวแต่โลเลอยู่ ไม่เริ่มลงมือปฏิบัติเพื่อพิสูจน์ทราบเสียที เราก็ไม่ได้รับผลที่ควรจะได้อย่างน่าเสียดาย

ถ้าหากว่าสังโยชน์ข้อนี้มีอยู่ในใจของเรา ต้องรีบขับไล่ให้พ้นไป แล้วก็เร่งปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญา ของเราให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น เพื่อที่จะได้ก้าวพ้นไปจากเครื่องร้อยรัดตัวนี้

สังโยชน์ข้อที่ ๓ คือ สีลัพพตปรามาส การรักษาศีลแบบไม่จริงไม่จัง รักษาศีลแบบลูบ ๆ คลำ ๆ ไม่ยอมทุ่มเทแม้ด้วยชีวิต การรักษาศีลต้องทำให้ได้ถึงระดับตัวตายดีกว่าศีลขาด ไม่อย่างนั้นแล้ว กำลังใจที่เด็ดขาดไม่พอ ทำให้กิเลสแทรกแฝงเข้ามาได้ง่าย แต่ถ้าเรายอมสละแม้ชีวิต กำลังใจขนาดนั้น เรามีสิทธิ์ที่จะหลุดพ้นได้ เพราะว่าไม่มีอะไรที่เรารักไปยิ่งกว่าตัวตนนี้อีกแล้ว

ในเมื่อร่างกายนี้ ตัวตนนี้เรายังสละละทิ้งได้ ชีวิตนี้เรายังสามารถตัดทิ้งได้เพื่อการปฏิบัติ ก็แปลว่า เราสามารถที่จะหลุดพ้นจากร่างกายนี้ได้ จุดมุ่งหมายของเราก็สามารถที่จะหวังได้ นั่นคือพระนิพพาน

เมื่อทุกคนตรวจสอบตนเอง ไม่ว่าจะโดยอาศัยสิ่งที่ไม่ดี ก็คือนิวรณ์ ๕ หรือสังโยชน์ ๑๐ ก็ดี หรือว่าอาศัยสิ่งที่ดี คือศีล ๕ ศีล ๘ ของเราก็ดี ประเมินตนเองแล้วเรายังเห็นว่าบกพร่อง ก็ต้องเร่งการปฏิบัติให้มาก ประเมินแล้วเราไม่บกพร่อง ก็จำเป็นที่จะต้องเร่งการปฏิบัติเช่นกัน เพื่อก้าวไปสู่จุดหมายคือพระนิพพานของเรา

เมื่อมาถึงตรงจุดนี้แล้ว หากว่าท่านทั้งหลายยังมีลมหายใจอยู่ ก็กำหนดรู้ลมหายใจไป มีคำภาวนาอยู่ ก็กำหนดรู้ในคำภาวนา ถ้าไม่มีลมหายใจ ไม่มีคำภาวนา ก็กำหนดรู้เฉย ๆ ว่าตอนนี้ไม่มีลมหายใจ ไม่มีคำภาวนา อย่าไปดิ้นรนอยากให้เป็นอย่างนั้น และอย่าไปดิ้นรนเพื่อให้หลุดพ้นจากสภาพอย่างนั้น

เรามีหน้าที่กำหนดรับรู้ไว้เฉย ๆ สภาพจิตจะดำเนินไปตามสมาธิที่ลึกไปตามลำดับนั้นเอง ขอให้ทุกคนตั้งใจกำหนดดู กำหนดรู้ อย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้รับสัญญานบอกว่าหมดเวลา


พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันเสาร์ที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๔


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 07:03


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว