กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=43)
-   -   อุปาทานและอคติ ๔ (ตัวเดียวกัน) (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=2335)

ลัก...ยิ้ม 17-12-2010 09:29

อุปาทานและอคติ ๔ (ตัวเดียวกัน)
 
อุปาทานและอคติ ๔ (ตัวเดียวกัน)


สมเด็จองค์ปฐม ทรงพระเมตตาตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ มีความสำคัญดังนี้

๑. “กฎของกรรมนั้นเที่ยงอยู่เสมอ ไม่ว่าจักเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว การมีชีวิตอยู่ในวัฏฏสงสารย่อมไม่พ้นกฎของกรรมตามส่งผล

๒. “จิตของบุคคลผู้ไม่หมดจากกิเลส ย่อมหวั่นไหวไปตามผลของกฎของกรรมนั้น ๆ ที่มากระทบ กรรมดีปรากฎแก่ตนก็ย่อมจักดีใจ กรรมชั่วปรากฎแก่ตนก็ย่อมจักเสียใจ จัดเป็นความหวั่นไหว อันเป็นธรรมดาของบุคคลที่ยังไม่เข้าถึงพระอรหัตผล เรียกว่ายังไม่พ้นอุปาทานและอคติ ๔ นั้นแหละเจ้า ตัวเดียวกัน”

๓. “เพราะฉะนั้นจงศึกษากฎของกรรม อย่าตำหนิกรรมเพราะพวกเจ้าเองก็ยังไม่หมดอุปาทาน เมื่ออุปาทานมี อคติ ๔ ก็ยังหมดไปไม่ได้เช่นกัน ดูอารมณ์จิตของตนเองเข้าไว้ให้ดี ๆ อย่าหลงอารมณ์ของตนเอง ตราบใดที่ยังมีอารมณ์พอใจกับไม่พอใจอยู่ ก็ยังเป็นแค่อนาคามีมรรค ยังไม่ถึงผล สังโยชน์เบื้องสูงอีก ๕ ข้อ ก็ยังไม่หมด ดังนั้น อย่าพึงคิดว่าตนเองดี อย่าพึงตำหนิใคร จักเป็นเหตุให้ตนเองสิ้นความดีเพราะมีความประมาทในกรรมทั้งปวง

๔. “การที่จักให้เข้าถึงความหมดอุปาทาน หรืออคติ ๔ นั้น จักต้องไม่วางอารมณ์กำหนดรู้ในอริยสัจ ๔ หรือกำหนดรู้กฎของกรรมทั้งปวง คือ รู้ทั้งกรรมที่เป็นกุศล-อกุศลและอัพยากฤต รู้ผลของกรรมทั้ง ๓ ประการ ที่ส่งผลแก่มนุษยโลก พรหมโลก เทวโลก และอบายภูมิ ๔ อยู่เนือง ๆ”

ลัก...ยิ้ม 20-12-2010 14:15

๕. “แม้ในขณะนี้พวกเจ้าเองก็ยังอยู่ในกฎของกรรมทั้ง ๓ ประการส่งผลอยู่ ให้หมั่นตรวจสอบอารมณ์จิตอยู่เสมอก็จักรู้ว่ากรรมดีส่งผล จิตพวกเจ้าก็ยังยินดีมีความพอใจอยู่ กรรมชั่วส่งผลจิตของพวกเจ้าก็ยังเศร้าหมองมีความไม่พอใจอยู่ และในบางขณะกรรมไม่ชั่ว-ไม่ดีส่งผล จิตของพวกเจ้าก็มีความสบายไม่สุข-ไม่ทุกข์ แต่ก็ยังมีความประมาทอยู่ เพราะกรรมหรือธรรมอัพยากฤตยังมีกำลังอ่อน ไม่ใช่ขั้นของพระอนาคามีหรือเต็มระดับอย่างพระอรหันต์ เป็นสังขารุเบกขาญาณยังไม่ได้ เพราะยังเฉยไม่จริง”

๖. “อย่ามองใครว่าผิดหรือถูก อย่ามองใครว่าชั่วหรือว่าดี จงมองให้ทะลุถึงกฎของกรรมทั้ง ๓ ประการนั้น ๆ และคำนึงถึงความจริงเอาไว้เสมอ กรรมใดใครก่อ ผลแห่งกรรมนั้นย่อมตกอยู่แก่บุคคลนั้น ๆ และกรรมใครกรรมมัน เตือนจิตตนเองให้ยอมรับอยู่อย่างนี้เสมอ ให้ยอมรับจริง ๆ มิใช่สักเพียงแต่ว่าคิด ยอมรับเพียงชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งเป็นอารมณ์ยอมรับหลอก ๆ อย่างนั้นใช้ไม่ได้ ผลของการปฏิบัติจักไม่ปรากฎ มีผลไม่ทรงตัว ต้องใช้ความเพียรให้เป็น อย่าให้ความเกียจคร้านเข้ามาบั่นทอนความดี ปล่อยให้ความเลวมันขยันทำกรรมชั่วอยู่เรื่อย ก็ใช้ไม่ได้ ไม่ต้องดูอารมณ์จิตของบุคคลอื่น ให้มุ่งดูอารมณ์จิตของตนเองเป็นสำคัญ”

๗. “หากรู้อารมณ์จิตของตนเองได้ มีความยับยั้งชั่งใจ ไตร่ตรองใคร่ครวญกรรมให้รอบคอบ การแก้ไขอารมณ์จิตให้ตั้งมั่นอยู่ในความดีเป็นของไม่ยาก แต่ทุกวันนี้พวกเจ้ามักจักปล่อยให้กิเลสมันจูงจมูกไปก่อนเป็นประจำ นี่เพราะไม่คล่องในอานาปานุสติกรรมฐาน และอ่อนในการใช้จริต ๖ ประการ ที่จักแก้อารมณ์ของจิตในขณะหนึ่ง ๆ ส่วนใหญ่จับจดพิจารณาลวก ๆ ตรงเป้าบ้าง ไม่ตรงเป้าบ้าง แล้วด่วนปล่อยกิเลสให้ผ่านไป จุดนี้ต้องแก้ไขให้ดี ถ้ายังดีไม่ได้ก็แก้ไขจุดอ่อนไม่ได้เช่นกัน


ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๗
รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 08:48


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว