กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=43)
-   -   วจีกรรมกับการสนทนาธรรม (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=2027)

ลัก...ยิ้ม 04-08-2010 11:15

วจีกรรมกับการสนทนาธรรม
 
วจีกรรมกับการสนทนาธรรม

เมื่อวันพุธที่ ๔ ส.ค. ๒๕๓๖ สมเด็จองค์ปฐม ทรงพระเมตตาตรัสสอนเพื่อนของผมในเรื่องนี้ว่า

๑. “หากเจ้าจักเล่าพฤติกรรมของบุคคลผู้ใด เป็นการประกอบธรรมการสนทนา จงหลีกเลี่ยงเอ่ยอ้างชื่อของบุคคลผู้นั้น จุดนี้พึงระวังให้มาก เพราะจักทำให้ราคะและปฏิฆะเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ฟังได้ หากเขาไม่รู้ว่าเป็นใคร จิตเขาก็จักไม่ผูกพันกับบุคคลผู้นั้น ยังจักดีกว่า เรียกว่า เจ้าไม่ได้สร้างอารมณ์เบียดเบียนให้แก่ผู้ฟัง” (เมื่อฟังพระองค์ทรงตรัสแล้ว ก็รู้สึกตนเองว่า การพูดถึงบุคคลที่ ๓ ก็คือ การนินทาปสังสานั่นเอง)

๒. “เมื่อเป็นเช่นนี้ วาจาของเจ้าสร้างความเบียดเบียนให้เกิดแก่อารมณ์ของบุคคลผู้ฟัง แล้วอารมณ์ผู้ฟังก็ย้อนกลับมาเบียดเบียนอารมณ์ของเจ้าอีกที เมื่อเป็นประการนี้ ควรหรือไม่ควรที่จักประพฤติ หรือกล่าววาจาเยี่ยงนี้อีกต่อไป” (ก็รับว่า ไม่ควร)

๓. “การเอ่ยนามพาดพิงในการสนทนาธรรม จึงไม่ควรมี ทางโลกเขาถือว่าเป็นการปรามาส มีการฟ้องร้องเอาความกันเพราะการเอ่ยอ้างนามกันมามากมาย บางรายต้องขึ้นโรงขึ้นศาล เป็นความกันด้วยคดีหมิ่นประมาท”

๔. “อุปมาเป็นทางธรรมก็ไม่ต่างกัน หากผู้พูดเอ่ยนามอ้างอิงประกอบธรรม เจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม ก็เท่ากับแฉพฤติกรรมโดยธรรมของบุคคลผู้นั้นออกมาเป็นวจีกรรม คนฟังไม่ใช่ว่าจักมีภูมิจิตภูมิธรรมเสมอกับผู้พูด ยิ่งฟังหลายคนยิ่งมีอันตราย เพราะระดับจิตต่างกันอย่างสิ้นเชิง ความคิดเห็นในการฟังก็แตกต่างกันไป หากมีบุคคลใดคนหนึ่งนำเรื่องนี้ไปเล่ากับเจ้าของนาม ผิดเพี้ยนเพียงนิดเดียว เรื่องใหญ่ก็จักเกิดตามมา อารมณ์ชอบใจ ไม่ชอบใจ ก็เกิดแก่คนฟัง คือ เจ้าของนามได้ กรณีนี้สร้างได้ทั้งมิตรและศัตรู ทำความผิดพ้องหมองใจกันได้โดยง่าย”

๕. “ตั้งแต่นี้ไป ขอให้เจ้าเลิกเอ่ยชื่อเจ้าของนาม ในเวลาสนทนาธรรมตลอดไป ยกเอาแต่พฤติกรรมไม่ต้องบอกว่าเป็นใครก็ใช้ได้แล้ว จำไว้นี่เป็นคำสั่งที่เจ้าจักต้องทำให้ได้ด้วย”

๖. “การสนทนาธรรม โดยการศึกษาจากการกระทำของบุคคลทั่วไป ย่อมหลีกเลี่ยงการอ้างอิงพฤติกรรมไม่ได้ จำเป็นต้องพูด ต้องคิด ก็พิจารณาไปให้เป็นธรรม แต่จงอย่าเอ่ยนามของเจ้าของธรรมนั้น ๆ เห็นธรรมเป็นภายนอกย้อนกลับเข้ามาสอนใจตนเองเป็นประการสำคัญ เพื่อให้เห็นธรรมภายในและภายนอกนั้นเป็นปกติ”

๗. “ไม่ใช่ควรทำแต่เจ้านะ คุณหมอก็ควรทำได้ด้วย หน้าที่ไวยาวัจกรที่ท่านฤๅษีมอบให้จำเป็นต้องพูด ก็ขอให้พูดโดยธรรม จักไม่สร้างความเบียดเบียนให้แก่ผู้ฟังทางวจีกรรม ขอให้จำบทเรียนครั้งนี้ให้ดี ๆ”


ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 21:00


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว