![]() |
อาการอย่างไรเรียกว่าการทรงอารมณ์
ถาม : อีกอย่างหนึ่ง...ฟังหลายรอบแล้ว แต่ทำไม่ได้ คือทรงอารมณ์ อย่างสมมุติว่าเวลาปฏิบัติอยู่อย่างนี้ จะทรงอารมณ์ต่อทำอย่างไรคะ ?
ตอบ : ถ้าเราภาวนาแล้วอารมณ์ใจทรงตัว ความรู้สึกของเราในตอนนั้นก็คือว่า เรารู้ลมหายใจโดยอัตโนมัติ ให้พยายามรักษาอารมณ์รู้ลมหายใจโดยอัตโนมัตินี้เอาไว้ นั่นคือการทรงอารมณ์ แล้วเราพยายามตรวจสอบอยู่เสมอว่า ในขณะที่เรารู้ลมหายใจโดยอัตโนมัติอยู่นี้ สิ่งไม่ดีต่าง ๆ โดยเฉพาะนิวรณ์ห้าเข้ามากินใจเราได้ไหม ? ใจของเราแลบออกไปในทางกามฉันทะ คือมีอารมณ์ระหว่างเพศหรือเปล่า ? มีพยาบาท โกรธ เกลียด อาฆาต แค้น คนอื่นหรือเปล่า ? มีถีนมิทธะ ง่วงเหงาหาวนอน ตลอดถึงขี้เกียจหรือเปล่า ? มีอุทธัจจะ คือ ฟุ้งซ่านเป็นอารมณ์อื่นหรือเปล่า ? มีวิจิกิจฉาคือ ความลังเลสงสัยในผลของการปฏิบัติหรือเปล่า ? ถ้าหากว่านิวรณ์ห้าตัวนี้กินใจไม่ได้ กำลังใจของเราอยู่กับลมหายใจเข้าออกอยู่ คือการรักษาอารมณ์ตัวนั้นไว้ได้ ถ้าสามารถเกาะลมหายใจอยู่ในลักษณะนี้ได้นานเท่าไร เราก็จะมีความสุขเท่านั้น เยือกเย็นเท่านั้น การรักษาอารมณ์ก็คือการประคับประคองความรู้สึก สติสัมปชัญญะทั้งหมดของเรา ให้อยู่กับลมหายใจเข้าออกไว้ สนทนากับพระอาจารย์เล็ก สุธมฺมปญฺโญ ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๔๔ |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 17:59 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.