![]() |
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๗
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๗ |
วันนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๑๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๗ อีกสักครู่หลังจากทำวัตรค่ำรอบที่ ๒ แล้ว เราก็จะมีการเทศน์สอนนาค ซึ่งหลักการเทศน์สอนนาคนั้น ส่วนใหญ่ก็จะกล่าวถึงเรื่องที่ห้ามทำ และเรื่องที่ควรทำ ตลอดจนกระทั่งอานิสงส์ในการบรรพชาหรือว่าอุปสมบท มีบางท่านพอได้ยินเข้าตัดสินใจเลิกบวชไปเลยก็มี..! ก็แล้วแต่กำลังใจของแต่ละคนว่าจะเป็นอย่างไร
วันนี้กระผม/อาตมภาพส่งรายชื่อผู้เข้ารับการอบรมใน โครงการพัฒนาศักยภาพของพระวิปัสสนาจารย์ในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๔ ทั้งของสำนักปฏิบัติธรรมวัดท่าขนุน สำนักปฏิบัติธรรมวัดพุทธบริษัท และสำนักปฏิบัติธรรมวัดวังปะโท่ ซึ่งจะว่าไปแล้ว ในเรื่องของการอบรมต่าง ๆ นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยเฉพาะการอบรมพระวิปัสสนาจารย์ เท่ากับเราโดนบังคับให้ฝึกปฏิบัติอย่างเข้มข้นเป็นเวลา ๑๕ วันต่อเนื่องกัน ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายตั้งใจทำจริง พูดง่าย ๆ ว่า "เห็นหน้าเห็นหลัง" กันได้เลย นอกจากความรู้ใหม่ ๆ หรือว่าความเข้มข้นในการปฏิบัติที่เราจะได้รับแล้ว ส่วนที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งก็คือจะได้เพื่อนฝูงใหม่ ๆ ด้วย กระผม/อาตมภาพเคยบอกพวกเราทั้งหลายว่า ถ้าในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๔ ซึ่งประกอบไปด้วยจังหวัดกาญจนบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี และสมุทรสาคร บรรดาพระสังฆาธิการทั้งหมด ถ้าไม่ใช่เพื่อนก็คือลูกศิษย์..! เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า ในช่วงที่พรรษายังน้อยอยู่ กระผม/อาตมภาพเข้ารับการอบรมตามโครงการต่าง ๆ แล้วแต่ผู้บังคับบัญชาจะมีคำสั่งให้ไป ไปงานหนึ่งก็ได้เพื่อน ไปอีกงานหนึ่งก็ได้เพื่อนเพิ่มขึ้นอีก จึงทำให้มีเพื่อนมีรุ่น พอถึงเวลาสามารถที่จะเชื่อมโยงกันได้ แล้วถ้าหากว่ารักษาความสัมพันธ์เอาไว้ได้ ถึงเวลามีอะไรเหลือบ่ากว่าแรง ก็ขอความช่วยเหลือกันได้ แบบเดียวกับที่ ดร.หนึ่ง (พระวินัยธรจิตศิลป์ เหมรํสี, ดร.) ตอนจะปฏิบัติธรรมของปริญญาเอก ได้ข่าวว่าทางวิทยาลัยสงฆ์ปัตตานีมีการจัดปฏิบัติธรรมของนิสิต ก็ขอไปร่วมกับเขา เพื่อจะได้เก็บวันปฏิบัติธรรมให้ครบตามหลักสูตร ก็คือ ๔๕ วัน แล้วท่านถามว่ากระผม/อาตมภาพ "รู้จักใครที่นั่นซึ่งอาศัยกันได้บ้างหรือเปล่า ?" ก็เรียนท่านไปว่า "ประธานการอบรมนั่นแหละเพื่อนกัน ให้ไปบอกว่ามาจากวัดท่าขนุนก็จบแล้ว" ซึ่งเมื่อถึงเวลาท่านก็ส่งข่าวมาว่า "ได้นอนห้องปรับอากาศสบายใจเฉิบอยู่คนเดียว..!" เนื่องเพราะว่าเจ้าอาวาสวัดตานีนรสโมสร (พระอารามหลวง) ตอนนั้นท่านเป็นเจ้าคณะจังหวัดปัตตานีด้วย ยังเป็นเจ้าคุณพระสิริจริยาลังการอยู่ ปัจจุบันนี้ก็คือท่านเจ้าคุณพระราชวัชรญาณโมลี, ดร. (ชรัช อุชุจาโร ป.ธ. ๖) รองเจ้าคณะภาค ๑๘ สนิทสนมคุ้นเคยกันตั้งแต่อบรมนักเทศน์ด้วยกัน กินด้วยกัน นอนด้วยกันอยู่ ๑๕ วัน ที่วัดราชโอรสาราม กรุงเทพมหานคร |
ตอนนั้นท่านยังเป็นพระมหาชรัช อุชุจาโร วัดช้างให้ เมื่อถึงเวลาเกิดเหตุรุนแรงขึ้นที่ ๓ จังหวัดภาคใต้ ทางคณะสงฆ์ต้องการเจ้าอาวาสวัดตานีนรสโมสร ไม่มีใครกล้ารับอาสา ท่านพระมหาชรัชก็รับอาสาไปเป็นเจ้าอาวาส จากการอยู่ที่วัดช้างให้ เกือบจะไม่มีใครรู้จัก ไปที่โน่นก็เป็นเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ไม่กี่วันก็กลายเป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสพระอารามหลวงที่พระครูศรีจริยาภรณ์ แล้วก็เลื่อนขึ้นเป็นรองเจ้าคณะจังหวัดปัตตานี เป็นเจ้าคณะจังหวัดปัตตานี ปัจจุบันนี้ก็คือรองเจ้าคณะภาค ๑๘
สมัยที่ท่านลงไปอยู่จังหวัดปัตตานีใหม่ ๆ ได้โทรศัพท์มาหาว่า ให้กระผม/อาตมภาพช่วยสร้างหนังสือสวดมนต์ให้สัก ๓,๐๐๐ เล่ม จะดึงคนเข้าวัด กระผม/อาตมภาพบอกว่า "จังหวัดปัตตานีเป็นอิสลามเกือบจะ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วคุณจะไปเอาคนที่ไหนมา ?" ท่านบอกว่า "ไปเอาจากโรงเรียน" "ถ้าอย่างนั้นก็ได้" จึงได้ช่วยท่านสร้างหนังสือสวดมนต์ไป ๓,๐๐๐ เล่ม จึงอยู่กันในลักษณะ "น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า" กระผม/อาตมภาพก็เพิ่งจะเอากฐินปลดหนี้ไปทอดให้ท่านเมื่อไม่กี่ปีที่แล้วมา ได้ไปเกือบ ๘ ล้านบาท นี่คือสิ่งที่เชื่อมโยงมาจากการเข้าอบรมตามโครงการต่าง ๆ ก็คือนอกจากได้ความรู้แล้ว ยังได้พวกได้เพื่อนเพิ่มเติมขึ้น ไปไหนก็สะดวกสบายไปหมด เพียงแต่ว่าท่านใดที่เคยได้รับการส่งไปอบรม มักจะกลายเป็น "ขาประจำ" ก็คือถึงเวลาคณะสงฆ์ก็จะส่งคนเดิม ๆ ไปอีก โดยเฉพาะบุคคลประเภทไม่เกี่ยงงาน ส่งไปที่ไหนก็ไป ต้องถือว่าเป็นช่วงที่กระผม/อาตมภาพได้สะสมความรู้ แล้วขณะเดียวกัน วิทยฐานะก็คือวุฒิบัตร เกียรติบัตร ประกาศนียบัตรที่ได้รับจากงานอบรม สามารถเอามาใช้ในการคณะสงฆ์ได้ทั้งนั้น นอกจากเราจะขัดเกลาตนเองแล้ว ก็ยังมีผลพลอยได้อีกมากมาย จึงเป็นเรื่องที่เราท่านทั้งหลาย ถ้ามีโอกาสในช่วงที่พรรษาน้อย งานยังน้อยอยู่ มีโอกาสในการเข้าอบรมที่ไหนก็รีบไปเสียก่อน ไม่เช่นนั้นถึงเวลางานรัดตัว อยากจะไปก็ไปไม่ได้แล้ว ส่วนอีกหลายท่านที่สังเกตเห็นว่ากระผม/อาตมภาพเอา "พระยอดขุนพลกาญจนบุรี" ไปให้ปลัดแป๊ะ (พระปลัดวินัย ชาคโร) เลี่ยมกรอบ แล้วก็นำมาใช้คู่กับลูกประคำ อยากจะบอกกับท่านทั้งหลายว่า "พระองค์นี้เป็นพระชำรุดมาจากโรงงาน" ก็คือช่างทำพลาดตกแตกเป็นสองชิ้น กระผม/อาตมภาพก็เลยเอามาเลี่ยมใช้งาน อะไรดี ๆ ให้คนอื่นเขาไป แต่ว่าท่านทั้งหลายต้องเข้าใจว่า ในขณะที่ทำการปลุกเสกหรือพิธีพุทธาภิเษก เมื่อถึงเวลา พระพุทธเจ้าก็ดี หรือว่าพระอรหันตเจ้าก็ตาม ที่ท่านเป็นประธานอยู่ ก็มักจะขอความร่วมมือจากท้าวสหัมบดีพรหม ผู้เป็นใหญ่ในหมู่พรหมทั้งหลายบ้าง หรือว่าขอความร่วมมือจากพระอินทร์ซึ่งเป็นใหญ่ในหมู่เทวดาบ้าง ขอให้ส่งพรหมหรือเทวดาประจำอยู่กับวัตถุมงคลต่าง ๆ เพื่อคอยดูแลรักษาผู้ที่นำไปใช้งาน ก็คือชิ้นละ ๑ องค์ |
คราวนี้ในเมื่อวัตถุมงคลแยกเป็น ๒ ชิ้นก็ได้กำไร กลายเป็นเทวดาเพิ่มมาอีก ๑ องค์ แล้วก็ไม่ต้องไปแกล้งทุบแตกเป็น ๗ - ๘ ชิ้น เพราะว่าเดี๋ยวจะซวยไม่รู้จบตรงที่ไปทำลายรูปพระ..!
เพียงแต่ว่าถ้าท่านทั้งหลายสังเกตดูจะเห็นว่า หลวงปู่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) วัดระฆังโฆสิตารามก็ดี หลวงปู่ปาน วัดบางนมโคก็ดี หรือว่าหลวงปู่สด วัดปากน้ำภาษีเจริญก็ตาม วัตถุมงคลของท่านกลายเป็นอมตะ เป็นที่ต้องการและราคาสูงมากเป็นพิเศษ เนื่องเพราะว่าครูบาอาจารย์ทั้งหลายเหล่านี้ท่านรู้จักพระพุทธเจ้า สามารถขอบารมีพระพุทธเจ้า ตลอดจนกระทั่งพระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ หรือว่าพรหม เทวดา และครูบาอาจารย์ของท่าน ให้อนุเคราะห์สงเคราะห์ในการปลุกเสกหรือพุทธาภิเษกในแต่ละครั้ง ในเมื่อรู้จักพระพุทธเจ้า สิ่งที่ท่านสงเคราะห์มาก็มีอานุภาพเป็นพิเศษ คนเอาไปใช้งานแล้วเกิดผล ก็เกิดความนับถือเลื่อมใส และเสาะแสวงหากัน ท้ายที่สุดวัตถุมงคลของท่านก็จะราคาแพงมาก ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ตั้งแต่เล็ก ๆ กระผม/อาตมภาพก็เห็นพวกผู้ใหญ่ เขาหักสมเด็จวัดระฆังแบ่งครึ่งกัน บางท่านอยากได้มาก หาใหม่ไม่ได้ก็หักเป็น ๔ ชิ้นก็มี เพราะเห็นว่าพุทธานุภาพยังคงเต็มเปี่ยมอยู่เหมือนเดิม ถ้าถือเอาตามหลักที่กระผม/อาตมภาพพูดไปแล้วก็คือ วัตถุมงคลชิ้นหนึ่งต้องมีพรหมหรือเทวดาดูแลองค์หนึ่ง ก็แปลว่าถ้าแตกหักออกเป็นหลายชิ้น ก็เพิ่มพรหมเทวดาที่ต้องดูแลเข้าไปอีก แทนที่อานุภาพจะลดน้อยถอยลงก็กลายเป็นมากขึ้น เรื่องพวกนี้สำหรับสายอื่น กระผม/อาตมภาพไม่ยืนยัน แต่ถ้าเป็นสายหลวงปู่ปาน วัดบางนมโค หรือว่าหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุง กระผม/อาตมภาพขอยืนยันตามนี้ ดังนั้นพระที่เสกเอง ทำเอง ถ้าชำรุดก็เก็บไว้ใช้เอง เพราะว่ากำลังใจคนอื่นก็คือ ไม่เข้าใจอย่างหนึ่ง หรือเห็นพระแตกหักแล้วกำลังใจเสียอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นเช่นนั้นก็แล้วแต่ท่าน กระผม/อาตมภาพจึงเก็บไว้ใช้งานเอง รบกวนเวลาท่านทั้งหลายมามากพอแล้ว สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้ พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๑๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๗ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย) |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 18:07 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.