เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอาทิตย์ที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๔
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอาทิตย์ที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๔ |
วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๒๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๔ ญาติโยมทางบ้าน ถ้าหากว่าเห็นกระจกบานนี้ ตลอดจนกระทั่งชุดเก้าอี้ที่อาตมภาพนั่งอยู่ ก็คงจะคุ้นตาว่ามาจากบ้านเติมบุญ ในส่วนนี้ก็คือข้าวของที่ค่อย ๆ ทยอยขนกลับมาจากบ้านเติมบุญ
เนื่องจากอาตมภาพทราบดีว่าเรื่องของเชื้อไวรัสโควิด ๑๙ นั้นจบยาก เพราะว่ารัฐบาลของเราเก่งเกินไป จึงตั้งใจที่จะปิดบ้านเติมบุญไปเลย แล้วพอมาถึงเมื่อคืนนี้ ก็เห็นชัดเจนถึงความเก่งของรัฐบาลของเรา ในการช่วยแพร่กระจายเชื้อไวรัสไปทั่วประเทศ..! แต่ตรงนี้เราจะไม่มาตำหนิใคร เพราะว่าสิ่งที่สมควรที่สุดก็คือ เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว เราจะแก้ไขอย่างไรให้ดีที่สุด ส่วนมากก็คงจะเห็นประกาศของวัดท่าขนุน ที่ออกมาไล่ ๆ กับประกาศของราชการ ก็คือขยายเวลาในการอยู่วัด ถ้าตามระเบียบวัดก็คือ ญาติโยมที่มาพักเพื่อปฏิบัติธรรมอยู่ได้ไม่เกิน ๗ วัน วันมาก็นับ วันกลับก็คิด แต่คราวนี้ที่อาตมภาพใช้คำสั่งโดยอำนาจของเจ้าอาวาส ขยายเวลาในการอยู่วัดออกไป คือ ถ้าใครมาในช่วงนี้ สามารถอยู่ยาวได้จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๔ ก็คาดว่าระยะเวลาเป็นเดือน น่าจะพอพิสูจน์ได้ว่าท่านทั้งหลายปลอดจากเชื้อแล้ว สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ก็คือการแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น ให้ออกมาให้ดีที่สุดเท่าที่เราทำได้ การตำหนิคนอื่น ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นมา เพราะว่าการทำงานของคนย่อมมีความผิดพลาดเป็นปกติ เพียงแต่รัฐบาลนี้อาจจะผิดพลาดมากสักหน่อย ประมาณว่าใคร ๆ ก็ไม่รักผม ทำอะไรก็ผิดไปหมด โปรดอย่าได้น้อยใจจนลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะว่านายกฯ อย่างท่านหายากมาก..! โปรดทนอยู่ต่อไป ในส่วนที่พวกเรามาแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าให้ดีที่สุด ถ้าว่าตามหลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็คือ การอยู่กับปัจจุบัน อยู่อย่างคนยอมรับความจริงว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอย่างนี้ แล้วเราก็แก้ไขให้ดีที่สุด ไม่ใช่ว่าไม่ยอมรับความจริง พยายามปิดบังความจริง จนกระทั่งปิดไม่อยู่แล้ว ก็มีการออกประกาศควบคุมสูงสุดตอนตี ๑ ตี ๒ ดึก ๆ ดื่น ๆ ไม่ใช่เวลาของคนปกติ ลักษณะอย่างนี้เป็นเรื่องของมิจฉาชีพเขาทำกัน..! |
คราวนี้การที่เราอยู่กับปัจจุบัน ถ้าสำหรับนักปฏิบัติธรรมแล้ว สิ่งที่เรามาแก้ไขปัญหานี้ยังเป็นเรื่องที่ไกลตัว เรื่องที่ใกล้ตัวก็คือ ทำอย่างไรที่เราจะรักษากำลังใจของเราให้ดีที่สุด ให้มั่นคงที่สุด เพราะว่าสถานการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้น จะมีบุคคลเป็นจำนวนมากที่ทนแรงเสียดทานไม่ไหว คือทนแรงกดดันไม่ไหว ก็จะมีประเภทที่ถึงกับฆ่าตัวตาย หรือว่าพวกที่กำลังมืดแปดด้าน หาทางออกไม่เจอ
อย่างน้อย ๆ สิ่งที่วัดท่าขนุนของเราทำ ก็ยังทำให้ญาติโยมส่วนหนึ่ง แม้จะไม่มากนัก ยังพอมองเห็นทางได้ว่า ในวาระที่มืดแปดด้านนี้ แสงเทียนเล็ก ๆ ที่วัดท่าขนุนดวงหนึ่ง ก็ยังคงต้านลม ต้านสถานการณ์ ส่องทางให้พวกท่านได้เห็นอยู่ ในส่วนที่เราจะพึ่งพาคนอื่นอย่างเดียว โดยไม่ยอมเดินเองเลยก็ใช่ที่ เพราะว่าจะเพิ่มภาระให้กับคนอื่นเป็นจำนวนมาก ดังนั้น...ส่วนที่เราควรทำที่สุด ก็คือพยายามกวดขันศีลทุกสิกขาบทของเราให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ สร้างสมาธิของเราให้มั่นคง หนักแน่น เพียงพอที่จะรับแรงกดดันในสถานการณ์แบบนี้ แล้วก็ใช้ปัญญามองให้เห็นความเป็นจริงว่า การที่เราเกิดมาในโลกนี้ การที่เราเกิดมามีร่างกายนี้ ต้องพบกับความทุกข์ทั้งหลายเหล่านี้เป็นปกติ ต่อให้ไม่โดนกดดันจากความทุกข์ ในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ๑๙ ท่านก็จะต้องเจอกับความทุกข์ในด้านอื่น ๆ เพราะว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นธรรมดาของโลก |
พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอาไว้ชัดเจน ที่พระท่านสวดในธัมมนิยามปริตรว่า
อุปปาทา วา ภิกขะเว ตะถาคะตานัง ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตเจ้าจักอุบัติขึ้นก็ดี อะนุปปาทา วา ตะถาคะตานัง หรือว่าตถาคตเจ้าทั้งหลายจักไม่อุบัติขึ้นก็ดี ฐิตา วะ สา ธาตุ ธัมมัฏฐิตะตา ธรรมธาตุทั้งหลายเหล่านี้ก็ตั้งอยู่เป็นปกติอยู่แล้ว ธัมมะนิยามะตา คำจำกัดความของธรรมทั้งหลายเหล่านี้ก็คือ สัพเพ สังขารา อนิจจาติ สังขารคือสรรพสิ่งทั้งหลาย ทั้งมีชีวิต และไม่มีชีวิต มีความไม่เที่ยงเป็นปกติ สัพเพ สังขารา ทุกขาติ สังขารทั้งหลายมีความทุกข์เป็นปกติ สัพเพ ธัมมา อะนัตตาติ ธรรมทั้งหลาย ก็คือสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ทั้งที่เป็นสังขตธรรม ยังต้องปรุงแต่ง และอสังขตธรรม ไม่ต้องปรุงแต่งแล้ว ล้วนแล้วแต่ไม่ใช่ตัวตน ก็คือไม่มีอะไรหลงเหลือให้เรายึดถือมั่นหมายได้ การที่เรายึดมั่นถือมั่นเมื่อไร ก็ก่อให้เกิดความทุกข์แก่เราเมื่อนั้น แต่ถ้าเราปล่อยวางได้ เห็นว่าธรรมดาของการเกิดมาเป็นเช่นนี้ กำลังใจก็จะผ่อนคลายลง เบาลง ไปตามลำดับของการปล่อยวาง คำว่า "ธรรมดา" คำเดียว สามารถที่จะหากินได้ตลอดชีวิต ถ้าหากว่าใครยังเกิดอีก ก็หากินได้ตลอดชาติข้างหน้าด้วย เพียงแต่ว่า คำว่าธรรมดานั้น แตกต่างกันไปตามกำลังใจของเรา ธรรมดาของปุถุชนอยู่ในระดับหนึ่ง ธรรมดาของกัลยาณชนที่ทรงศีลทรงธรรม เป็นอีกระดับหนึ่ง ธรรมดาของพระอริยเจ้า ไม่ว่าจะเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี หรือว่าพระอรหันต์ แต่ละระดับก็แตกต่างกันไป เนื่องจากเห็นคำว่าธรรมดาชัดเจนมากขึ้น ละเอียดมากขึ้น จนในที่สุดก็สามารถที่จะปล่อยวางได้ทั้งหมด คราวนี้การที่เราจะปล่อยวาง ก็คงปล่อยวางตามกำลังใจของตน ดังที่อาตมภาพเคยกล่าวเอาไว้ว่า พระอริยเจ้าก็ช่างเขา ช่างมัน ถ้าหากว่ากำลังใจลดต่ำลงมาหน่อย ก็ช่างหัวมัน ถ้ากำลังใจต่ำลงมาอีก ก็ช่างหัวแม่มัน...! ถ้ากำลังใจอย่างแย่ ๆ ก็ช่างหัวโคตรพ่อโคตรแม่มัน...! แต่ขอให้เราช่างให้ได้สักระดับ จะมากจะน้อยก็แสดงถึงความก้าวหน้าในศีล สมาธิ ปัญญา ของเรา |
สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่มีใครอยากจะให้เกิด เราเองจะไปคร่ำครวญ จะไปด่าว่า ก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา นอกจากพยายามแก้ไขสิ่งเหล่านี้ให้ดีที่สุด ด้วยศีล สมาธิและปัญญา ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนพวกเราเอาไว้
ในวาระเช่นนี้เป็นนาทีทอง ที่เราจะพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ในเมื่อสิ่งทั้งหลายบีบคั้นเข้ามารอบข้าง เป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่เราจะเข้าวัดเข้าวาปฏิบัติธรรม ยกระดับจิตใจของตนเอง ถ้าหากว่าใครตกงานยิ่งดี อยู่วัดเป็นเดือน ๆ ไม่ต้องลำบากในเรื่องอื่น นอกจากปฏิบัติตามกฎระเบียบของวัด ก็คือสวดมนต์ ทำวัตร กรรมฐานร่วมกันเท่านั้น และขณะเดียวกัน ถ้าหากว่าเราเป็นบุคคลที่มีเวลาเหลือมาก คือ อาจจะตกงานไปเลย จะบวชเป็นพระภิกษุ เป็นสามเณร เป็นแม่ชี ทางวัดก็ยินดีต้อนรับ ให้ท่านทั้งหลายใช้โอกาสเหล่านี้ ในการเสริมสร้างกำลังใจของตนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ บุญกุศลในการบวช ในการตั้งใจปฏิบัติใน ศีล สมาธิ ปัญญา ของเรา ถ้าหากว่าเราสึกหาลาเพศไป ก็จะช่วยอุปถัมภ์ค้ำจุนให้การทำมาหากินของเราสะดวก มีความคล่องตัวกว่าผู้อื่นเขา แต่ถ้าหากว่าเราอยู่ต่อไปได้ ก็จะเป็นกำลังใหญ่ในพระพุทธศาสนา ช่วยค้ำจุนพระศาสนาของเราให้เจริญมั่นคงต่อไปในภายภาคหน้า ก็ขอเรียนถวายต่อพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมทั้งหลาย ทั้งที่อยู่ที่นี่ อยู่ที่บ้าน อยู่ในประเทศ อยู่ต่างประเทศ ให้ได้ทราบเอาไว้แต่เพียงเท่านี้..ขอเจริญพร พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอาทิตย์ที่ ๒๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๔ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย) |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 06:12 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.