กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=39)
-   -   เทศน์ช่วงทำกรรมฐานวันเสาร์ที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๒ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=1236)

เถรี 29-10-2009 12:44

เทศน์ช่วงทำกรรมฐานวันเสาร์ที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๒
 
กำหนดความรู้สึกทั้งหมดอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าออกยาว ๆ สัก ๒-๓ ครั้ง แล้วหลังจากนั้นเอาความรู้สึกของเราไหลตามลมหายใจเข้าไป ไหลตามลมหายใจออกมา ถ้าไม่ชอบคำภาวนาให้เอาความรู้สึกอยู่กับลมหายใจแค่นี้ก็พอ หายใจเข้าจากจมูก...ผ่านกลางอก....ลงไปสู่ที่ท้อง หายใจออกจากท้อง....ผ่านกลางอก....มาสู่ที่ปลายจมูก

ตามดู...ตามรู้อยู่เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว แต่ถ้าท่านใดชอบคำภาวนา ให้ใช้คำภาวนาตามที่ตนเองชอบตามอัธยาศัย โดยเฉพาะเคยฝึกอย่างไหนมามากให้ใช้คำภาวนาอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นพุทโธ พองหนอ ยุบหนอ นะมะพะธะ สัมมาอะระหัง หรือจะใช้อิติปิโสทั้งบทก็ได้ คาถาเงินล้านก็ได้ ตามที่เราชอบและถนัด

ที่สำคัญคือ ความรู้สึกทั้งหมดให้อยู่กับลมหายใจเข้าออกจริง ๆ เมื่อคิดเรื่องอื่นให้ดึงความรู้สึกกลับมาตรงนี้ทันที อย่าให้ความคิดทั้งหลายเหล่านั้นไปนานเกิน รู้สึกตัวเมื่อไหร่ก็ให้ดึงกลับมาที่ลมหายใจเข้าออก ทำอย่างนี้แค่ไม่กี่ครั้งถ้ากำลังใจตั้งมั่น ความฟุ้งซ่านต่าง ๆ ก็จะลดลง ใจก็จะยอมนิ่ง ยอมอยู่กับลมหายใจเข้าออก แต่ถ้าท่านใดเพิ่งฝึกใหม่ ๆ ก็จะฟุ้งซ่านนานไปสักหน่อย ถือว่าเป็นเรื่องปรกติ อย่าตำหนิตนเองว่าเราใช้การไม่ได้ ขอให้รู้ว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องผ่าน เขาเรียกว่า นิวรณ์

นิวรณ์ว่าตามรากศัพท์แล้ว หมายถึงเครื่องกั้นความดี ถ้าเกิดนิวรณ์ขึ้นเมื่อไหร่ ความดีจะไม่สามารถเข้าถึงใจของเราได้ นิวรณ์นั้นมี ๕ อย่าง ได้แก่

๑. กามฉันทะ เป็นอารมณ์ที่กระหวัดไปในเรื่องระหว่างเพศ ไม่ว่าจะมีความต้องการในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย การสัมผัสก็ตาม ส่วนใหญ่แล้วตัวกามฉันทะนี้จะมุ่งไปในเรื่องระหว่างเพศทั้งหมด ถ้าหากมีความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้น ให้รู้ว่าใจของเราไม่มีคุณภาพ

๒. พยาปาทะนิวรณ์ คือ ตัวพยาบาท โกรธ เกลียด อาฆาต แค้นคนอื่น เวลาปกติอาจจะลืมไปแล้ว แต่ตอนทำกรรมฐานพอจิตเริ่มนิ่ง จะไปนึกถึงเรื่องที่คนอื่นทำให้เราโกรธ ทำให้เราเกลียด แล้วอารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้นก็ปรุงกลับขึ้นมาใหม่ ถ้าหากมีอารมณ์ตรงนี้อยู่ให้รู้ว่าจิตของเราใช้การไม่ได้ ตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสแล้ว

๓. ถีนมิทธะนิวรณ์ เป็นตัวง่วงเหงาหาวนอน ชวนให้ขี้เกียจ เวลาปรกติไม่รู้สึกง่วงเลย แต่ทันทีที่จิตเริ่มเป็นสมาธิ บางทีรู้สึกง่วงจนทนไม่ไหว บางคนก็หาวแล้วหาวอีก ให้รู้ว่านั่นเป็นส่วนหนึ่งที่จะมาขวางกั้นความดีของเรา

แต่จริง ๆ แล้ว ตัวถีนมิทธะนิวรณ์ ถ้าเกิดขึ้นง่ายให้รู้ว่ากำลังใจของท่านทั้งหลายเหล่านั้นทรงความดีได้ง่ายเช่นกัน เพราะว่าถ้าไม่ถึงระดับปฐมฌานหยาบ จิตก็จะไม่ตัดหลับ ในเมื่อมันง่วงอยากจะหลับ ก็แปลว่าเราเข้าใกล้ความเป็นฌานมาก ถ้าหากว่าตัวง่วงเหงาหาวนอนเกิดขึ้น วิธีการแก้ไขมีหลายอย่าง อย่างเช่นว่าลืมตาภาวนาแทน หรือว่ากำหนดคิดในหัวข้อธรรมที่เราชอบใจ หรือตั้งใจสวดมนต์ภาวนาคาถาบทใดบทหนึ่งที่เราชอบใจ เป็นต้น หรือมีพื้นที่มากพอก็ลุกขึ้นเดินจงกรม

แต่ถ้าเป็นตัวชวนให้ขี้เกียจ อันนั้นมันจะมีข้ออ้างสารพัดเข้ามา อย่างเช่นว่า ไม่ไหวแล้ว เราเหนื่อยมาทั้งวัน เอาไว้พรุ่งนี้เช้าค่อยทำกรรมฐาน คืนนี้ค่อยพักผ่อนให้สบายเสียก่อน ถ้าเราเชื่อและคล้อยตามลักษณะอย่างนี้ ก็แปลว่าสภาพจิตใจของเราไม่สามารถจะทรงความดีได้ โดนกิเลสยึดครองไปแทน

เถรี 29-10-2009 12:50

๔. อุทธัจจะกุกกุจจะ มีสภาพสองอย่างรวมกัน อย่างหนึ่งก็คือหงุดหงิด อีกอย่างหนึ่งคือฟุ้งซ่านรำคาญใจ เนื่องจากสภาพจิตของเราโลดโผนเป็นปรกติ เมื่อโดนบังคับให้อยู่นิ่งกับลมหายใจเข้าออก ความไม่เคยชินทำให้เกิดความหงุดหงิด และพยายามดิ้นรนเพื่อจะให้พ้นจากสภาพนั้น เมื่อไปไม่ได้ ก็เกิดความรำคาญใจหนักขึ้น ให้เราพยายามกำหนดความรู้สึกทั้งหมดอยู่กับลมหายใจเข้าออกจริง ๆ ตามจี้ลมหายใจเข้าออกไปติด ๆ อย่าให้หลุด ถ้าหากว่าสามารถเกาะติดลมหายใจเข้าออกได้ นิวรณ์ตัวนี้ก็ไม่สามารถที่จะเกาะผูกเราอยู่ได้

๕. วิจิกิจฉานิวรณ์ เป็นความลังเลสงสัย ยังไม่ทันจะทำอะไรให้เกิดผล ก็สงสัยเสียแล้วว่าทำแล้วจะได้จริงหรือไม่ ทำแล้วจะเป็นอย่างนั้นจริงหรือ พระพุทธเจ้ามีจริงหรือไม่ พระธรรมมีจริงหรือไม่ พระสงฆ์มีจริงหรือไม่ เป็นต้น ความลังเลเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้น ใจก็ท้อถอย เพราะว่าปราศจากศรัทธาที่มั่นคง ไม่สามารถที่จะทำให้ตนเองปฏิบัติความดีได้อย่างที่ต้องการ

วิธีแก้นิวรณ์มีอย่างเดียว คือ อยู่กับลมหายใจเข้าออก รู้ตัวว่านิวรณ์ตัวใดตัวหนึ่งดึงออกไป ให้กำหนดความรู้สึกทั้งหมดกลับมาอยู่กับลมหายใจเข้าออก เกาะลมหายใจเข้าออกให้แน่นแฟ้น ค่อย ๆ ตามดูเข้าไป ค่อย ๆ ตามดูออกมาพร้อมกับคำภาวนา ถ้าหากว่าความรู้สึกหลุดไปอีก ก็ดึงกลับมาใหม่อีก อย่างนี้เป็นต้น

ใช้ระยะเวลาไม่นาน เมื่อจิตมันเหนื่อย ก็จะยอมให้เราคุมตัวอยู่กับลมหายใจเข้าออก ไม่ดิ้นรนไปที่อื่น ถ้าถึงตอนนั้นจิตก็จะเริ่มเป็นสมาธิได้ง่าย เมื่อจิตเริ่มก้าวเข้าสู่ระดับของสมาธิ ก็จะเกิดอาการปีติต่าง ๆ ขึ้น ดังที่ได้กล่าวไปแล้วเมื่อวานนี้ ถ้าหากท่านที่ฝึกมาคล่องแคล่วชำนาญแล้ว จะกระโดดข้ามขั้นตอนเหล่านี้ไปเลย นิวรณ์ก็ไม่สามารถจะกินใจได้ ปีติต่าง ๆ ก็โดนก้าวล่วงไปหมดแล้ว จิตจะทรงเข้าสู่สมาธิระดับปฐมฌานขึ้นไปตามความถนัดและความชำนาญของตน

เมื่อทุกคนภาวนาจนจิตทรงระดับใดระดับหนึ่งตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไปแล้ว ให้หมั่นดูสภาพจิตของตน อันนี้จะเป็นการปฏิบัติจิตในจิตของมหาสติปัฏฐานสูตร คือ ดูว่าสภาพจิตของเราตอนนั้นเป็นอย่างไร แน่วแน่มั่นคงอยู่กับสมาธิ หรือสมาธิเริ่มลดน้อยถอยลง เป็นต้น ถ้าจิตมันตรงเข้าไปสู่สมาธิระดับหนึ่งนาน ๆ จะมีอาการเหมือนกับไปสู่ทางตัน ไม่สามารถที่จะก้าวไปได้มากกว่านั้น ถ้าเป็นดังนั้นสภาพจิตมันจะค่อย ๆ ย้อนรอยถอยหลังกลับมา ถึงตอนนั้นทุกคนต้องเร่งหาวิปัสสนาญาณมาคิดพิจารณา

เนื่องจากสภาพจิตที่ทรงสมาธินั้นมีกำลังมาก ถ้าเราไม่หาวิปัสสนาญาณให้เขาคิดพิจารณา ถ้ามันไปฟุ้งซ่านเสียเอง คราวนี้จะเอาดีได้ยาก เพราะจิตมีกำลังจากการภาวนามาก แต่เราใช้กำลังนั้นไปในทางที่ผิด กลายเป็นเอากำลังไปใช้ในการฟุ้งซ่าน เหมือนกับสนับสนุนเลี้ยงโจรให้มาปล้นเราเอง

เถรี 29-10-2009 12:56

การที่เราจะคิดพิจารณาในวิปัสสนาญาณนั้น มีอยู่หลายนัยด้วยกัน อย่างเช่น ดูตามนัยของอริยสัจ หาเหตุให้เจอว่า ความทุกข์เกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อไม่สร้างเหตุนั้นความทุกข์ก็ดับลง ดูเพียงแค่นี้เท่านั้นไม่ต้องดูไปมากกว่านั้น เมื่อรู้เหตุแห่งทุกข์ ไม่สร้างเหตุเสีย ทุกข์ก็เกิดไม่ได้

หรือจะดูตามนัยของวิปัสสนาญาณ ๙ เริ่มตั้งแต่อุทยัพพยานุปัสนาญาณ เห็นความเกิดและดับไม่ว่าจะเป็นตัวตนของเราเอง ตัวตนของผู้อื่น ตัวตนของสรรพสัตว์ต่าง ๆ ความเป็นตัวตนของวัตถุธาตุสิ่งของเป็นต้น เห็นมันเกิดขึ้นในเบื้องต้น แปรปรวนไปในท่ามกลาง สลายตัวไปในที่สุด หรือว่าจะดูตามวิปัสสนาข้ออื่น อย่างเช่น ภังคานุปัสสนาญาณ เห็นเฉพาะการดับ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนดับเสื่อมสลายไปหมด ไม่มีอะไร เหลืออยู่ หรือจะดูในลักษณะภยตูปัฏฐานญาณ เห็นว่ามันเป็นโทษเป็นภัย เป็นของน่ากลัว การมีสังขารอยู่ เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหิว เดี๋ยวกระหาย เดี๋ยวเจ็บไข้ได้ป่วย มีอันตรายมาถึงตลอดเวลา ถ้าพิจารณาเป็นของน่ากลัว ก็จะไม่อยากได้สังขารร่างกายเหล่านี้ จนกระทั่งท้ายสุดก็ก้าวไปถึงสังขารุเปกขาญาณ สามารถเห็นธรรมดาแล้วปล่อยวางลงได้

หรือจะพิจารณาตามแนวไตรลักษณ์ เห็นความไม่เที่ยง เห็นความเป็นทุกข์ เห็นความไม่ใช่ตัวตนเราเขา ของร่างกายของเรา ของร่างกายคนอื่น ของร่างกายสรรพสัตว์วัตถุต่าง ๆ เป็นต้น

ถ้าเราใช้กำลังในการพิจารณาวิปัสสนาญาณหลังจากที่ถอนมาจากสมาธิใหม่ ๆ ใจจะมีสภาพแจ่มใสเห็นได้ชัดเจน กำลังที่มีมากพอ ก็กดกิเลสให้นิ่งสนิทลงได้ ถ้าหากว่าปัญญาถึงจริง ๆ จะสามารถตัดกิเลสให้ขาดลงไปได้ตามลำดับ

เมื่อท่านทั้งหลายกำหนดคิดพิจารณาอย่างนั้นแล้ว อย่าลืมว่าไม่ต้องการร่างกายนี้ ไม่ต้องการโลกนี้ แล้วเราจะไปไหน ก็ให้กำหนดจิตสุดท้ายอยู่ที่พระนิพพาน โดยกำหนดภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คิดว่าพระพุทธเจ้าไม่อยู่ที่ไหน นอกจากพระนิพพาน เรากำหนดเห็นท่านคือเราอยู่กับท่าน เราอยู่กับท่านคือเราอยู่บนพระนิพพาน เอาจิตสุดท้ายกำหนดจดจ่ออยู่ตรงนั้น ตั้งใจว่าถ้าเราตายเมื่อไหร่เราขอมาอยู่ที่นี่แห่งเดียว แล้วภาวนาไปตามที่เราต้องการ จนกระทั่งสภาพจิตไปต่อไม่ได้ ถ้าถอนออกมาเราก็พิจารณาใหม่ เมื่อพิจารณาแล้วท้ายสุดก็สรุปเข้าหาจุดนี้ใหม่ อยู่ในลักษณะของอนุโลมปฏิโลม ย้อนไปย้อนมาจนเกิดความชำนาญคล่องตัว

ลำดับนี้ก็ให้ทุกท่านกำหนดใจเอาไว้ที่ภาพพระหรือว่ากำหนดใจขึ้นไปกราบพระบนพระนิพพาน ให้จดจ่อตั้งมั่นอยู่ตรงนั้น จนกว่าจะหมดเวลาแล้วบอกให้เลิกได้

พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านอนุสาวรีย์
วันเสาร์ที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๒


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 11:04


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว