กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน เดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔ (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=110)
-   -   เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=8138)

ตัวเล็ก 11-11-2021 21:12

เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔
 
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔



เถรี 11-11-2021 23:00

วันนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔ ช่วงที่หายไป นอกจากไปงานแล้วก็ไปหาหมอ ต้องบอกว่ายิ่งแก่ ร่างกายก็ยิ่งชำรุดมากขึ้นเรื่อย ๆ

วันนี้ช่วงเช้าที่ไปตรวจข้อสอบนักธรรมชั้นตรีที่วัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) นั้น นอกจากจะเจอพระเดชพระคุณพระเทพศาสนาภิบาล หรือหลวงพ่อเจ้าคุณแย้ม เจ้าคณะภาค ๑๔ แล้ว ก็ยังเจอท่านเจ้าคุณพระบวรรังษี รองเจ้าคณะภาค ๑๔ จากที่ได้สนทนากัน ก็น่าจะมีงานอะไรเพิ่มมากขึ้นให้กับทางวัดท่าขนุน..!

โดยเฉพาะการที่ท่านจะยกเป็นตัวอย่างในที่ประชุม ก็เลยกลายเป็นเพิ่มงานให้พวกท่านตรงจุดที่ว่า พระภิกษุที่มีความสำคัญของทางวัด ไม่ว่าจะเป็นพระฐานานุกรม พระมหาเปรียญ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส หรือแม้กระทั่งบรรดาพระเลขานุการ ให้ทำประวัติลงไว้ให้เหมือน ๆ กันด้วย

ความจริงในเรื่องของประวัติควรที่จะทำไว้ทุกรูป แต่ว่าในส่วนของพระใหม่ หรือพระที่อาวุโสพรรษายังน้อย ก็คงจะค่อย ๆ รอในช่วงหลัง ช่วงนี้ให้เน้นบรรดาผู้ที่รับผิดชอบสำคัญไปก่อน ซึ่งตรงนี้จะมีเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ เพราะว่าไม่ว่าจะเป็นเจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะภาค หรือว่าเจ้าคณะจังหวัด เวลาต้องการผลงานอะไร ก็มักจะเอาวัดท่าขนุนไปยกให้คนอื่นเขาดูเป็นตัวอย่างอยู่เสมอ

โดยเฉพาะวันนี้ พระเดชพระคุณพระบวรรังษี รองเจ้าคณะภาค ท่านบอกว่า วัดท่าขนุนช่วยฟื้นฟูหลายสิ่งหลายอย่างที่ท่านเห็นว่าพระเณรสมัยนี้ไม่ค่อยจะเอาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการสวดมนต์ ทำวัตร บิณฑบาต กรรมฐาน ลงปาฏิโมกข์ตามเวลา ท่านบอกว่าทางบ้านเกิดของท่าน เขาจะทำวัตรเฉพาะในช่วงเข้าพรรษา ฟังปาฏิโมกข์เฉพาะในช่วงเข้าพรรษา

ก่อนหน้านี้ทางทองผาภูมิของเราก็เป็นอย่างนั้น เพียงแต่ว่าตั้งแต่ผมมาถึงก็ต้องบอกว่า ต่อสู้ในเรื่องนี้มาหนักมาก จนกระทั่งสามารถทำให้วัดท่าขนุนของเราทำวัตรเช้าเย็น แล้วก็ลงปาฏิโมกข์ทุกกึ่งเดือนได้สำเร็จ แล้วท้ายสุดก็ค่อย ๆ ขยายออกไป จนกระทั่งปัจจุบันนี้ก็คือ ทุกวัดของทองผาภูมิมีการทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น ทุกกึ่งเดือนมีการลงทบทวนพระปาฏิโมกข์

เรื่องพวกนี้ความจริงแล้วเป็นงานหลักของพระเณรเลย เพียงแต่ว่าโดยนิสัย หรือจะเรียกแรง ๆ ว่า "สันดาน" ก็คือ คนมักจะไม่ทำของยาก แต่ว่าเลือกในด้านที่สะดวกสบาย ซึ่งมีแต่จะกัดกร่อนตัวเอง จนกระทั่งกลายเป็นคนไม่เอาไหนไป..!

เถรี 11-11-2021 23:04

ช่วงที่บรรดานักเรียนบาลีของวัดท่าขนุน เรียนอยู่ที่สหบาลีศึกษานครปฐม และพักอยู่ที่คณะ ๒ วัดพระปฐมเจดีย์ บรรดาพระเณรที่นั่นเขาบอกว่า "อย่าไปคณะ ๒ เลยนะพวกมึง เคร่งฉิบหายเลย..!" ซึ่งความจริงพระของเราที่ไปอยู่ที่นั่นก็แค่สวดมนต์ ทำวัตร บิณฑบาต เจริญพระกรรมฐานตามปกติ

แต่ในสายตาของเขากลายเป็นเคร่งมาก เพราะว่าโดยปกติแล้ว บรรดาพระนักเรียนจะเน้นเรื่องการเรียนอย่างเดียว วัตรปฏิบัติอื่น ๆ ไม่เอา ข้าวปลาอาหารก็สั่งมาส่งถึงกุฏิ แต่ถ้าหากว่าพวกคุณไม่ลืมในสิ่งที่พระอุปัชฌาย์อาจารย์บอกในวันแรกที่บวช ปิณฑิยาโลปะโภชะนัง นิสสายะ ปัพพัชชา ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิตคือการเที่ยวบิณฑบาต ไม่ใช่สั่งแกร็บฟู้ด สั่งฟู้ดแพนดามาส่งให้

คราวนี้ก็สำคัญอยู่ตรงที่ว่า อันดับแรก...พระอุปัชฌาย์อาจารย์ได้ให้ความเข้มงวดและสั่งสอนไว้หรือเปล่า ? ประการที่สอง..ยิ่งสำคัญเข้าไปอีกก็คือ พระเณรนั้นมีจิตสำนึกของความเป็นพระเณรของตนหรือเปล่า ? ถ้าไม่มีจิตสำนึกถึงความเป็นพระเป็นเณรของตน ต่อให้พระอุปัชฌาย์อาจารย์ปากเปียกปากแฉะขนาดไหน ก็คงจะเอาดีไม่ได้

ต้องสองอย่างรวมกัน ก็คือพระอุปัชฌาย์อาจารย์ หรือว่าเจ้าอาวาสมีความเข้มงวด แล้วขณะเดียวกัน พระภิกษุสามเณรก็ต้องใฝ่ดีด้วย ไม่ใช่บวชเข้ามาแล้วก็ "ฉันเช้าแล้วเอน ฉันเพลแล้วนอน ตอนบ่ายพักผ่อน ตอนค่ำจำวัด" ปล่อยชีวิตล่องลอยแบบหายใจทิ้งไปวัน ๆ ไม่ได้คิดจะให้พระศาสนาได้อาศัยอะไรตนเองเลย มีแต่ตนเองอาศัยพระศาสนาหากิน แล้วก็สร้างความเสื่อมเสียให้กับพระศาสนามากขึ้นไปเรื่อย ๆ

ดังนั้น...ในส่วนของวัดท่าขนุน ผมไม่ได้หวังอะไรมาก ผมหวังแค่ว่าพระภิกษุสามเณรของเรายังรักษาวัตรปฏิบัติแบบเดิม ๆ ก็คือเป็นพระของพระพุทธเจ้า เพื่อที่จะได้ช่วยกันค้ำจุนพระพุทธศาสนาให้ครบ ๕,๐๐๐ ปี ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าเมื่อญาติโยมกราบไหว้ ให้เขาไหว้ได้เต็มมือ โดยไม่ตะขิดตะขวงใจ

ปัจจุบันนี้พระเณรในวัดที่เขาไหว้ได้เต็มมือโดยไม่ตะขิดตะขวงใจ ทั่วประเทศไทยก็มีน้อยลงไปเรื่อย ถ้าหากว่าท่านสังเกตจะเห็นว่า บางแห่งพอขาดเจ้าอาวาส เขาก็มาขอจากวัดท่าขนุน ก็เพราะเขาเห็นว่า อย่างน้อย ๆ พวกท่านสามารถรักษาวัตรปฏิบัติแบบดั้งเดิมเอาไว้ ถ้าไปเป็นเจ้าอาวาส อย่างน้อยก็สามารถที่จะรักษาแนวทางความเป็นพระของพระพุทธเจ้าเอาไว้ได้

ตรงส่วนนี้นอกจากพระอุปัชฌาย์อาจารย์ต้องเข้มงวดกวดขัน พระภิกษุสามเณรต้องมีความใฝ่ดีแล้ว ญาติโยมทั้งหลายยังต้องเป็นผู้ที่ช่วยกันควบคุมพระภิกษุสามเณรด้วย แต่คราวนี้การควบคุมไม่ใช่ไปจ้ำจี้จ้ำไชสั่งสอนพระเณร แต่ก็คือแบบที่หลวงพ่อวัดท่าซุงท่านทำ โดยเปิดเสียงตามสายในเรื่องของพระวินัย ที่พระภิกษุสามเณรจำเป็นจะต้องปฏิบัติ ซึ่งก็คือศีลของพระ ๒๒๗ ข้อนั่นเอง

ในเมื่อโยมรู้เท่ากับพระ ถึงเวลาพระจะทำผิดแล้วลดเลี้ยวไป โดยการหลอกโยมที่ไม่รู้นั้น ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ ตรงจุดนี้ทางวัดขนุนของเราถึงได้เปิดเสียงตามสายเป็นปกติ วันละ ๔ รอบ เมื่อถึงเวลา โยมรู้ว่าพระภิกษุสามเณรต้องทำอย่างไร ก็จะได้ช่วยเป็นหูเป็นตาให้

เถรี 11-11-2021 23:07

สมัยนี้ดีขึ้นมาก อย่างน้อย ๆ ท่านทั้งหลายก็รู้จักระมัดระวังตัว ไม่สนุกสนานเฮฮาจนเกินขอบเขต เวลาจะสรงน้ำ ก็ไม่นุ่งผ้าอาบตัวเดียวแล้วก็เดินโป๊ไปเข้าห้องน้ำ รู้จักไปเปลี่ยนผ้าเปลี่ยนผ่อนในห้องน้ำ ออกมาอย่างน้อยก็มีสบงอังสะเรียบร้อย เพราะว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าหากว่าญาติโยมเขาเห็น ย่อมไม่ใช่เรื่องที่เจริญศรัทธา

ลองนึกถึงภาพของบุคคลโกนหัวโล้น นุ่งผ้าอาบลอยชาย มือหนึ่งถือขันน้ำ มีสบู่ ปากคาบแปรงสีฟันไปด้วย เป็นภาพที่โยมเห็นแล้วจะเคารพเลื่อมใสหรือว่าจะด่าในใจ ? นี่แค่วัตรปฏิบัติประจำวันเท่านั้น ดังนั้น...เรื่องพวกนี้เราจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องระวังให้มาก เพราะว่าพระเณรเรา ทำอะไรจะอยู่ในสายตาชาวบ้านเสมอ ก่อนหน้านี้ที่นี่เคยมีอยู่ ปัจจุบันนี้ลดน้อยถอยลงไป ยกเว้นว่าเผลอจริง ๆ ถึงจะมี เรื่องพวกนี้เป็นแค่จริยาเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ว่าทำให้คนเลื่อมใสหรือไม่เลื่อมใสได้ง่ายมาก

ทุกท่านต้องไม่ลืมว่าพวกเราเองนั้นคือศากยบุตรพุทธชิโนรส คือลูกของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าอยู่ในวรรณะกษัตริย์ พวกเราทั้งหลายเท่ากับเป็นเจ้าชาย อยู่ในพุทธวงศ์ เสขิยวัตรทั้ง ๗๕ ข้อนั้น คือ กฎเกณฑ์กติกามารยาทที่บรรดาราชกุมาร หรือเชื้อพระวงศ์สมัยก่อน ต้องประพฤติปฏิบัติให้ได้ เพื่อที่จะรักษาวงศ์ตระกูลของกษัตริย์ ให้คนเห็นแล้วเห็นถึงความแตกต่างในความเป็นระเบียบเรียบร้อยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแต่งตัว เรื่องของการกิน เรื่องของการแส
งธรรม หรือแม้กระทั่งกิริยามารยาทต่าง ๆ ที่ต้องแสดงออกต่อญาติโยมเขา

โดยเฉพาะการไปในบ้านหรือนั่งในบ้าน ไม่ใช่อยู่กับคนคุ้นเคยแล้วเราจะทำอย่างไรก็ได้ ยิ่งอยู่กับคนคุ้นเคย ยิ่งต้องระวังให้มาก เพราะว่าญาติโยมนั้นมักจะขาดสติ ไปคุยกับพรรคพวกเพื่อนฝูงบ้างว่าพระเณรของเราทำอย่างไร ถ้าหากว่าเราไม่ระวัง เขาเอาเรื่องที่เราไม่สมควรทำไปเล่าต่อ โดยที่ไม่ได้คิดว่าจะสร้างความเสียหายให้กับพระ หรือว่าสร้างความเสียหายให้กับวัด แต่กลายเป็นว่าคนฟังเสื่อมศรัทธา นอกจากสร้างความเสียหายให้กับตนเองแล้ว วัดก็เสียไปด้วย

ถ้าหากว่าวัดเสีย คณะสงฆ์ก็เสียไปด้วย ถ้าคณะสงฆ์เสียหาย พระพุทธศาสนาก็เสียหายไปด้วย จึงเป็นเรื่องที่พวกเราทั้งหมดจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสังวรระวัง นี่เป็นแค่การปฏิบัติทางกาย ทางวาจาเท่านั้น ยังไม่ได้กล่าวถึงการปฏิบัติทางใจที่จะช่วยควบคุม ช่วยสร้างสติ สมาธิ ปัญญาแก่พวกเราเลย

ก็แปลว่าการที่วัดท่าขนุนจะต้องเป็นตัวอย่างแก่คณะสงฆ์ในภาค ๑๔ ทั้ง ๔ จังหวัด ๑,๐๐๐ กว่าวัดเป็นภาระที่หนัก เราก้าวเข้ามาถึงจุดนี้ไม่นับว่ายาก แต่ต้องรักษามาตรฐานเอาไว้ ไม่ให้ต่ำกว่านี้ และถ้าเป็นไปได้ต้องสูงขึ้นยิ่งไปกว่านี้ เป็นเรื่องที่ยาก แต่ถ้าทุกคนตั้งใจทำก็ไม่เกินกำลัง เพราะว่าเป็นสิ่งที่พระเณรของเราสมควรที่จะประพฤติปฏิบัติอยู่แล้ว

ดังนั้น...ไม่ว่าหลวงพ่อเจ้าคณะภาคหรือว่ารองเจ้าคณะภาค ๑๔ ท่านปรารภกับผมในวันนี้ ก็นับว่าสิ่งที่เราทำนั้นอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ เพียงแต่ว่าเราทั้งหลายจะรักษาคุณงามความดีนี้ให้ต่อเนื่องไปได้เท่าไร ก็ขอฝากเอาไว้เป็นการบ้านให้พวกท่านทั้งหลายได้พินิจพิจารณา และประพฤติปฏิบัติกันตามอัธยาศัย วันนี้ขอรบกวนทุกท่านแต่เพียงเท่านี้


พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 09:30


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว