กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน เดือนเมษายน ๒๕๖๗ (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=147)
-   -   เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๗ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=10192)

พิชวัฒน์ 30-04-2024 19:49

เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๗
 
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๗



เถรี 01-05-2024 00:08

วันนี้ตรงกับวันอังคารที่ ๓๐ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๗ กระผม/อาตมภาพต้องเข้าประชุมพระสังฆาธิการ ในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๔ ระดับเจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล รองเจ้าคณะตำบล และเลขานุการ ประจำเดือนเมษายน ๒๕๖๗ ผ่านระบบ Zoom Meeting Online

คราวนี้ปัญหาต่าง ๆ ในคณะสงฆ์ของเรา ต้องบอกว่า "แก้กันไม่รู้จักจบ" สาเหตุหลัก ๆ เลยก็คือ เกิดจากบุคคลที่ไม่รู้จักหน้าที่ตัวเองอย่างหนึ่ง ไม่คำนึงถึงสถานภาพความเป็นพระภิกษุสามเณรอีกอย่างหนึ่ง จึงมีเรื่องวุ่นวายให้บรรดาผู้บังคับบัญชาจะต้องมาวิ่งแก้ไขอยู่ตลอดเวลา

อย่างล่าสุดนี้ที่มีข่าวพระภิกษุสามเณรเข้าป่าล่าสัตว์ เรายังไม่รู้ว่ารายละเอียดที่แท้จริงเป็นอย่างไร แต่ว่าสื่อสังคม "ฟันธง" ไปเรียบร้อยแล้ว สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าหากว่าท่านไม่ได้ทำผิด กระผม/อาตมภาพก็ยังไม่เคยเห็นว่ามีใครออกมากราบขอขมาฝ่ายพระภิกษุสามเณรเลย ประมาณว่าออกข่าวแล้วออกข่าวเลย เพื่อที่จะเรียกยอดวิวยอดไลค์เท่านั้น..!

ปัญหาของคณะสงฆ์ภาค ๑๔ ที่วันนี้ปรารภกันถึงก็คือ เจ้าคณะตำบลบางราย ไม่ยอมส่งรายงานการปฏิบัติหน้าที่ ๖ ด้านของพระสังฆาธิการ ซึ่งเกิดจากสองสาเหตุด้วยกัน สาเหตุแรกก็คือทำไม่เป็น และไม่มีคนช่วย สาเหตุที่สองก็คือไม่ชอบหน้าผู้บังคับบัญชา สั่งมาก็ทำหูทวนลม ถ้าเป็นสาเหตุแรกยังไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเป็นสาเหตุที่สอง "ฟันธง" ได้เลยว่าอนาคตอาจจะต้องอาบัติหนัก เพราะว่าจัดอยู่ในประเภทว่ายากสอนยาก..!

ในเรื่องของวงการคณะสงฆ์หรือว่าวงการอื่น ๆ ก็ตาม ถ้าเราไม่แบกกิเลสเข้ามามากนัก เขาส่งใครมาเป็นเจ้านายก็ควรที่จะยอมรับได้ ไม่ใช่ว่าต้องคนโน้นเท่านั้น ต้องคนนี้เท่านั้น ซึ่งบรรดานักปฏิบัติส่วนใหญ่แล้วมักจะแบกกิเลสท่วมหัวเอาไว้ ก็คือ "ต้องหลวงพ่อของกูเท่านั้น ถ้าคนอื่นแล้วไม่ใช่" ถ้าอยู่ในลักษณะแบบนี้ เราจะรับความรู้ใหม่เข้าไปไม่ได้เลย เนื่องเพราะว่าทำตัวเป็น "น้ำล้นแก้ว" ไม่สามารถที่จะเติมของใหม่เข้าไปได้

เถรี 01-05-2024 00:18

กระผม/อาตมภาพเองก็เคยเป็นอย่างนี้มาก่อน ก็คือ "ถ้าไม่ใช่หลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุงแล้ว กูเรียกใครเป็นหลวงพ่อไม่ได้" พูดง่าย ๆ ว่ายอมลงให้ท่านเพียงรูปเดียวเท่านั้น..!

แต่เมื่อออกมาจากวัดท่าซุงมาแล้ว ไปกราบครูบาอาจารย์ที่ท่านมีความรู้ความสามารถอื่น ๆ จึงได้รับคำสั่งสอนประมาณว่า ในพระไตรปิฎกนั้น แม้พระราชายังต้องไหว้คนจัณฑาล เพื่อขอเรียนวิชา ก็แปลว่า ถ้าเรายังแบกมานะท่วมหัวอยู่ เราก็จะไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ เลย จึงสามารถที่จะกราบ จะไหว้ จะเรียกหลวงพ่อหลวงปู่ท่านอื่น ๆ ได้เต็มปากเต็มคำกับเขา

เรื่องพวกนี้เป็นเครื่องถ่วงนักปฏิบัติอย่างร้ายแรงมาก เพราะว่าเท่ากับเราแบกมานะ ซึ่งเป็นกิเลสใหญ่ แล้วก็ทำให้เราไม่ได้รับคำแนะนำสั่งสอนอื่น ๆ เพราะว่าไม่สามารถที่จะรับความรู้ใหม่ ๆ เข้าไปได้ ยึดมั่นถือมั่นเฉพาะของครูบาอาจารย์เองเท่านั้น

ดังนั้น..ในเรื่องของสายปฏิบัติธรรมต่าง ๆ ถ้ามีการประชุมเจ้าสำนักปฏิบัติธรรมเมื่อไร อย่าได้คุยเรื่องนี้ เพราะว่าถ้าคุยในเรื่องของสายการปฏิบัติธรรมเมื่อไรแล้วก็มักจะ "ของขึ้น" ก็คือรับไม่ได้ ถ้าโดนคนอื่นเขาวิพากษ์วิจารณ์ว่าของตัวเองไม่ดีอย่างไร ซึ่งความจริงแล้ว วิธีที่ดีที่สุดก็คือ
ศึกษาให้รู้จริงในสายวิชาของตน จะได้สามารถชี้แจงและแก้ไขได้ เมื่อคนที่ไม่เข้าใจมากล่าวถึงในแง่ที่ไม่ดี

อย่างวันนี้ก็เหมือนกัน เมื่อผู้บังคับบัญชาเขาปรารภว่า ถ้าไม่ให้ความร่วมมือ ก็ให้ทำหนังสือลาออกไปเลย เป็นการลงโทษ ก็มีเสียงโต้เถียงกลับมาว่า ถ้าเรื่องแค่นี้ลงโทษ แล้วไอ้พวกที่ไปนั่งหลับตาปลุกเสก นั่นอวดอุตริมนุสสธรรมไม่ใช่หรือ ? โทษหนักกว่าตั้งหลายเท่า ทำไมไม่ลงโทษ ? ทำเอาผู้บังคับบัญชาท่านไปไม่เป็นเหมือนกัน..!

แต่ความจริงท่านทั้งหลายต้องเข้าใจว่า คำว่า อวดอุตริมนุสสธรรม คือ อวดธรรมที่ไม่มีในตน ถ้าเราไปอวดว่ามีถึงจะโดนปรับอาบัติ ก็คือผิดพระธรรมวินัย แล้วท่านรู้ได้อย่างไรว่าบุคคลที่ไปทำแบบนั้นแล้วไม่มีความสามารถจริง ๆ ?

เถรี 01-05-2024 00:26

ในเรื่องทั้งหลายเหล่านี้เป็นการเถียงข้าง ๆ คู ๆ เพื่อเอาชนะกันตามอารมณ์กิเลสเท่านั้น อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอาไว้ว่า "เป็นการหากินด้วยเดรัจฉานวิชา" ก็เพราะว่าท่านให้เราหากินด้วยการบิณฑบาต ได้รับอาหารจากญาติโยมที่มีศรัทธาแท้ แต่คราวนี้คำว่าหากินด้วยเดรัจฉานวิชา แปลว่าทำเป็นปกติทุกวัน หรือว่าทุกบ่อย ก็คืออยู่ได้ด้วยลักษณะการแบบนั้นอย่างเดียว ในเมื่อเราไม่ได้อยู่ในลักษณะแบบนั้น ก็แปลว่าไม่ได้หากินโดยเดรัจฉานวิชา หากแต่เป็นการสงเคราะห์ต่อญาติโยมผู้มีศรัทธา

แต่คราวนี้เราก็จะเห็นว่า แม้แต่เรื่องของพระบิณฑบาต ซึ่งมีการถกเถียงกัน บรรดาพระภิกษุสายวิชาการก็จะบอกว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้ห้ามให้เราใส่รองเท้าใส่บาตร พูดง่าย ๆ ก็คือที่ถอดรองเท้าใส่บาตรทุกวันนี้เป็นการทำผิด เพราะว่าไม่มีในพระไตรปิฎก

กระผม/อาตมภาพอยากจะถามว่า ท่านอ่านพระไตรปิฎกครบแล้วหรือ ? ก็คือประการแรก การถอดรองเท้าเป็นการแสดงความเคารพ ซึ่งถ้าท่านทั้งหลายศึกษาในเรื่ององค์ของการประเคน ก็คือการที่ญาติโยมถวายของต่อพระภิกษุสามเณร ก็คือ

๑) ต้องอยู่ในเขตหัตถบาส คือ เอื้อมมือถึง
๒) เป็นของที่ไม่ใหญ่นัก พอที่บุรุษกำลังปานกลางจะยกขึ้นได้
๓) ไม่เป็นสิ่งของที่ต้องห้ามตามพระธรรมวินัย
๔) น้อมถวายด้วยความเคารพ


ในเมื่อการถอดรองเท้าเป็นการแสดงความเคารพ โบราณาจารย์ตลอดจนกระทั่งคนเก่าคนแก่ที่มีสภาพจิตละเอียด ท่านจึงให้ถอดรองเท้าใส่บาตร เพราะว่าเท่ากับเป็นการประเคนด้วยความเคารพ

ประการต่อไปก็คือ ญาติโยมจำนวนหนึ่งจะรอกรวดน้ำรับพรจากพระภิกษุสงฆ์เลย แล้วก็มีพวกวิตกจริตว่า ภิกษุผู้ยืนอยู่ไม่สามารถแสดงธรรมแก่ผู้ที่นั่งอยู่ หรือว่าการให้พรไม่มีในพระไตรปิฎก ทำในลักษณะนั้น เป็นการประจบชาวบ้านเพื่อปากท้องตัวเอง คิดฟุ้งซ่านไปได้ไกลมาก..!

เถรี 01-05-2024 00:32

ในเรื่องของการยืนอยู่แล้วไม่แสดงธรรมแก่ผู้นั่งอยู่ เราไม่ต้องตีความมาก คำว่า "แสดงธรรม" คือสอนในสิ่งที่คนอื่นรับเอาไปปฏิบัติ ส่วนการ "ให้พร" นั้นก็คือ กล่าวขอให้มีสิ่งที่ดีที่งามเกิดขึ้นแก่บุคคลอื่น ดังนั้น..การให้พรจึงไม่ใช่การแสดงธรรม จะไปประสาทรับประทานว่า ภิกษุยืนอยู่ แสดงธรรมแก่ผู้ที่นั่งอยู่ไม่ได้

เท่าที่เห็นในเรื่องของการให้พร จะมีการแสดงธรรมอยู่ก็คือ บทที่ว่า อภิวาทะนะสีลิสสะ นิจจัง คือผู้มีปกติอ่อนน้อมต่อผู้ทรงศีล วุฑฒาปะจายิโน จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ ย่อมเป็นผู้เจริญด้วยธรรม ๔ ประการคือ อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง
ตรงนี้ไม่ต้องแปลก็ทราบความหมาย

แต่อยากจะถามว่ามีกี่คนที่แปลได้ ? แม้กระทั่งพระของเราก็น้อยรูปที่จะแปลได้ ถ้าไม่ได้เรียนบาลี หรือไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้มาโดยตรง
ในเมื่อฟังไม่เข้าใจ เขาก็รับเป็นพรขลัง ๆ ไปเท่านั้น ไม่ใช่การแสดงธรรม เราจึงต้องแยกแยะให้ชัดเจน และศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ ให้รอบด้าน

โดยเฉพาะสมัยก่อน เขาถือการยืนเป็นการแสดงความเคารพ ส่วนสมัยนี้โยมนั่งหรือว่าคุกเข่า หรือพับเพียบเป็นการแสดงความเคารพ ก็แปลว่า ถ้าเราเกรงว่าเขาจะไม่เคารพในธรรมเพราะนั่งอยู่ สมัยนี้ใช้ไม่ได้แล้ว ถ้าหากว่าอ้างตามมหาปเทส ๔ สิ่งที่ไม่สมควร แต่พิจารณาแล้วว่าสมควร สิ่งนั้นย่อมสมควร ก็คือพระพุทธเจ้าห้ามไม่ให้แสดงธรรมแก่บุคคลผู้นั่งอยู่ เพราะเขาไม่เคารพในธรรม แต่สมัยนี้การนั่งอยู่เป็นการเคารพในธรรม จึงสมควรที่จะแสดงได้

เรื่องทั้งหลายเหล่านี้เป็นแค่เรื่องทางโลกเท่านั้น เมื่อเกิดขึ้นมา ระดับผู้บังคับบัญชายังไม่สามารถที่จะให้คำตอบที่ชัดเจนได้ แล้วพระภิกษุหนุ่ม สามเณรน้อยจะทำอย่างไร ?
จึงเป็นภาระที่เราท่านทั้งหลายต้องศึกษาให้รู้จริง ทั้งทางโลกและทางธรรม เพื่อที่ถึงเวลา เกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว จะได้ชี้แจงให้ชัดเจนว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรไม่สมควรทำ แล้วไม่สมควรจริง ๆ อะไรที่ไม่สมควรทำ แต่พิจารณารอบด้านแล้วสมควรก็ทำได้ เหล่านี้เป็นต้น

สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
วันอังคารที่ ๓๐ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๗
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 16:15


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว