บรรยายถวายความรู้แก่ผู้เข้ารับการอบรมเจ้าอาวาสใหม่ ในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๔
บรรยายถวายความรู้แก่ผู้เข้ารับการอบรมเจ้าอาวาสใหม่ ในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๔ วันจันทร์ที่ ๒๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ เวลา ๑๖.๓๐ น. พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เจ้าอาวาสวัดท่าขนุน รองเจ้าคณะอำเภอทองผาภูมิ (๒) เป็นวิทยากรบรรยายถวายความรู้แก่เจ้าอาวาสใหม่ ในโครงการอบรมพระสังฆาธิการผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสใหม่ ในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๔ รุ่นที่ ๑ ประจำปี ๒๕๖๕ ณ ศาลาเอนกประสงค์ วัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) หมู่ที่ ๒ ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม |
ขอถวายความเคารพพระเดชพระคุณพระเทพศาสนาภิบาล (แย้ม กิตฺตินฺธโร) เจ้าคณะภาค ๑๔ พระเดชพระคุณพระบวรรังษี (สมชาย พุทฺธญาโณ ป.ธ.๗) รองเจ้าคณะภาค ๑๔ ขอแสดงความนับถือพระเถรานุเถระเจ้าอาวาสใหม่ทุกรูป
กระผมพระครูวิลาศกาญจนธรรม รองเจ้าคณะอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ส่วนใหญ่ในที่นี้ก็รู้จักกันหมดแล้ว เพราะว่าถ้าไม่ใช่พรรคพวกเพื่อนฝูงร่วมรุ่น ทั้งการเรียน ทั้งนักเทศน์ ทั้งอะไรต่อมิอะไร ก็จะเป็นลูกศิษย์ที่เรียน มจร.อยู่ ทั้งที่วัดไร่ขิง วัดป่าเลไลยก์ และวัดไชยชุมพลชนะสงคราม ความจริงกระผมเดินทางกลับไปครึ่งทางแล้ว คราวนี้หลวงพี่โย่งของผม ท่านพระครูสุนทรสาครกิจ ส่งไลน์ไปตามว่า "หลวงพ่อ..ช่วยบรรยายสักชั่วโมงได้ไหมครับ ?" คือกระผมเดินทางไปพุทธาภิเษกที่วัดศรีโลหะราษฎร์บํารุง อำเภอท่าม่วงมา ตั้งใจว่าจะวิ่งยาวกลับถึงวัดท่าขนุนเลย แต่ในเมื่อ "ชาติเรียกร้อง" ก็ต้องย้อนกลับมา กระผมเห็นใจทุกท่านครับ เช้ายันค่ำทุกวันเลย ตอนนี้ก็ล้ากันเต็มทีแล้ว โดยเฉพาะหลวงปู่หลวงพ่อที่อายุกาลผ่านวัยเลยเกษียณเหมือนกระผม ก็แทบจะนั่งหลับกันแล้วครับ ตัวกระผมเองพอ ๖๐ กว่าปีแล้ว ตอนเย็น ๆ ถ้าหากว่าทำวัตร บางวันนี่ไมค์ฯ หลุดมือไม่รู้ตัว กำลังไม่พอที่จะประคองตัวให้อยู่ได้ทั้งวัน แต่ว่าด้วยหน้าที่ก็ต้องรับผิดชอบครับ ท่านทั้งหลายได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ไม่ว่าจะได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งอะไรก็ตาม ขอให้ตระหนักให้ชัดเลยนะครับว่า ตำแหน่งนั้นมาพร้อมกับหน้าที่ ถ้าหากว่าเป็นพระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าคณะภาค ๑๔ ของเรา ที่ส่วนใหญ่พวกเราก็เรียกกันว่าหลวงพ่อเจ้าคุณแย้มนั้น ท่านจะบอกอยู่เสมอว่า ต้องรู้จักหน้าที่ ต้องรักษาหน้าที่ ต้องทำตามหน้าที่และอย่าทำเกินหน้าที่ ก็แปลว่าสิ่งที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายให้พวกเรามา ไม่ได้ให้เรามาเสวยสุขกันนะครับ แต่ว่าเป็นการมอบภาระงานให้แบกเลย |
โดยเฉพาะหลายท่านที่เป็นพระนักปฏิบัติ สิ่งที่พวกเราต้องการก็คือ แสวงหาความวิเวกให้ตัวเองครับ เข้าป่า นั่งเงียบ ๆ ได้จะมีความสุขมาก แต่ปรากฏว่าชาวบ้านก็ดี กรรมการวัดก็ดี พระพี่พระน้องในวัดก็ดี ชี้นิ้วลงมาแล้วว่าเราเหมาะสม เราก็จำเป็นที่จะต้องเสียสละครับ และในเมื่อมีหน้าที่แล้วก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด คำว่าดีที่สุดนี่ ไม่ใช่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์นะครับ แต่ว่าต้องทำให้เต็มกำลังความสามารถของเรา
อย่างกระผมเอง อยู่ห่างจากวัดไร่ขิง ๒๔๐ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง ถ้ารถไม่ติดก็ ๓ ชั่วโมงนิด ๆ ถ้ารถติดอาจจะถึง ๔ ชั่วโมง อย่าเพิ่งท้อนะครับท่านทั้งหลาย กระผมเรียนที่วัดไร่ขิงตั้งแต่ประกาศนียบัตรบริหารกิจการคณะสงฆ์ ปริญญาตรี ปริญญาโท ตอนนั้นยังไม่มีปริญญาเอก ก็เลยต้องไปเรียนที่วัดศรีสุดาราม เป็นนิสิตที่มาเรียนไกลที่สุด และเป็นอาจารย์ที่มาสอนไกลที่สุด เป็นอาจารย์ที่เข้าไปนั่งรอลูกศิษย์ในห้องก่อนทุกชั่วโมง นี่คือความตระหนักในหน้าที่ครับท่านทั้งหลาย เขามอบหมายมาแล้ว เราก็ต้องทำให้ดีที่สุด จากประสบการณ์ส่วนตัวของกระผมเองที่ทำหน้าที่นี้มา ก็ต้องบอกว่า ๒๘ ปีเข้าไปแล้ว ที่รับภาระในความเป็นเจ้าอาวาสมาหลายวัด เหตุที่ต้องหลายวัด เพราะว่าพอผู้บังคับบัญชาเห็นว่าวัดไหนไม่ไหว ก็ส่งกระผมไปช่วยจัดการ จนกระทั่งเจริญขึ้นมา แล้วก็ย้ายวัดต่อไป จนกระทั่งบางทีท่านก็ถามว่า "ตอนนี้คุณอยู่วัดไหน ?" กระผมเองก็กลืนน้ำลาย เอื๊อก..! "นี่เจ้านายย้ายเราแล้วไม่จำเลยว่าเราอยู่ที่ไหน ?" ประมาณนั้น เพียงแต่ว่าในเมื่อมีความสามารถพอ และผู้บังคับบัญชาไว้วางใจ เราก็ต้องทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดเท่าที่จะพึงทำได้ คราวนี้สิ่งที่ผมทำมาอันดับแรก คือ การปลูกศรัทธา ศรัทธาคือสิ่งที่เกิดยากที่สุด แต่ถ้าเกิดแล้วก็ตายยากที่สุดเหมือนกันครับ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ กระผมทำมาตั้งแต่ยังเป็นฆราวาสครับ ก็คือเข้าวัด ปฏิบัติธรรม สร้างบุญสร้างกุศลมาโดยตลอด ญาติโยมเขาเห็นครับ ในเมื่อทำต่อเนื่องกันมาหลาย ๆ ปี พอมาบวช ญาติโยมจำนวนมากจึงเต็มใจสนับสนุน กระผมขอยืนยันกับหลวงปู่หลวงพ่อ ตลอดจนกระทั่งหลวงพี่เจ้าอาวาสใหม่ทุกท่านนะครับ ญาติโยมที่อยากทำบุญมีมาก แต่เขาต้องการพระที่เขาไว้ใจได้ครับ |
ที่วัดท่าขนุน ซึ่งเป็นวัดล่าสุดที่กระผมอยู่ มีระเบียบว่า ห้ามบอกบุญ ห้ามเรี่ยไรครับ ใครอยากทำบุญ ให้เขามาง้อเราเองทั้งน้ำตา..! แต่กระผมก็ได้บอกกับพระในวัดไว้นะครับว่า "ถ้าท่านใดมาเป็นเจ้าอาวาสต่อจากกระผม ให้ใช้อำนาจเจ้าอาวาสยกเลิกระเบียบข้อนี้เสีย ไม่เช่นนั้นมีหวังได้อดกันแน่..!"
เพราะว่าศรัทธาเป็นของเฉพาะตัวครับ ถ้าเราปลูกศรัทธาได้สำเร็จ สิ่งนั้นจะติดตัวเราไปตลอด กระผมย้ายมา ๔ - ๕ วัด ญาติโยมก็ตามไป ช่วยทำบุญ ช่วยสนับสนุนตลอดมา พอถึงเวลาย้ายวัด เขาก็ไม่ได้อยู่ตรงวัดนั้นครับ เขาตามไปวัดใหม่ นี่คือสิ่งที่ญาติโยมทำให้เราเห็นว่า ศรัทธาเป็นของสำคัญ ถ้าปลูกศรัทธาขึ้นแล้ว ตายยากสุด ๆ ครับ ประการที่สองก็คือ ไม่ว่าท่านทั้งหลายอยู่ที่ไหน ให้เล็งไว้ก่อนครับว่าในวัดเรามีอะไรเป็นต้นทุนบ้าง วัดไหนมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีเจ้าอาวาสขลัง ทำให้ดังได้ทุกวัดครับ เพียงแต่ทำเป็นหรือเปล่าเท่านั้น ? หลายวัดถึงขนาดไปลากตอตะเคียนเข้าวัดมา เพื่อที่ให้ญาติโยมทั้งหลาย อย่างน้อย ๆ ก็มีความหวังสักเดือนละ ๒ ครั้ง แม้กระผมจะไม่ค่อยเห็นด้วย แต่ในเมื่อเขาพยายามทำก็...เอ้า...ตามใจ..ทำไปเถอะ..! ถ้าหากว่าเราไม่มีต้นทุน อดีตเจ้าอาวาสไม่ขลัง ตัวเราก็ไม่ขลัง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดไม่ได้รับการใส่ใจจากญาติโยมเท่าที่ควร ก็ให้ยึดหลักที่บรรดาพระเถระท่านถวายความรู้ตลอด ๓ วันที่ผ่านมา คือ ทำวัดเราให้ สะอาด สว่าง สงบ เห็นแล้วคนจะอยากเข้าวัดเองครับ ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายเคยไปวัดท่าขนุน จะเห็นว่าวัดของกระผมนี่ป่าดี ๆ นี่เองครับ แต่ใบไม้น้อยมาก เพราะอย่างน้อยพระภิกษุสามเณรช่วยกันกวาดวันละ ๒ รอบ ถ้ามีพายุฝนมาอะไรมาก็เพิ่มรอบเข้าไปอีก วัดสะอาด คนก็อยากเข้าวัดครับ สมัยที่ผมไปเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าขนุนใหม่ ๆ ไปถึงหน้าโบสถ์แล้วไม่เห็นโบสถ์ครับ แล้วก็มีป้ายเขียนชี้ว่า "ทางเข้าวัด" ทั้ง ๆ ที่อยู่หน้าโบสถ์ครับ..! เพราะว่ารอบโบสถ์นั้นเป็นดงระกำครับ ไอ้ต้นหนามสูงท่วมหัวนั่นแหละ พร้อมกับต้นไม้ใหญ่อื่น ๆ ด้วย กระผมต้องรื้อทิ้งหมดเลยครับ บอกกับกรรมการวัดว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านี้บดบังทัศนียภาพ ทำให้คนมาแล้วไม่เห็นวัด เราจำเป็นที่จะต้องเปิดออกมา แล้วเดี๋ยวจะทำใหม่ใด้ดีกว่าเดิม เมื่อปลูกศรัทธาแล้วหาต้นทุน หาไม่ได้ก็ใช้หลักสะอาด สว่าง สงบ ๓ ประการนี้เท่านั้น คนเราทุกวันนี้วุ่นวายกับชีวิตมาก วัดไหนเข้าไปแล้วสงบ เข้าไปแล้วเย็น เขาจะอยากไปครับ |
สมัยที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระเทพวิสุทธิโสภณ (เฉลา เตชวนฺโต ป.ธ.๙, ดร.) วัดราชคฤห์วรวิหาร ยังเป็นรองเจ้าคณะภาค ๑๔ อยู่ ท่านดูแลในเรื่องของสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๔ พอเห็นกระผมส่งรายงานว่า จัดการปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติอย่างน้อยปีละ ๖ ครั้ง แต่จำกัดไว้ไม่เกิน ๓๐๐ รูป/คน ท่านหัวเราะครับ ท่านบอกว่า "ที่อื่นเขาจะหาให้ได้ ๓๐๐ คนก็ยาก แต่ของอาจารย์พระครูต้องจำกัดไว้ว่าไม่เกิน ๓๐๐ คนทั้ง ๆ ที่ทางไกลขนาดนั้น" "ก็เพราะว่ากระผมมีที่พักให้เขาไม่พอครับ" เป็นความตั้งใจเองเลย ทั้ง ๆ ที่สามารถสร้างที่พักได้
กระผมไปดูเรื่องของหอพักหลายครั้งมากครับ ประเภท ๕ ชั้น ๖๐ ห้อง ๘๐ ห้อง แล้วแต่เขาแบ่งกัน สร้างได้ครับ แต่ถ้ากระผมสร้าง ชาวบ้านจะไม่ได้อะไร ถ้ากระผมไม่สร้าง รีสอร์ต โฮมสเตย์ บังกะโล โรงแรม ได้เงินหมด ก็เลยต้องกัดฟันให้โยมบ่น..ไม่สร้างครับ ใครมาเร็วกว่าก็ได้ที่พักไป ถ้าเกินกว่านั้นก็ไปเช่าที่พักกันเอาเอง แล้วก็เป็นเรื่องแปลกครับ กระผมจัดโครงการปฏิบัติธรรม ๒ วัน ๑ คืน โดยเฉพาะเน้นวันเสาร์-อาทิตย์ ไม่ประสบความสำเร็จครับ จนต้องยกเลิกไป แต่ถ้าหากว่าหลักสูตรระยะยาวในช่วงหยุดยาว ๆ อย่างเช่น ๓ วัน ๒ คืน หรือ ๕ วัน ๔ คืน โยมไปกันเยอะมาก สงสัยแล้วต้องถามครับ ก็เลยถามว่าทำไม ? เขาบอกว่าเดินทางไกลครับ ไปแล้วต้องเอาให้คุ้ม ไปเช้าวันเสาร์ กลับเย็นวันอาทิตย์นี่แทบจะไม่ได้อะไร จึงเป็นเรื่องแปลกครับ หลักการบริหารวัดต่อไปของเราก็คือ บูรณะของเก่า คำว่า บูรณะ ในที่นี้คือทำให้ดีขึ้น แต่ท่านทั้งหลายเชื่อไหมครับว่า ๔ - ๕ วัดที่ผ่านมา กระผมรื้อทิ้งเสียมากเลย เพราะว่าญาติโยมจำนวนหนึ่งพอมีศรัทธา ไปขออนุญาตหลวงปู่หลวงพ่อเจ้าอาวาส ท่านก็ "เออ...สร้างไปเลย" เขาก็สร้างไปเรื่อยจนรกไปหมดทั้งวัดครับ บางวัดนี่เป็นสลัมเลยครับ..! ขออนุญาตเอ่ยชื่อเลย ก็คือวัดราษฎร์ประชุมชนารามหรือว่าวัดท่ามะขาม วัดของพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระเทพเมธากร (ณรงค์ ปริสุทฺโธ ป.ธ.๔) อดีตเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี ตอนนั้นท่านแต่งตั้งคณะกรรมการบูรณปฏิสังขรณ์วัด มีกระผมอยู่ด้วย แล้วกรรมการหลักท่านหนึ่ง คือพลตรีศรชัย มนตริวัต อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อดีตส.ส.จังหวัดกาญจนบุรีหลายสมัย |
ท่านเป็นคนชอบขี่จักรยาน ก็ขี่วน ๆ ๆ ดูรอบวัด หลายวันมาก แล้ววันหนึ่งก็มาถอนหายใจเฮือกกับกระผม ท่านถามว่า "หลวงพี่มีความเห็นอย่างไรกับวัดนี้ ?" กระผมก็ถามว่า "เสธ.จะเอาความจริงไหม ?" ท่านบอก "เอาความจริงครับ" กระผมบอกว่า "เรียนเสธ.อย่างใจจริงเลยนะ ถ้าเป็นอาตมาก็รื้อทิ้งหมดทั้งวัดแล้วทำใหม่..!" ท่านบอกว่า "ทำไมคิดเหมือนผมเลย" ก็คือหลวงพ่ออดีตเจ้าคณะจังหวัด พอเราสร้างอะไรขึ้นมา ท่านจะจินตนาการบรรเจิดครับ แล้วท่านก็จะต่อซ้ายต่อขวา เติมหน้าเติมหลัง ไอ้ที่เราทำไว้ดี ๆ จะกลายเป็นโรงลิเกไปหมดครับ
แล้วปัจจุบันนี้ พอสิ้นเจ้าอาวาส ก็คือพระมหาสันติ โชติกโร ป.ธ.๙ อดีตรองเจ้าคณะอำเภอห้วยกระเจา ซึ่งเป็นเพื่อนฝูงกัน ก่อนท่านมรณภาพ ท่านทำหนังสือลักษณะเป็นพินัยกรรม ขอให้กระผมส่งวัดพระวัดท่าขนุนมาดูแล ได้โอกาสแล้วครับ ทุกวันนี้รื้อกระจายอยู่ครับ ท่านทั้งหลาย ถ้าหากว่าบริหารวัด เราต้องมีสายตาครับ ทำอย่างไรวัดจะสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย ถ้าสามารถแบ่งเขตเป็นพุทธาวาส ธัมมาวาส สังฆาวาส อะไรให้ชัดเจนก็เอาเลย แต่ถ้ายังไม่สามารถทำได้ อะไรที่เก่า ขออนุญาตเจ้าภาพเดิมหรือลูกหลานเจ้าภาพ บอกขอรื้อออกก่อน เดี๋ยวมีโอกาสจะทำให้ใหม่ ดีกว่าเดิม ส่วนใหญ่เขายินดีทั้งนั้นครับ ถ้าทำให้ดีกว่าเดิมได้ นี่ก็คือการบูรณะของเก่า ต่อไปก็สร้างของใหม่ครับ อะไรที่ไม่มีแล้วคิดว่าสามารถดึงญาติโยมเข้าวัดได้ ทำขึ้นมาครับ ของกระผมบูรณะของเก่า ก็คือทางรถไฟสายมรณะ เป็นแหล่งเที่ยวชุมชน ก็ถือว่าเป็นแหล่งเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ฝรั่งมากันเยอะมาก แล้วกระผมก็มาพิจารณาว่าวัดท่าขนุนก็ดี จังหวัดกาญจนบุรีก็ดี ยังไม่มีพระพุทธรูปสำคัญที่คนรู้จักกันทั้งประเทศ ถ้าเอ่ยถึงหลวงพ่อวัดไร่ขิง คนจะนึกถึงจังหวัดนครปฐม เอ่ยถึงพระพุทธชินราช คนจะนึกถึงจังหวัดพิษณุโลก แล้วถ้าเอ่ยถึงจังหวัดกาญจนบุรี เขาจะนึกถึงอะไรครับ ? ไม่มีครับ ในเมื่อไม่มี เรามีความสามารถ เราก็สร้างเอง |
กระผมสร้างพระพุทธรูปทองคำ หน้าตัก ๑๙ นิ้ว น้ำหนัก ๙๗.๕๗๕ กิโลกรัม ยังดีนะครับที่สร้างเสร็จก่อนทองคำขึ้นราคา ขนาดนั้นยังหมดไป ๑๓๐ กว่าล้านบาท โดยตกลงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะเทศบาลว่า "อาตมาสร้าง โยมรับผิดชอบตั้งขบวนแห่ปีละครั้ง ไม่เกิน ๓ ปี จะติดตลาด"
ปรากฏว่าสร้างเสร็จ แห่ได้ครั้งเดียวครับ โควิดระเบิด..! เงียบมาจนทุกวันนี้ แต่มั่นใจครับ เหตุที่มั่นใจเพราะว่าขนาดฉุกละหุกนะครับ ของทุกอย่างเรียบร้อยวันที่ ๙ วันที่ ๑๕ ตั้งขบวนแห่ ญาติโยมมาร่วมงาน หน่วยงานต่าง ๆ มาร่วมงาน ขบวนยาวเกือบ ๓ กิโลเมตร เพราะฉะนั้น...เริ่มใหม่เมื่อไรก็ได้เมื่อนั้น บูรณะของเก่า สร้างของใหม่ หลักการต่อไปคือเทิดไท้องค์ราชันครับ เกาะสถาบันเข้าไว้ อย่างที่วัดของกระผมมีงานปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ มีงานบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนถวายกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีการเจริญพระพุทธมนต์ถวายเป็นพระราชกุศล สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ที่เราจัด นอกจากเป็นหน้าเป็นตาแก่คณะสงฆ์แล้ว หน่วยราชการในพื้นที่ทั้งหมด อยากมาร่วมมากครับ เพราะว่าเขามาเมื่อไร เขาได้ผลงานไปด้วย ดังนั้น...เราต้องคิดหาจังหวะดี ๆ อย่างปีนี้กระผมตั้งใจอุปสมบทหมู่ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง รับ ๙๐ คนเท่านั้น นี่คือสิ่งที่เราสามารถยึดสถาบัน เพื่อที่จะทำให้วัดของเราเป็นศูนย์กลางของชุมชนได้ |
หลักการต่อไปที่กระผมใช้อยู่ก็คือประสาน ๑๐ ทิศครับ หน่วยงานไหนมีงบประมาณให้ ทำเรื่องขอไปเลย โดยเฉพาะเทศบาลหรือว่าองค์การบริหารส่วนตำบล แต่ว่าเขาทั้งหลายเหล่านี้ติดด้วยปีงบประมาณ ถ้าท่านจะทำโครงการอะไรปีหน้า ต้องรีบทำเรื่องขอตั้งแต่ปีนี้ และยื่นเรื่องก่อนเดือนพฤษภาคม เพื่อเขาจะได้พิจารณาอนุมัติให้ทันงบประมาณของปีหน้า
หรือไม่ก็สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด หน่วยงานเหล่านี้มีงบประมาณให้เราทั้งนั้นครับ และผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้น ก็พร้อมที่จะช่วยเหลือสนับสนุนให้เกิดความคล่องตัวในงานทุกอย่าง อย่างที่เมื่อสักครู่ ท่านเจ้าคุณอาจารย์พระปริยัติวรานุกูล (ปัญญา วีรเมธี ป.ธ.๕) ก็บอกแล้วว่าจัดงานแต่ละครั้ง ผู้บังคับบัญชาระดับไหนเซ็นอนุมัติได้ เราไม่เก่งหนังสือไม่เป็นไรครับ เด็กสมัยนี้เก่งกันเยอะมาก ให้เขาช่วยทำให้ โดยเฉพาะรุ่นใหม่ ๆ ใช้คอมพิวเตอร์กันเก่งมากครับ อายุ ๖๐ กว่าอย่างกระผมนี่แก้เกินแกงแล้ว แต่ก็พยายามที่จะเรียนรู้อยู่ ประสาน ๑๐ ทิศครับ โดยเฉพาะใช้หลักบวร บ้าน วัด โรงเรียน และหน่วยราชการ วัดท่าขนุนของกระผมมีเครือข่าย ๒๖ แห่ง ถึงเวลาจะทำอะไร แค่เครือข่ายเหล่านี้อย่างเดียวมาช่วยเรา คนก็เต็มวัดแล้วครับ หลักการทำงานข้อสุดท้ายที่กระผมใช้อยู่ก็คือ เสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้ชุมชน กระผมจะไปค้นดูเลยครับว่าในชุมชนเรามีของดีอะไรบ้าง สิ่งไหนเป็นแหล่งเที่ยวได้ สิ่งไหนขายให้นักท่องเที่ยวได้ อะไรที่เป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านที่มีชื่อเสียง อะไรที่เป็นสิ่งของที่มีชื่อเสียง ต้องพยายามขุดขึ้นมาครับ อย่างเช่นทองผาภูมิของกระผมมีผ้าทอ ไม่ว่าจะผ้าทอกะเหรี่ยง ผ้าทอมอญ ผ้าทออีสาน กระผมไปสนับสนุนถึงขนาดให้กี่ทอ ให้ด้าย คือถ้าหากว่าไม่มีด้ายก็ทอผ้าไม่ได้ อาหารการกินที่เป็นของพื้นบ้านที่มีชื่อเสียง ผลไม้ พืชผัก โดยเฉพาะเงาะทองผาภูมิและทุเรียนทองผาภูมิ ทุกวันนี้คนพื้นที่แทบจะไม่ได้กินเองครับ พ่อค้าไปเหมายกสวนตั้งแต่ยังเขียว ๆ อยู่เลย..! |
ที่สำคัญที่สุดก็คือสนับสนุนเขาแล้ว หาตลาดให้เขาด้วยครับ ก่อนเชื้อไวรัสโควิด ๑๙ ระบาด กระผมเปิดตลาดชุมชนในวัด เอาแค่ญาติโยมที่มาวัดอย่างเดียวก็พอแล้วครับ ไม่ต้องหาลูกค้าที่อื่น เมื่อเกิดโควิดระบาดขึ้นมา ไม่สามารถที่จะให้คนหมู่มากมาอยู่รวมกันในวัดได้ กระผมไปสร้างร้านค้าชุมชนให้ตรงบริเวณสวนสาธารณะหัวสะพานแขวนหลวงปู่สาย ให้ทั้งหมดเอาสินค้าไปจำหน่ายทุกวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์
ปัจจุบันนี้โครงการใหญ่ที่ทำอยู่ก็คือ ตลาดชุมชนริมฝั่งแม่น้ำแควน้อยครับ เป้าหมายก็คือว่า เมื่อทำแล้วทุกหมู่บ้านมีสินค้าอะไรที่เป็นหน้าเป็นตา ให้เอามาจำหน่ายฟรี แต่กระผมต้องลงทุนสร้างตลาดเอง ๑๔ ล้าน ๕ แสนบาท บริษัทรับเหมาเซ็นสัญญากำลังทำรากฐานอยู่ นี่คือสิ่งที่เจ้าอาวาสทั้งหลายควรที่จะเอาไปปรับใช้กับของเรา อย่างที่พระเดชพระคุณพระพรหมกวี (ประกอบ ธมฺมเสฏฺโฐ ป.ธ. ๙, Ph.D.) กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร บอกกล่าววันก่อนว่า "ไม่ใช่ทำทุกอย่าง แต่ทำตามกำลังของเรา" นกน้อยทำรังแต่พอตัวครับ เพียงแต่ว่าถ้ารังของเรา สะอาด สว่าง สงบ ญาติโยมก็อยากที่จะเข้าวัด โดยเฉพาะเป็นเจ้าอาวาสแล้ว ความสัมพันธ์กับชุมชนอย่าได้ทิ้งเป็นอันขาด หน้าที่การสาธารณสงเคราะห์ ที่เป็น ๑ ใน ๖ ด้านของคณะสงฆ์ จำเป็นอย่างยิ่งครับ การศึกษาสงเคราะห์กับสาธารณสงเคราะห์ช่วยดึงคนเข้าวัดได้ดีมาก |
เมื่อวันวิสาขบูชาที่ผ่านมา กระผมจัดมอบทุนการศึกษาประจำปี เฉพาะเด็กนักเรียนที่มารับทุน เกือบ ๖๐๐ คนครับ แล้วลองคิดดูว่า เด็ก ๑ คน พ่อแม่มา ๒ คน คนจะเข้าวัดเท่าไร ? เป็นการให้โดยไม่มีข้อแม้ด้วยครับ
ชั้นประถมศึกษา โรงเรียนละ ๒๐ ทุน ๆ ละ ๒,๐๐๐ บาท ชั้นมัธยมศึกษา โรงเรียนละ ๒๐ ทุน ๆ ละ ๓,๐๐๐ บาท กระผมให้เด็กดีครับ ก็คือระบุคุณสมบัติไปเลยว่าความประพฤติดี เรียนดี มีฐานะยากจน ให้ทางโรงเรียนจัดสรรมา แต่กระผมมาให้เด็กเก่งในทุนอุดมศึกษาครับ ปริญญาตรีขึ้นไปต้องสอบชิงทุน ถ้าสอบชิงทุนได้ กระผมให้ปีละ ๓๐,๐๐๐ บาทต่อเนื่องจนกว่าจะจบ เรียนหลักสูตร ๔ ปี ให้ปีละ ๓๐,๐๐๐ บาท เรียนหลักสูตร ๕ ปี ก็ให้ปีละ ๓๐,๐๐๐ บาท ส่วนพระภิกษุสามเณรทุกรูปที่อยู่กับกระผม จะส่งเรียนหมดครับ ต้องการเรียนระดับไหนให้หมดเลย ปัจจุบันนี้มีพระสงฆ์ที่จบปริญญาเอกของจังหวัดกาญจนบุรี ๑๓ รูป เป็นของวัดท่าขนุนไป ๖ รูปครับ เกือบครึ่งหนึ่งนะครับ..! แต่ที่กล่าวมานี้ไม่ได้หมายความว่า ให้หลวงพ่อ หลวงปู่ หลวงพี่ของกระผมทุกคนทำตามแบบนี้ เราจะให้ทุนละ ๑๐๐ บาทก็ได้ครับ สำคัญตรงที่ว่าให้แล้วส่งรายงานด้วย ผู้บังคับบัญชาจะได้เก็บผลงานของเราเอาไว้ โดยเฉพาะปัจจุบันนี้ เรามีการประชุมคณะสงฆ์ภาค ๑๔ ทุกเดือน เมื่อถึงเวลาเลขานุการเจ้าคณะจังหวัด จะต้องรายงานเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ครับ เรามีกำลังเท่าไร เราก็ทำแค่นั้น |
แต่กระผมขอยืนยันกับทุกท่านว่า คนอยากทำบุญกันมาก แต่เขาต้องการพระที่เขาไว้ใจได้ครับ กระผมก็เลยทำงานทุกอย่างไปโดยที่ไม่บอกไม่กล่าว รอให้เขาเห็นเอง แล้วมาขอร่วมบุญด้วย
ในเมื่อทำแบบนี้วันแล้ววันเล่า เดือนแล้วเดือนเล่า ปีแล้วปีเล่า ก็ทำให้ญาติโยมทั้งหลายเขาเห็นและอยากจะทำ เพราะว่าสิ่งที่เขาทำ เป็นรูปธรรมจับต้องได้ทันที บอกว่าสร้างคือสร้าง บอกว่าให้คือให้ สำคัญตรงที่ว่าเราต้องตระหนักในหน้าที่ครับ เจ้าอาวาสของเรามีหน้าที่อย่างไร ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ใช้พระเดชให้น้อยที่สุด ใช้พระคุณให้มาก แล้วท่านทั้งหลายจะประสบความสำเร็จ เป็นเจ้าอาวาสในดวงใจของชาวบ้านในเวลาอันไม่นานครับ ท้ายสุดนี้ กระผมขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พรหม เทวดา ครูบาอาจารย์ ตลอดจนกระทั่งบารมีของหลวงพ่อวัดไร่ขิง หลวงปู่อุบาลีคุณูปมาจารย์ (ปัญญา อินฺทปญฺโญ) อดีตเจ้าอาวาสไร่ขิง รวมกับคุณความดีที่เจ้าอาวาสใหม่ทั้งหลายได้กระทำมาตั้งแต่ต้น จงมารวมกันเป็นตบะเดชะ พลวปัจจัย ดลบันดาลให้ท่านทั้งหลายประสบแต่ความสุขความเจริญทั้งทางโลกทางธรรม แม้ว่าประสงค์จำนงหมายสิ่งหนึ่งประการใด ที่เป็นไปโดยชอบ ประกอบด้วยธรรมวินัย ขอให้ความประสงค์ของท่านทั้งหลายจงสำเร็จ สัมฤทธิ์ผลสมดังมโนรถปรารถนาทุกประการด้วยเทอญ พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. บรรยายถวายความรู้แก่ผู้เข้าอบรมเจ้าอาวาสใหม่ ในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๑๔ วันจันทร์ที่ ๒๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย) |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 06:39 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.