กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=43)
-   -   การแก้ไขตนเอง ด้วยอุบายทางธรรม (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=2241)

ลัก...ยิ้ม 03-11-2010 11:38

การแก้ไขตนเอง ด้วยอุบายทางธรรม
 
การแก้ไขตนเอง ด้วยอุบายทางธรรม



สมเด็จพระพุทธองค์ ทรงตรัสสอนไว้ด้วยอุบายทางธรรมมากมายหลายวีธี เพื่อให้จิตของพวกเจ้าซึ่งมีกิเลสร้อยรัดอยู่ (สังโยชน์) ๑๐ ข้อ หลุดออกตามลำดับจนเกิดเป็นอธิศีล อธิจิตและอธิปัญญาได้ตามลำดับ

ผมเลือกยกเอามาแต่เฉพาะบางส่วน ที่ผมเห็นว่าเหมาะสมสำหรับบุคคลในกลุ่มที่ติดตามกันมา ด้วยการสนทนาธรรมเพื่อนำไปสู่ความหลุดพ้นเป็นเวลา ๑๖ ปีแล้วเป็นสำคัญ พระองค์ตรัสสอนไว้มีความสำคัญโดยย่อ ดังนี้

๑. “อย่าเพ่งโทษผู้อื่น ใครจักดีจักเลวก็เรื่องของเขา พยายามรักษาใจ อย่าให้มีอคติกับใคร ถ้าจักละอารมณ์ ๒ ต้องดูจุดนี้ให้ดี ๆ

๒. “พยายามอย่าเห็นว่าใครดี ใครเลว ให้พิจารณาดูว่าเป็นกฎของกรรมหมดทั้งสิ้น เป็นเรื่องธรรมดา วางเสียให้ได้ อารมณ์ก็จักเย็นลง ไฟราคะ ไฟโทสะ ก็จักเบาลง”

๓. “ถามคนทั้งโลก ไม่มีใครอยากเลว ทุกคนอยากดี แต่อารมณ์อกุศลกรรมบังคับ ทำให้จิตคิดเลว ปากพูดเลว กายทำเลว เพราะคิดว่าการกระทำของตนนั้นดี เพราะกฎของกรรมบังคับ ให้ดูเขาเป็นตัวอย่าง แต่จงอย่าไปเพ่งโทษเขา ให้เพ่งโทษตนเอง เพราะสังโยชน์ ๑๐ ยังไม่ขาด จักเป็นคนดีไปไม่ได้”

๔. “จงหมั่นอาราธนาบารมีพระรัตนตรัย แผ่เมตตาไปให้ผู้มีอุปการคุณเนือง ๆ จักทำให้เขาเป็นสุขด้วยผลบุญนี้ เพราะคนกตัญญูรู้คุณคน รู้คุณพระ พรหม เทวดา นางฟ้า ย่อมไม่มีที่อับจน หากจักลำบากบ้าง ก็เพราะกฎของกรรมที่เข้ามาสนอง ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัยที่ใคร ๆ จักช่วยได้”

๕. “หากกฎของกรรมเกิดแก่เจ้า จงกำหนดรู้ และพึงยอมรับด้วยความสงบโดยใช้ปัญญาพิจารณา ก็จักทราบทั้งเหตุทั้งผลอยู่ในนั้นเสร็จ การยอมรับกฎของกรรม คือ การยอมรับความจริงหรืออริยสัจ ทำปัญญาให้เกิด นำไปสู่ความพ้นทุกข์ได้ในที่สุด”

ลัก...ยิ้ม 04-11-2010 09:07

๖. “อย่าฟื้นฝอยหาตะเข็บ จะทำให้คนรุ่นหลังตกนรกเพราะปรามาสพระรัตนตรัย เรื่องเหล่านี้ปุถุชนคนธรรมดาจะเข้าใจยาก” (ผมขอยกตัวอย่างทางโลก พอถึงวันปฏิวัติรัฐประหารมีการฆ่ากัน ทำร้ายกัน พวกเขาก็จะกระตุ้นให้คนรุ่นหลังซึ่งไม่รู้เรื่องให้รู้ กันลืม บังคับให้จำแต่ของเลว ๆ ทำจิตให้เศร้าหมองอยู่เสมอ เพื่อตายแล้วจะได้ไปสู่ทุคติ เหมือนพวกในอดีตเหล่านั้น)

๗. “อย่าลืม คนที่พลาดพลั้งเสียทีนั้นส่วนใหญ่ประมาท ทำอะไรไม่ใคร่ครวญเสียก่อน ชอบคิดแต่ส่วนดี จะเอาแต่ได้ เอาแต่คุณ เอาแต่สุข เพราะลืมไปว่าธรรมในโลกนี้มีเป็นคู่เสมอ จะเอาแต่อย่างเดียวไม่ได้ ไม่คิดให้ครบวงจร เพราะส่วนเสียเป็นโทษเป็นทุกข์ที่จักเกิดตามมามิได้คิด ด้วยเหตุที่มีอุปาทานผิด ๆ นั่นเอง สภาวะของโลกจึงนำไปสู่ความฉิบหายหรือทุกข์ หรืออนัตตาในที่สุด

๘. “อย่าเอาอารมณ์คนอื่นมาใส่ใจเรา ยกเว้นอารมณ์ของพระอริยเจ้าเท่านั้นที่ควรใส่ใจ อารมณ์ ๒ เกิดเพราะชอบยุ่งกับผู้อื่นที่เป็นโลกียวิสัย จำเลวชอบ จำดีไม่ค่อยสนใจ ก็ขาดทุนทุกที เพราะลืมมงคลภายในที่ว่า อย่าคบคนพาล จงคบบัณฑิต บูชาคนที่ควรบูชา ชอบมีอารมณ์ขี้เก็บ หรือเก็บขี้อยู่เสมอ”

ลัก...ยิ้ม 05-11-2010 08:31

๙. “การพ้นสุขหรือทุกข์ในโลกียวิสัย จักต้องเน้นที่จิตให้ทรงพรหมวิหาร ๔ เป็นสำคัญ รักษาจิตเข้าไว้ด้วยเมตตา กรุณา คือ รัก สงสารจิตของตนเองก่อน มุทิตา มีความอ่อนโยนให้แก่จิตของตนเอง ไม่สร้างความเร่าร้อนให้แก่จิต มีอุเบกขา คือ ความสงบ วางเฉยในสิ่งที่มากระทบอารมณ์ของจิตทั้งปวง ทั้ง ๔ ประการนี้ต้องพยายามทรงไว้เป็นอารมณ์ทั้งวัน แต่จำไว้ว่าให้ทำแบบสบาย ๆ ทำด้วยความพอใจ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา มีความรักในพรหมวิหาร ๔ มีความเพียรที่จักรักษาพรหมวิหาร ๔ และใช้ปัญญาใคร่ครวญพรหมวิหาร ๔ อยู่เสมอ ๆ การตัดอารมณ์ที่จักติดในปฏิกิริยาของบุคคลอื่นก็เป็นของไม่ยาก หรือตัดวางอารมณ์ปฏิกิริยาของตนเองที่ไหวไปด้วยความโกรธ โลภ หลง ก็เป็นของไม่ยาก ขอให้จงใคร่ครวญพิจารณาตามนี้ให้ดี ๆ”

ก) ธรรมของพระพุทธเจ้า สอนให้เราเห็นทุกข์ตามความเป็นจริงของการเกิดมามีร่างกาย (ทุกขสัจ)

ข) ให้เห็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ อยู่ที่ใจ (สมุทัย) มีตัณหา ๓ ประการ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภาวตัณหา ใจยึดมั่นถือมั่นเป็นอุปาทาน ไม่ยอมวาง

ค) ให้เห็นผลของการปล่อย ละ วาง สมุทัยได้แล้ว หรือดับต้นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ได้แล้วมีผลอย่างไร (นิโรธ)

ง) แนะนำวิธีปฏิบัติเพื่อให้ถึงความพ้นทุกข์ได้ ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา คือ ดับการเกิดมีร่างกายได้อย่างถาวรเด็ดขาดตลอดกาล หรือพ้นทุกข์อย่างถาวร คือ ต้องเข้าสู่แดนพระนิพพานด้วยอริยสัจ ๔ เท่านั้น ทรงตรัสเน้นให้เห็นว่า พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ ทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้ด้วยอริยสัจ ๔ เหมือนกันหมดทุก ๆ พระองค์ และพระอริยสาวกของพระองค์ทุกองค์ ต่างก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ด้วยอริยสัจ ๔ ด้วยกันทั้งสิ้น มีทางนี้ทางเดียว ทางอื่นไม่มี”

ลัก...ยิ้ม 08-11-2010 09:23

๑๐. “พระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ตรัสสอนไว้ถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เมื่อย่อแล้วเหลือประโยคเดียว มีความสำคัญสรุปว่า “จงพร้อมอยู่ในความไม่ประมาทเถิด หรือ จงอย่าประมาทนั่นเอง ดังนั้น ใครจักประมาทก็เรื่องของเขา จงอย่าสนใจปฏิกิริยาหรือจริยาของผู้อื่น เราอย่าประมาทเท่านั้นเป็นพอ ไม่ใช่หน้าที่ของเราจักไปตักเตือนเขา ให้เตือนจิตของเราเองดีกว่า ท่องคาถาบทหนึ่งว่า ช่างมัน ทุกอย่างเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ว่าพระหรือฆราวาส ถ้ายังตัดสังโยชน์ ๑๐ ไม่หมด ก็จักต้องมีความประมาททุกคน ภิกษุที่ละเมิดศีลก็มาจากความประมาท คิดว่าอาบัติเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่เป็นไร ความชั่วเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจักเป็นมโนกรรม วจีกรรม กายกรรมก็ดี เนื่องมาจากความประมาททั้งสิ้น ประมาทเพราะขาดเทวธรรมหรือหิริ โอตตัปปะ ประมาทเพราะขาดนิสัมมะ กรณัง โสยโย ประมาทเพราะคิดว่ากรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่มีผล นี่เป็นหนทางแห่งความชั่ว อีกทั้งประมาทเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำอะไรก็คิดว่าดีแล้วอยู่เสมอ มีความหลงเป็นที่ตั้ง คิดเข้าข้างต้นเอง หลอกตนเอง ยึดทิฏฐิคือ ความคิดของตนเองเป็นใหญ่ เป็นเอกาธิปไตย (ยอมหักไม่ยอมงอ หมายความว่า ไม่ยอมแพ้ความชั่วของผู้อื่นเพื่อที่จะชนะความชั่วของตนเอง โลกวุ่นวายอยู่ทุกวันนี้ก็ด้วยเหตุนี้เอง)

๑๑. “อย่าลืมนะเจ้า ถ้าหากความคิดประเภทนี้เกิดขึ้นเมื่อไร ก็หันมาจับสังโยชน์ ๑๐ เป็นเครื่องวัดใจ เพื่อเตือนสติของตนให้มีสัมปชัญญะ กำหนดรู้ว่าสังโยชน์ ๑๐ ยังไม่ขาดหมดทุกข้อ คำว่าถูกต้องโดยไม่ผิดพลาดนั้นยังไม่มี ยังมีความประมาทอยู่ อย่าหลงคำว่าตนเองดีเป็นอันขาด แม้พระอริยเจ้าเบื้องสูงท่านตัดสังโยชน์ ๑๐ ได้หมดแล้ว แต่ขันธ์ ๕ ยังอยู่ (ยังไม่ตาย) ท่านก็ยังไม่คิดว่าตนเองดี เพราะยังมีร่างกายเป็นเครื่องจองจำ มีภาระที่จักต้องเลี้ยงดูร่างกาย ท่านจึงอยู่ในความไม่ประมาท โดยเฉพาะความตาย มีอานาปานุสติ มรณาและอุปสมานุสติอยู่ทุกขณะจิตด้วยความไม่ประมาทในธรรม ท่านทราบดีว่าผู้ที่ไม่ผิดพลาดเลย คือ รอบรู้ทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่ผิดพลาดมีแต่พระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น ให้พวกเจ้าศึกษาจุดนี้ให้ดี ๆ ถ้าทำได้ความประมาทก็จักลดน้อยลงไป การตัดสังโยชน์ที่เหลืออยู่ก็เป็นของไม่ยาก”

๑๒. “สมเด็จพระพุทธกัสสป ทรงพระเมตตาตรัสสอนอุบายในการละขันธ์ ๕ โดยเฉพาะราคะจริต ทรงให้หลักโดยย่อว่า หากเห็นสิ่งใดว่าสวยสดงดงาม ให้เห็นเป็นนิมิตว่ามันไม่สวย โดยทำให้สิ่งนั้นหายไปหรือชำรุด แหว่ง หลุด ขาด ขนาดเล็กไป ใหญ่ไป ความสวยงามก็จะหมดไปทันที เช่น ตาสวย หากเอาลูกตานั้นออกไปเสียจะเป็นอย่างไร? ผมสวย ก็ให้ผมหลุด หัวโล้นเป็นอย่างไร? ฟันสวย ก็ให้ฟันหลุด ฟันหลอ ฟันหัก ฟันผุ ไม่มีฟันจะเป็นอย่างไร? ผิวสวย ก็ลอกผิวนั้นออกจะเป็นอย่างไร? ปากสวย ก็ให้ปากแหว่ง ปากกว้าง ปากจู๋จะเป็นอย่างไร? จมูกสวย ก็ให้จมูกโหว่ จมูกหัก จมูกรูปชมพู่จะเป็นอย่างไร? แม้ดูร่างกายทรวดทรงสมส่วน ก็ให้มันใหญ่โตมโหฬาร หรือผอมแห้งจะเป็นอย่างไร? หรือลอกหนังเนื้อออกให้หมด เหลือแต่โครงกระดูกแล้วจะเป็นอย่างไร? แม้อวัยวะเพศ และแขน ขา หากมันขาด ด้วน หงิกงอ ผิดรูปไป ขนาดมันใหญ่ไป เล็กไป จะเป็นอย่างไร? เป็นต้น ในอาการ ๓๒ นี้ หากมันขาดไปหรือเล็กไปใหญ่ไปเกินพอดี ล้วนทำให้หมดความสวยงามลงทันที ทั้งหมดล้วนเป็นอุบายในการตัดอารมณ์ราคะได้ทั้งสิ้น แต่จงอย่าลืมว่า ให้ใช้อุบายนี้ด้วยนิมิต ใช้ปัญญาเป็นนิมิตเห็นเท่านั้น

ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๗
รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 01:42


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว