วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๐
อบรมที่เกาะพระฤๅษี วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๐ วันนี้เป็นวันพระสิ้นเดือน พวกคุณได้เตรียมรถเอาไว้ไปปาฏิโมกข์กันหรือยัง ? เพราะว่าเดี๋ยวผมต้องเข้ากรุงเทพฯ แวะหลายที่กว่าจะถึง เรื่องของการฟังพระปาฏิโมกข์ เป็นการทวนศีลของเรา ความจริงเราทวนเองก็ได้ แต่ว่าการไปฟังปาฏิโมกข์นั้น อันดับแรก เป็นความสามัคคีในหมู่คณะ อันดับที่สอง ได้ทวนศีลของตัวเอง อันดับที่สาม เมื่อรู้ว่าตนเองมีข้อบกพร่องที่ไหน ก็จะแสดงคืนอาบัติตรงจุดนั้น เรื่องของการฟังพระปาฏิโมกข์ พระพุทธเจ้าท่านให้ความสำคัญที่สุด พระมหากัปปินเถระ* ท่านเป็นพระมหากษัตริย์มาก่อน ท่านนี้สุดยอดในความเลื่อมใสพระพุทธเจ้า พอท่านทราบว่ามีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้วในโลก ก็สละราชสมบัติเลย ทิ้งอย่างชนิดไม่ใยดี ขี่ม้าตรงไปที่ ๆ มั่นใจว่าพระพุทธเจ้าท่านอยู่ ปรากฏว่าไปเจอแม่น้ำใหญ่ขวางหน้า ท่านตั้งใจว่า ในเมื่อคุณความดีของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีอยู่อย่างแท้จริงในโลก ท่านเองต้องการที่จะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ในเมื่อแม่น้ำใหญ่ขวางหน้า ท่านก็จะขอผ่านไปด้วยพุทธานุภาพนี้แหละ ถ้าหากว่าพระพุทธเจ้าที่ท่านได้ข่าวว่ามีอยู่นั้น เป็นพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง ก็ขออย่าให้น้ำนั้นเปียกแม้แต่ข้อเท้าม้าเลย แล้วท่านก็ขี่ม้าผ่านน้ำไปได้จริง ๆ ท่านบวชไม่นานก็เป็นพระอรหันต์ มีอยู่วันหนึ่ง ท่านกำลังเดินจงกรมอยู่ในป่า คุณจะสังเกตว่าพระอรหันต์ท่านยังไม่ทิ้งกิจวัตร ในเรื่องของทาน ของศีล ของภาวนา ท่านยังทำอยู่เป็นปรกติ เพื่อความอยู่สุขในปัจจุบันตอนนั้น เพื่อเป็นความไม่ประมาท จะได้ทบทวนอยู่เสมอว่า ตอนนี้จิตมีความชั่วแทรกเข้ามาได้หรือเปล่า ? ท่านเดินจงกรมอยู่ในป่า ปรากฏว่าเห็นพระจันทร์เต็มดวง ขอให้จำไว้แม่น ๆ ว่าวันที่พระจันทร์เต็มดวงจริง ๆ นั้น พระจันทร์จะขึ้นก่อนพระอาทิตย์ตก พอท่านเห็นว่าพระจันทร์เต็มดวง ท่านก็นึกได้ว่า วันนี้เป็นวันปาฏิโมกข์ แล้วท่านก็คิดว่า “เออ..เราอยู่ในป่า อยู่ไกล การไปฟังพระปาฏิโมกข์ เท่ากับเป็นการทวนศีลของตัวเอง แต่ว่าเราเป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่ต้องไปก็น่าจะได้” พระพุทธเจ้าอยู่ที่พระคันธกุฎี ในพระเชตวันมหาวิหารโน่น ทรงทราบความคิดนี้จึงเปล่งฉัพพรรณรังสีไปปรากฏเฉพาะหน้า เหมือนกับพระองค์ไปเอง ตรัสว่า “ดูก่อน..กัปปินะ ถ้าหากว่าภิกษุทุกรูปคิดอย่างเธอ ศาสนานี้จะตั้งอยู่ไม่ได้” นั่นพระอรหันต์นะ พระพุทธเจ้าท่านยังไม่ยอมผ่อนปรนให้เลย เพราะว่าทุกอย่างถ้าหากว่าขันให้ตึงไว้ ถ้าผ่อนก็จะพอดี แต่ถ้าขืนปล่อยให้หย่อน ผ่อนเมื่อไรก็จะยาน แล้วเราจะเอาดีไม่ได้ หมายเหตุ : * พระสุตตันตปิฎก : อังคุตตรนิกาย : เอกนิบาต - ทุกนิบาต - ติกนิบาต : เอตทัคคะปาลิ : เอตทัคควรรค : วรรคที่ ๔ |
พวกเราที่บวชเข้ามา เราตั้งใจจะเอาดี อย่าลืมเมื่อครู่นี้ว่า พระมหากัปปินะท่าน แม้เป็นพระอรหันต์แล้วยังไม่ทิ้งการปฏิบัติ ไม่มีพระอริยเจ้ารูปไหน ที่ก้าวถึงความเป็นพระอริยเจ้าแล้วจะทิ้งการปฏิบัติ มีแต่จะยิ่งทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป
พวกเรามีโอกาสทวนศีลอยู่ทุกวัน สี่โมงเย็นก็เปิดพระวินัย ที่สำคัญก็เรื่องของสมาธิ ในเมื่อเราทวนศีลแล้ว เรื่องของสมาธิเราจะมีความก้าวหน้าอย่างไร ? นอกจากเราต้องฝึกหัดทำสมาธิ และรู้จักประคับประคองอารมณ์สมาธิ ให้อยู่กับเราให้นานที่สุด แล้วต้องฝึกซ้อมให้เกิดความคล่องตัวว่า จะเข้าสมาธิในระดับไหนก็ต้องได้ จะเป็นอุปจารสมาธิ** เป็นปฐมฌาน เป็นฌานสอง ฌานสาม ฌานสี่ หรือเป็นสมาบัติแปด*** เมื่อไรก็ได้ เลื่อนทีละขั้นก็ได้ สลับขั้นกันก็ต้องได้ ตรงจุดนี้เคยกล่าวไปแล้ว อยากจะให้พวกเราเพิ่มอีกส่วนคือว่า การเข้าสมาธิตามเวลา ใหม่ ๆ ไม่ต้องมาก เอาแค่สามนาที ห้านาที เมื่อกำหนดใจว่าเราจะนั่งสมาธิ ทันทีที่หลับตาลง จิตดิ่งลงสู่สมาธิ ให้กำหนดใจไว้เลยว่า อีกห้านาทีเราถึงจะลืมตาขึ้นมา หรืออีกห้านาทีเราจะคลายสมาธิออกมา แล้วให้จดจ่ออยู่กับการภาวนานั้น แล้วไม่ต้องไปสนใจว่า นาฬิกามันจะไปถึงไหน ก่อนหลับตาลงให้ตั้งใจดูนาฬิกาไว้ อีกห้านาทีต่อไปเข็มยาวเข็มสั้นมันจะชี้ตรงไหน ให้กำหนดจดจำไว้ในใจ แล้วลืมมันไปเลย ให้ตั้งใจอยู่กับองค์ภาวนาอย่างเดียว จิตมันมีสภาพจำ ถ้าหากว่าเราตั้งใจไว้อย่างนั้น ถึงเวลามันจะออกมาตรงเวลาพอดี ใหม่ ๆ ก็ใกล้เคียง แต่ถ้านานไปมันจะตรงเวลา แล้วเราค่อยเพิ่มเวลาขึ้น เป็นสิบนาที สิบห้านาที ครึ่งชั่วโมง หนึ่งชั่วโมง แล้วแต่เราจะกำหนด ถ้าหากว่าคล่องตัวมาก ๆ จะเอาสักสามวันเจ็ดวันก็ได้ ถ้าไม่ถึงเวลาจิตของเราจะไม่ถอนออกมา ถ้าเราซ้อมตรงนี้จนคล่อง เราตั้งใจไว้เท่าไรก็จะทำได้เท่านั้น ส่วนที่เหลือเราจะได้ไปทำงานทำการของเราตามปกติได้ โดยประคองรักษาอารมณ์ กำหนดสติรู้ไว้กับองค์ภาวนาเท่านั้น ถึงเวลาเราจะพัก เราก็ตัดเข้าไปหาอารมณ์ฌานที่เราต้องการเลย แล้วอีกห้านาที สิบนาทีเราค่อยออกมา หมายเหตุ : ** วิสุทฺธิ. ๑/๑๕๐ ; ๒/๑๙๔ : ม.มู. ๑๒๑๐๒/๗๒ *** ที.ปา. ๑๑/๒๓๕/๒๓๕ : สํ.สฬ. ๑๘/๕๑๙/๓๒๖ : ขุ.ปฏิ. ๓๑/๖๐/๓๔ |
การพักในสมาธิแม้ว่าจะใช้เวลาน้อย แต่ก็เหมือนกับว่าได้พักนาน ร่างกายเราจะได้ไม่เหนื่อย จิตใจจะผ่องใสชุ่มชื่น มีความทรงตัวตั้งมั่น สติก็แหลมคมว่องไว ทำให้เราสามารถรู้ทันว่ามีกิเลสอะไรเข้ามาในใจของเรา จะได้ขับไล่ออกไปให้ทันท่วงที
ดังนั้นว่า ช่วงที่ผมไม่อยู่นี้ ให้พวกเราทุกคนซ้อม นอกจากจะซ้อมเข้าสมาธิ สลับไปสลับมาตามลำดับที่เราทำได้แล้ว ยังให้ซ้อมเข้าสมาธิด้วยการตั้งเวลาไว้ ใหม่ ๆ ไม่ต้องมาก เอาแค่ ห้านาที สิบนาทีก็พอ ถ้าหากว่าสมาธิของคุณไม่ทรงตัวจริง ๆ สามนาที ห้านาทีก็เหมือนกับเป็นวัน เราจะคอยแต่ลืมตาดูว่า เมื่อไหร่จะถึงเวลา อันนั้นคุณต้องลืมไปเลย ถ้าจะทำให้สำเร็จจะต้องลืมไปเลย ตั้งใจดูนาฬิกาว่าตอนนี้เวลาเท่าไร เวลาที่เรากำหนดไว้กี่นาที จะไปถึงตรงไหน พอจำเอาไว้แล้วก็ลืมเสีย ให้จดจ่ออยู่กับการภาวนาอย่างเดียว ถ้าคุณลืมไม่ได้ สมาธิก็จะไม่ทรงตัว ฟุ้งซ่าน คอยจะลืมตาดูนาฬิกาตลอด แต่ถ้าคุณตัดทิ้งไปเลย เข้าสู่สมาธิตามที่เราต้องการ ทำได้แค่ไหนไปให้สูงสุดแค่นั้น กำหนดใจอยู่กับตรงนั้น ถ้าถึงเวลาแล้ว สิ่งที่เรากำหนดว่า เราต้องการแค่นั้นนาที เท่านี้นาที เราก็จะออกมาตรงเวลา สำหรับวันนี้ถือว่าให้งานหนัก เพราะว่าเรื่องของศีล เราทวนอยู่แล้วทุกวัน เรื่องของสมาธิ เราเข้าสมาธิแล้ว ถ้ารักษากำลังใจไว้ไม่ได้ กิเลสก็จะกินเราได้ เมื่อเราเข้าสมาธิ เรารักษากำลังใจได้ ก็ขอให้ซ้อมการเข้าออกให้คล่อง ต้องการจะเข้าในระดับไหน ออกในชั้นไหน ขอให้ทำให้ได้ ตอนนี้ก็เพิ่มข้อสุดท้ายคือว่า ต้องเข้าสมาธิตั้งเวลาให้ได้ ไม่อย่างนั้นแล้ว ถ้าสมาธิทรงตัวก็จะเลยเวลา การงานที่เคยรับผิดชอบจะเสียหมด ขอฝากไว้ให้พวกเราพยายามทำให้เต็มที่ ขอยืนยันว่าเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ ไม่เกินความสามารถที่จะทำได้ เพียงแต่เราจะทำจริงหรือไม่เท่านั้นเอง ----------------------------------- |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 05:58 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.