กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=43)
-   -   ปุจฉาและวิสัชนากับหลวงปู่ไวย (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=2835)

ลัก...ยิ้ม 10-08-2011 10:52

ปุจฉาและวิสัชนากับหลวงปู่ไวย
 
ปุจฉาและวิสัชนากับหลวงปู่ไวย
เพื่อให้เกิดปัญญา


ท่านพระสุรจิต ผมและเพื่อนของผมได้ไปกราบหลวงปู่ไวยที่ จ. สระบุรี และได้สนทนาธรรมกับท่าน ท่านก็เมตตาสอนให้มีความสำคัญ ดังนี้

๑. สงสัยว่าสัญญาหรือความจำนั้นเสื่อมเป็นอนิจจา แต่ผลของการปฏิบัติที่ได้แล้วนั้นไม่เสื่อมใช่ไหม ท่านตอบว่า “ความจำเสื่อม หมายความว่า ความจำใหม่ภายนอกมักจะลืม แต่ความจำภายในที่ได้แล้วไม่ลืม ของใหม่ที่เข้ามาต้องอาศัยการจดบันทึกไว้กันลืม เพราะธรรมนั้นเรายังปฏิบัติไม่ได้ หรือจิตยังไม่ถึงธรรมนั้น ซึ่งก็เป็นธรรมดาของกายสังขาร มันก็เสื่อมของมันตามธรรมดา (หลวงปู่ท่านว่า โยมจะถามอะไรก็ตาม ฉันก็ตอบให้เท่าที่รู้ มีโอกาสก็จงตักตวงเถิด ฉันให้ได้ไม่นานแล้ว ท่านบอกใบ้ว่าใกล้เวลาที่ท่านจะทิ้งขันธ์ ๕ แล้ว บันทึกไว้เมื่อ ๘ ก.ค. ๓๘)”

๒. ถาม ขณะนี้กายหลวงปู่ป่วย กำลังมีเวทนาอยู่ หลวงปู่วางอารมณ์จิตอย่างไร ตอบ “ให้ดูเวทนาของกายว่า เป็นธรรมดาของมันอยู่อย่างนั้น โดยไม่ปรุงแต่ง ท่านให้ “เปรียบร่างกายเหมือนใบไม้ที่ผลิออกมาจากต้น จากใบอ่อนเจริญขึ้น ๆ จนกระทั่งเป็นใบแก่ แล้วก็ร่วงหล่นลงสู่พื้นเป็นปุ๋ยให้ต้นไม้ดูดกินไป แล้วก็ผลิใบออกมาใหม่อยู่อย่างนั้น เวทนาเป็นของคู่กับกายมานับชาติไม่ถ้วน เกิด-ตาย ๆ มันก็มีเวทนาทุกชาติ ถ้าเราไปมีอารมณ์พอใจหรือไม่พอใจ มันก็ต้องกลับมาเกิดแล้วก็ตาย ตายแล้วเกิด ให้ต้องพบกับร่างกายและเวทนาอย่างนี้อีก คนที่เขามีปัญญา ก็หาทางหนีไปให้พ้นจากการต้องกลับมามีร่างกาย โดยการกำหนดจิตดูเวทนาที่มันเกิดอย่างอดทน ดูมันไปจนถึงที่สุด แล้วจะเห็นว่ามันก็ต้องดับไปในที่สุด ธรรมดาของเวทนาเป็นอย่างนี้ คือให้วางเฉยเสีย หรืออุเบกขาเสีย”

๓. ถาม ถ้าจิตมีเวทนา จะวางอารมณ์จิตอย่างไร ตอบ “ถ้าจิตมีเวทนาอยู่ จิตก็ต้องไหวเป็นธรรมดา ให้สังเกตดูอารมณ์ไหวของจิตเสมือนน้ำที่อยู่ในแก้ว ซึ่งวางไว้ในที่สงบเพราะจิตยังไม่มีอะไรมากระทบ ต่อเมื่อมีลมพัดเบา ๆ น้ำก็ไหวน้อยเหมือนกระดาษย่น ถ้าลมพัดแรงน้ำก็ไหวมากเหมือนลูกคลื่นในทะเล คือให้ดูว่าไหวแค่ไหน อย่างไรก็ต้องรู้ หากสังขารยังไม่หมดปรุงแต่งก็ต้องฝืนดัดนิสัยของอารมณ์ ฝืนจิตให้มันพิจารณาธรรมที่มีอยู่ภายนอกทั่ว ๆ ไป ธรรมของพระพุทธเจ้าสอนมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง อยู่ที่เราไม่ค่อยจะดูให้เกิดปัญญา เช่น เดินออกไปข้างนอก นั่นดูลมว่ามันพัดต้องกาย ก็ให้รู้กิริยาของกายว่ามีเวทนาอย่างไร แต่พอลมสงบ กายไม่ถูกสัมผัสโดยลม จิตมีเวทนาอย่างไร คือให้เห็นการเกิดการดับของเวทนามันเป็นอย่างไร สำหรับเวทนาของจิตที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็ต้องฝึกดัดนิสัยของอารมณ์”

๔. ถาม เมื่ออายตนะภายนอกมากระทบอายตนะภายในรู้ว่าจิตยังไหว แต่ยังห้ามมันไม่ได้ จุดนี้หลวงปู่ช่วยเมตตาสงเคราะห์แนะวิธีแก้ไขให้ด้วย ตอบ “ให้สังเกตลมหายใจ ตอนจิตไม่ไหวลมหายใจเป็นอย่างไร และเมื่อเกิดมีอารมณ์ ลมหายใจก็เปลี่ยน อย่างเกิดโทสะ ลมหายใจจะสั้น-ถี่และเร็วเข้า หัวใจเต้นแรงและเร็ว วิธีแก้เมื่อจิตไหวอยู่อย่างนั้น ก็ให้กำหนดชัดลมหายใจเข้ายาว ๆ เหมือนคนที่ถอนใจด้วยความกลุ้มใจ จุดนี้ก็จะระงับได้ มีผลทำให้โทสะคลายตัวลง ในด้านราคะ ในอดีตท่านก็ติดการแบ่งเพศ ว่านี่ผู้หญิง ผู้ชาย แต่ปัจจุบันท่านเห็นผู้หญิง-ผู้ชายเท่ากันหมด ไม่เห็นจะมีเพศไหนวิเศษกว่ากัน เพราะมันต้องกินแล้วก็ขี้-ก็เยี่ยวเหมือนกันหมด แล้วที่สุดก็ตายหมดเหมือนกัน ที่กายกับกายมันมีอะไรกัน เพราะอาศัยกามารมณ์ตัวเดียว กายจริง ๆ มันประกอบด้วยธาตุ ๔ มีอาการ ๓๒ สกปรก ไม่เที่ยง ถ้าไม่มีจิตมาคอยบงการมันก็ชอบกันไม่ได้

ส่วนใหญ่มักจะสอนให้กำหนดรู้ลม ดูลมและตามลม ซึ่งก็ถูกต้อง แต่ไม่สอนต่อไปจนถึงตัวปัญญา คือให้เห็นความไม่เที่ยงของลม ควบคู่กับอารมณ์ที่ไหวไปของจิต คนกินข้าวก็ต้องรู้ว่าอิ่มเป็นอย่างไร หิวมีเวทนาอย่างไร รู้จนกระทั่งกายสังขารมันเหนื่อย เพราะกินอาหารมากเกินไป ในอดีตท่านเคยจงกรมรอบโบสถ์ได้ ๑๐ รอบ ปัจจุบันแค่ ๕ รอบก็เหนื่อยต้องพัก จะต้องรู้ตัวมัชฌิมาของตนเองว่าอยู่ตรงไหน รู้ได้ที่จิตของตน ซึ่งมีพรหมวิหาร ๔ เต็มและทรงตัว

ลัก...ยิ้ม 11-08-2011 09:04

ในด้านปัญญาในพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าตรัสแบ่งไว้ ๓ ขั้น คือ หยาบ กลาง ละเอียด คือ

ก) สุตมยปัญญา คือ รู้แค่จำได้ แค่สัญญาซึ่งเป็นอนิจจา

ข) จินตมยปัญญา คือ จำได้และพิจารณาใคร่ครวญ จนสามารถจะเข้าใจในธรรมนั้น ๆ ได้ด้วยตนเอง คือ เกิดปัญญาและสัญญา ซึ่งก็ยังไม่เที่ยง ไม่จริง

ค) ภาวนามยปัญญา พิจารณาต่อไปในธรรมนั้น ๆ ให้เกิดความชำนาญ พิจารณาจนตีธรรมนั้น ๆ แตกแทงตลอดในธรรมนั้น ๆ จนสัญญาหมดไป หมายความว่าเขาเกิดของเขาเองเป็นอัตโนมัติ ถูกกระทบจิตก็รู้เอง ทำงานได้เองเป็นอัตโนมัติ ซึ่งใครเกิดก็เป็นปัญญาแท้ ๆ สัญญาหมดไป นี่แหละก็คือผลทางปฏิบัติในพระพุทธศาสนา เป็นของจริงตรงนี้

ทางโลกเขามุ่งเอาธาตุ ๔ เป็นหลักเป็นรูปธรรม ส่วนทางธรรมมุ่งเอานามธรรมเป็นหลัก ทางโลกเขาค้นคว้า ส่วนเล็ก ๆ ไปถึงปรมาณู ซึ่งตาเปล่าไม่เห็น แต่กล้องอิเล็กตรอนสามารถทำให้เห็นได้ แต่ตัวจิต-อารมณ์ของจิต-กายของจิตหรืออทิสมานกาย พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นอณูพิเศษ ทางโลกเขายังไม่สามารถหาเครื่องมือใด ๆ มาจับ มาวัดได้

พระสิทธัตถะยังไม่ใช่พระพุทธเจ้า ยังเป็นเจ้าชายหรือพระโพธิสัตว์อยู่ ความเป็นพระพุทธเจ้าอยู่ที่จิต แม้ออกบวชแล้วก็ยังไม่ใช่พระภิกษุในพุทธศาสนา เพราะพุทธศาสนายังไม่เกิด ยังไม่มี ยังเป็นแค่นักบวชในศาสนาพราหมณ์ เพราะฉะนั้น การพูดถึงพระพุทธเจ้า จะต้องบอกด้วยว่าเรื่องนั้น ๆ มีมาก่อนเป็นหรือหลังเป็นพระพุทธเจ้า เพราะหากเป็นเรื่องหลังเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ใช้เป็นที่พึ่งที่ยึดถือได้ เพราะพระธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ย่อมเที่ยงเสมอ ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงเป็นอื่นอีก

ลัก...ยิ้ม 15-08-2011 10:10

สมเด็จองค์ปฐม ทรงมีพระเมตตาตรัสสอนว่า

ก) “พิจารณาธรรมในธรรมที่หลวงปู่ไวยให้ไว้มาก ๆ จักเห็นละเอียดในธรรมได้มากยิ่งกว่านี้ และพึงปฏิบัติให้ได้ด้วย ในด้านของการต่อสู้กับอารมณ์ ๒”

ข) “ทุกอย่างพึงเร่งรัดตนเองเข้าไว้ จงอย่าประมาทในความตายเป็นอันขาด และพึงแก้ไขจุดบกพร่องตามที่ท่านแนะนำเพื่อทำให้ได้ผลจริง ๆ แล้วจักได้หายข้องใจในเรื่องอิทธิพลของอานาปาฯ จริง ๆ เสียที ตั้งใจทำให้จริง ไม่มีอะไรยากหรอก


หมายเหตุ... จากคุณยายสายท่าขนุน

"ขออภัยที่ทักท้วงไปก่อน ซึ่งได้พยายามหาวิธีย่อคำสนธิเช่นนี้แล้ว แต่ยังไม่ชัดเจน
...จึงได้แนะนำให้ใส่ไปยาลน้อยไป
ด้วยเหตุผลที่คำว่า "อานาปา" นั้น ไม่ครบคำที่ให้ความหมายในข้อความนั้น
หากจะหมายถึงลมหายใจเพียงอย่างเดียว ต้องเขียนเป็น "อานาปาน"...
คำนี้ควรจะเป็น "อานาปานุสติ"
จึงตัดตัวสะกด "น" ของคำแรกออก ไปเป็นพยัญชนะของคำว่า "อนุสติ" ที่ไม่ได้เขียนไว้
แล้วย่อด้วยการใส่ไปยาลน้อย เพื่อให้ทราบว่าเป็นคำย่อ ดังนี้
...หากพบหลักภาษาที่ถูกต้อง จะนำมาแบ่งปันโดยเร็ว
กราบขอขมาหากมีข้อผิดพลั้งใด ๆ... เห็นว่าการใส่ไปยาลน้อยไว้ ถูกต้องกว่าไม่ใส่
(หากไม่ใส่ ก็จะเป็นคำที่สะกดผิด)"

ลัก...ยิ้ม 16-08-2011 09:52

๕. ถาม อารมณ์สงบที่ไม่มีความคิดใด ๆ ไม่มีคำภาวนาใด ๆ นั้น มีประโยชน์อย่างไร ตอบ “ความสงบเช่นนั้นเปรียบเหมือนกับน้ำที่ใส่แก้ว ตั้งอยู่ในที่สงบปราศจากลมพัด ตามที่ได้เคยอธิบายไว้แล้ว อารมณ์อย่างนี้ไม่อิงสุข ไม่อิงทุกข์ นั้นแหละเป็นอารมณ์สงบ เป็นอารมณ์กลาง ๆ เป็นอารมณ์อัพยากฤตหรืออารมณ์อุเบกขา อารมณ์ช่างมัน อารมณ์สังขารุเบกขาญาณตัวเดียวกัน พยายามทรงอารมณ์นี้ให้ได้บ่อย ๆ จนชำนาญและทรงตัว สังขารุเบกญาณก็เกิดได้ที่จุดนี้

๖. ถาม ควรจะทำอย่างไรกับเรื่องในอดีต มักเอามาพิจารณาเป็นปัจจุบัน ทำให้จิตฟุ้งซ่าน ตอบ “อารมณ์นี้เขาเรียกว่า วิภาวตัณหา เหตุการณ์นั้นผ่านไปแล้ว เป็นอดีตธรรม จิตอยากจะให้ย้อนกลับมาเหมือนเดิม หรืออยากจะให้เป็นอย่างตนคิดในปัจจุบัน จัดเป็นอารมณ์หลง เป็นกามตัณหา-ภวตัณหา-วิภาวตัณหา (สิ่งที่ยังไม่มี-ไม่เกิด อยากให้มี-ให้เกิดขึ้น พอมีขึ้น เกิดขึ้นแล้วเป็นอัตตา แต่พอมันเสื่อมมันสลายเป็นอนัตตาหรือเป็นอดีตธรรมไปแล้ว จิตยังหลงจะให้กลับมาเป็นอย่างเก่าเหมือนเดิม ให้กลับมาเป็นปัจจุบันธรรม) ให้พิจารณาตัณหา ๓ นี้ให้ดี ๆ แล้วจะเข้าใจได้เอง”

๗. ถาม ควรปฏิบัติอย่างไร กับอารมณ์จิตที่ชอบส่งออกนอกตัว เป็นธัมเมาอยู่เสมอ หรือชอบตั้งบริษัทส่งออกและบริษัทนำเข้า ตอบ “ให้ใช้อานาปานุสติ กลับมาสนใจธรรมภายใน คือ กำหนดรู้ลม จับลมและตามลมก็จะทำให้อารมณ์สงบไม่ฟุ้งซ่าน-ไม่ส่งออก หากเข้าใจเอาประโยชน์จากการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก มาใช้ให้เกิดประโยชน์ แก้ไขได้ทั้งอารมณ์ โมหะ-โทสะและราคะอย่างอารมณ์โลภ ให้สังเกตดูอารมณ์จิตที่อยากได้อาหาร ซึ่งความอยากเป็นกิเลสตัณหาที่จิตสร้างขึ้น ส่วนการหิวอาหาร เป็นเวทนาของกายตามปกติธรรมของกาย ไม่ใช่กิเลส แต่เป็นทุกข์ของกายซึ่งมีอยู่คู่กับการเกิดมามีร่างกาย ไม่มีใครจะไปห้ามมันได้ ตอนที่กายหิว ร่างกายจะทำงานช้าลง ลมหายใจยาวแต่แผ่วทั้งขาเข้าและขาออก แบบไม่มีแรง ช่องท้องรู้สึกในกระเพาะจะเบา เหมือนมันไม่มีอะไรอยู่ข้างใน ต่อไปในขณะกินอาหารก็ให้กำหนดรู้ลมไปด้วย อิ่มแล้วก็ให้รู้ลม สังเกตไปเรื่อย ๆ แล้วจะรู้ธรรมได้ต่อเนื่องจากการรู้ลมนี่แหละ

หลวงปู่ท่านให้ดูลมไปเรื่อย ๆ จะเห็นว่ามันไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอตามอารมณ์ของจิต เช่น สูดหายใจยาว ๆ ก็หมายถึงความโลภอยากได้อากาศมากเป็นต้น ให้ปฏิบัติไปเรื่อย ๆ ความชำนาญจะได้เกิดและความละเอียดของจิตก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นในเรื่องอารมณ์ ๒ (พอใจกับไม่พอใจ หรือราคะ (โลภะ) กับปฏิฆะ) เป็นการปฏิบัติที่ใช้ตัดสังโยชน์ข้อที่ ๔ และ ๕ ได้อย่างดี

ธรรมของพระพุทธเจ้าท่านเป็นปัจจัตตัง ปฏิบัติถึงแล้วก็จะรู้ได้ด้วยจิตของตนเอง เฉพาะตน ของใครของมัน กรรมใครกรรมมัน อย่าไปอยากรู้ก่อนเกิดก็แล้วกัน

ลัก...ยิ้ม 17-08-2011 08:53

ผมขอสรุปเป็นธัมมวิจัย เรื่องประโยชน์จากการรู้ลม-จับลม-ตามลมของหลวงปู่ไวย ท่านไว้ย่อ ๆ ดังนี้

๑. ธรรมะเกี่ยวกับลมหายใจที่ท่านสอนนี้ ละเอียด-ลึกซึ้งมาก เหมือนกับหญ้าปากคอก แต่คนไม่เห็นเพราะขาดปัญญา

๒. รู้ลมอย่างเดียวก็จบกิจเป็นพระอรหันต์ได้ แบบเดียวกับที่หลวงพ่อฤๅษีท่านสอน

๓. ลมเป็นฐานใหญ่ที่สุดที่ทำจิตให้สงบเป็นสุข พระท่านก็มาโปรดมาสอนเราได้ในขณะที่จิตสงบเท่านั้น หากจิตเราไม่สงบพระก็สอนเราไม่ได้

๔. รู้ลมกองเดียว สามารถครอบคลุมพระกรรมฐานกองอื่น ๆ ได้ทั้งหมด ตั้งแต่กายคตานุสติ-อสุภกรรมฐาน-กสิณ ๑๐ –จริต ๖-รูปฌาน-อรูปฌาน-อารมณ์โลภ-โกรธ-หลง-มรณา และอุปสมานุสติ เป็นต้น

๕. รู้ลม-รู้ตาย-รู้นิพพาน ก็เข้าสู่พระนิพพานได้แบบง่าย ๆ ทุกอย่างเริ่มจากรู้ลมก่อนทั้งสิ้น หากจะให้เขียนก็คงเขียนได้มาก ก็ขอธัมมวิจัยไว้ย่อ ๆ แค่นี้

ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๘
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 23:58


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว