กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=39)
-   -   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันศุกร์ที่ ๔ กันยายน ๒๕๖๓ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=7223)

เถรี 18-09-2020 10:13

เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันศุกร์ที่ ๔ กันยายน ๒๕๖๓
 
เจริญพรญาติโยมพุทธบริษัททุกท่าน วันนี้เป็นวันศุกร์ที่ ๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๓ เป็นวันหยุดยาวที่รัฐบาลโยกเอาวันหยุดช่วงสงกรานต์มาเพิ่มเติมให้ ญาติโยมจำนวนหนึ่งก็เดินทางออกต่างจังหวัดบ้าง กลับภูมิลำเนาบ้าง เพราะว่าได้หยุดหลายวัน

สำหรับพวกเราที่เป็นนักปฏิบัติธรรมแล้ว ส่วนใหญ่มีกำลังใจที่มุ่งตรงต่อความดี ทำให้เราทั้งหลายไม่ค่อยได้ใส่ใจในเรื่องของการเที่ยวเตร่เฮฮา แต่มักจะตั้งอกตั้งใจใช้เวลาที่มีอยู่ ในการเข้าวัดเข้าวา ถือศีลปฏิบัติธรรม เพื่อเสริมสร้างคุณงามความดีให้กับตัวเอง

คราวนี้การที่ญาติโยมส่วนหนึ่งเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือว่าไปเที่ยวเตร่ก็ตาม อย่าทำให้ตัวเองขาดทุน โดยเฉพาะท่านที่ไปยานพาหนะ ถ้าหากว่าเป็นยานพาหนะประจำทาง ไม่ว่าจะทางรถ ทางเรือ ทางเครื่องบินก็ตาม ควรที่จะภาวนาให้เป็นปกติ อันดับแรกเลยก็เพื่อความปลอดภัยของตนเอง อันดับที่สองก็เพื่อเสริมสร้างคุณงามความดีให้เกิดขึ้นแก่ตน

อีกพวกหนึ่งคือ ท่านที่ขับขี่ยวดยานพาหนะด้วยตนเอง ตรงจุดนี้ต้องระมัดระวัง เพราะถ้าหากว่าท่านตั้งใจภาวนา สมาธิเกินเลยไปจากปกติ บางทีอาจจะพาให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ เพราะว่าถ้าสมาธิเริ่มทรงตัว จิตกับประสาทจะแยกออกจากกัน

ท่านที่ไม่มีความชำนาญในการทรงฌานใช้งาน จะไม่สามารถบังคับตนเองได้ บางทีเห็น ๆ อยู่ก็ปล่อยให้ยานพาหนะไปชนคันข้างหน้า เพราะว่าไม่สามารถที่จะบังคับตัวเองให้เบรกหรือว่าให้หลบหลีก เนื่องจากว่าจิตกับประสาทแยกออกจากกัน บังคับร่างกายได้ยากหรือว่าบังคับไม่ได้เลย

ท่านที่ขับรถด้วยตัวเอง ถ้าตั้งใจจะภาวนา ควรที่จะฝึกซ้อมการเข้าออกฌานให้ได้ดั่งใจตัวเองเสียก่อน หรือว่าทำไปถึงระดับฌานใช้งานได้เลยก็ยิ่งดี

เถรี 18-09-2020 10:16

ถ้าเราฝึกการเข้าออกฌาน จนกระทั่งสามารถเข้าออกได้ตามลำดับที่ตนเองต้องการ เมื่อมีความคล่องตัวแล้ว เราก็รักษากำลังใจไว้ที่ระดับอุปจารสมาธิขั้นปลาย หรือที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุง เรียกว่าอุปจารฌาน หรือว่าทรงเอาไว้ที่ปฐมฌานเลย ถ้าทำเช่นนั้นได้ ท่านจะประกอบไปด้วยสติที่แจ่มชัดมาก

ถ้าวิสัยเดิมมีการกระทำในทิพจักขุญาณมา บางทีรถจะเกิดอะไรขึ้น ก็รู้ตัวล่วงหน้าได้ด้วย หรือแม้กระทั่งจะหลบจะแซง ต่อให้เป็นทางโค้ง มองอะไรข้างหน้าไม่เห็น สภาพจิตก็รายงานได้อย่างชัดเจนว่ามีรถสวนมาหรือไม่ ? แต่ว่าเรื่องนี้ไม่ควรที่จะไปเสี่ยง เพราะว่าถ้าหากว่าพลาด จิตเฝือขึ้นมา เราอาจจะเดือดร้อน บาดเจ็บล้มตาย หรือทรัพย์สินเสียหายมากกว่าที่คิด

ดังนั้น...การเดินทางไม่ว่าจะกลับภูมิลำเนาหรือว่าไปเที่ยวเตร่ก็ตาม ส่วนที่ต้องระมัดระวังอย่างที่สุดก็คืออุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้ จึงไม่ควรที่จะละทิ้งการภาวนา ถ้าหากว่าไปรถโดยสารประจำทาง ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ร้อน รถปรับอากาศ หรือว่ารถตู้ก็ตาม ตลอดจนกระทั่งการเดินทางทางเรือ หรือว่าทางเครื่องบิน ให้เราตั้งใจภาวนารักษากำลังใจให้สูงสุด อุทิศส่วนกุศลให้แก่เจ้าที่เจ้าทางที่รักษาตลอดเส้นทางที่เราเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นอากาสเทวดา รุกขเทวดา ภุมมเทวดาก็ดี ตลอดถึงสัตว์เดรัจฉานมีฤทธิ์ต่าง ๆ ขอให้เขาอนุโมทนาในส่วนกุศลที่เราได้กระทำและอุทิศให้ และขอให้ช่วยรักษาเราให้อยู่รอดปลอดภัยตลอดการเดินทางทั้งไปและกลับ

ส่วนท่านที่ขับขี่ยานพาหนะด้วยตนเอง ให้ภาวนาจนกำลังใจทรงตัวสูงสุด แล้วก็ตั้งใจอุทิศส่วนกุศลเช่นเดียวกัน หลังจากนั้นแล้วค่อยคลายออกมาที่อุปจารสมาธิ หรือพูดแบบง่าย ๆ ก็คือ ทิ้งการภาวนาไปเลย เพื่อที่เราจะได้อยู่กับหน้าที่การงาน..คือการขับขี่ยานพาหนะของเรา โดยที่ตั้งกำลังใจเอาไว้ว่า เวลางาน..ใจให้มุ่งอยู่กับงาน เวลาว่างจากงาน..ใจให้มุ่งอยู่กับกรรมฐาน เพื่อที่จะได้ช่วยสร้างสติให้เกิด รู้ระมัดระวัง มีสติว่าตอนนี้เรากำลังบังคับรถอยู่ ถ้าหากว่ามีความประมาทแม้แต่นิดเดียว อาจจะทำให้ตัวเราหรือคนที่เรารักต้องลำบาก เดือดร้อน บาดเจ็บ ล้มตาย แล้วแต่ความหนักเบาของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น

เถรี 20-09-2020 08:29

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ญาติโยมจะเห็นได้ว่า ในเรื่องของการปฏิบัติธรรมนั้น ส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือ สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ ตราบใดที่เราปฏิบัติธรรมแล้วยังไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ยังต้องอาศัยเวลาที่สงบสงัดอย่างแท้จริงในการปฏิบัติ นั่นแปลว่าเราเองยังเข้าไม่ถึงความดีอย่างแท้จริง เพราะว่ายังสามารถทำได้ในเฉพาะบางเวลาเท่านั้น

จึงควรที่จะขวนขวายเร่งรัดตนเองให้มากขึ้น อย่างเช่นว่าฝึกการเข้าสมาธิให้ได้ทุกเวลาที่ต้องการ ออกจากสมาธิให้ได้ทุกเวลาที่ต้องการ เข้าสมาธิระดับใดก็ได้ทุกเวลาที่ต้องการ ออกจากสมาธิระดับใดก็ได้ทุกเวลาที่ต้องการ เข้าสมาธิโดยการตั้งระยะเวลาเอาไว้ว่าต้องการมากน้อยเท่าไร ถึงเวลาให้จิตถอนออกมาตรงตามเวลาที่เราต้องการ หรือว่าการที่บังคับตนเองให้ใช้สมาธิในระดับที่เรียกว่า 'ใช้งาน'...คือสภาพจิตมีความสงบสงัด เหมือนกับที่เราเข้าสมาธิระดับสูงสุดไว้ได้ แต่สามารถบังคับร่างกายให้ทำหน้าที่ต่าง ๆ ได้เหมือนกับอยู่ในระดับอุปจารสมาธิ เป็นต้น

ถ้าท่านทั้งหลายสามารถซักซ้อมได้ในลักษณะนี้ จนมีความคล่องตัว สมาธิของท่านก็จะอยู่ในระดับที่อาศัยได้ ก็คือในเวลาปกติก็สามารถที่จะตั้งสมาธิให้ทรงตัว ไม่ให้ รัก โลภ โกรธ หลง เข้ามากินใจของเราได้

เถรี 20-09-2020 08:31

ส่วนในระยะเวลาที่เราต้องการกำลังของสมาธิในระดับใดก็ตาม ไม่ว่าจะใช้ในการพิจารณาวิปัสสนาญาณก็ดี ใช้ในการกดกิเลสไม่ให้ รัก โลภ โกรธ หลง เกิดขึ้นก็ตาม หรือว่าใช้เพื่อที่จะให้ตนเองได้รับการพักผ่อนอย่างแท้จริง ก็สามารถที่จะใช้สมาธิทั้งหลายเหล่านี้ในระดับต่าง ๆ ที่ตนเองต้องการได้

และท้ายที่สุดก็คือ ใช้สมาธิระดับนั้นเกาะในอุปสมานุสสติ หรือเกาะพระนิพพานเป็นปกติ ถ้าหากว่าสภาพจิตของเราเคยชินกับอารมณ์พระนิพพาน ว่าเป็นอารมณ์ที่สงบ สงัด ปลอดจากกิเลสทั้งปวง ว่างจากความปรารถนาใด ๆ มีแต่ความสุข สงบ เยือกเย็นอยู่เฉพาะหน้า ถ้าหากเราเคยชินแล้วนำเอาอารมณ์นี้มารักษาไว้ได้ จนกระทั่งสภาพจิตของเราเกาะอยู่ในอารมณ์นี้ได้ตลอดเวลาที่ต้องการ ท่านก็สามารถที่จะหลุดพ้นจากกองทุกข์ เข้าสู่พระนิพพานได้โดยกำลังของสมาธิ ดังที่พระบาลีเรียกว่า เจโตวิมุติ ก็คือการหลุดพ้นโดยการอาศัยกำลังของสมาธิหรือสมถภาวนานั่นเอง

ลำดับต่อไปให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านเติมบุญ
วันศุกร์ที่ ๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๓

(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย นาทามและทะเล)


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 21:07


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว