กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   ฝากคำถามถึงหลวงพ่อ (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=51)
-   -   ประเด็นเรื่องอาบัติปาราชิก, ย้ายเจดีย์ และการขอขมาพระรัตนตรัย (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=4765)

กนกวลี พึ่งบารมีพระธรรม 11-12-2015 16:51

ประเด็นเรื่องอาบัติปาราชิก, ย้ายเจดีย์ และการขอขมาพระรัตนตรัย
 
นมัสการพระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.

ผมกราบเรียนถามพระอาจารย์ข้อสงสัยเกี่ยวกับวินัยสงฆ์และข้อเท็จจริงที่ได้รับทราบมาเนื่องด้วยประเด็นการย้ายเจดีย์จากคำพูดของพระภิกษุในสายปฏิปทารูปหนึ่ง ดังนี้

๑. หากพระภิกษุรูปหนึ่งได้รับว่าตนครอบครองทรัพย์สินของโยมที่มีมูลค่าเกิน ๑ บาท โดยรับปากว่าจะคืนทรัพย์สินนั้น พร้อมกับโยมได้มีการทวงถามทั้งด้วยตนเองและฝากผู้อื่นไปทวงนับสิบครั้ง แต่พระภิกษุเล่นแง่ไม่ยอมคืนทรัพย์สินโดยอ้างหลากหลายเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น ซึ่งปรากฏชัดถึงไถยจิตที่ต้องการกลั่นแกล้งหรืออะไรก็ตามที่มิใช่กิจของสงฆ์ โดยระยะเวลาผ่านมาร่วมหนึ่งเดือนกว่า โยมก็ยังไม่ได้รับความคืบหน้าใด ๆ จนกระทั่งวันหนึ่ง โยมปลงตกกับพฤติกรรมของพระภิกษุรูปนั้น จึงเลิกติดตามและตัดสินใจทอดธุระทรัพย์สินทั้งหมดนั้นโดยเด็ดขาด ในกรณีนี้ถือว่าพระภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติปาราชิกขาดจากความเป็นพระภิกษุโดยสมบูรณ์แล้วใช่หรือไม่ครับ ?

๒. หากพระภิกษุรูปนั้นได้นำทรัพย์สินมาคืนโยมภายหลังที่โยมตัดสินใจทอดธุระไปเรียบร้อยแล้ว พระภิกษุนั้นยังถือได้ว่าคงอยู่ในสมณเพศเป็นพระสงฆ์เหมือนเดิมหรือว่าขาดจากความเป็นพระอย่างถาวรแล้วครับ ?

๓. การที่พระภิกษุได้ให้โยมเป็นธุระจัดซื้อสิ่งของอย่างหนึ่งให้แก่โยมอุปถัมภ์ท่านหนึ่ง ซึ่งราคาค่างวดจะถูกกว่าหลายพันบาท หากแต่พระภิกษุได้บอกราคาเต็มต่อโยมอุปถัมภ์ และพระภิกษุก็ได้กำชับทั้งร้านค้าที่ขายและโยมไม่ให้แพร่งพรายหรือแจ้งให้โยมอุปถัมภ์ท่านนั้นเห็นใบเสร็จที่ปรากฏส่วนลดเปอร์เซ็นต์ชัดเจนโดยเด็ดขาด โดยเงินส่วนต่างนั้น ณ จนบัดนี้ ก็ไม่มีใครทราบว่าพระภิกษุรูปนั้นนำไปใช้ทำอะไร หากแต่ไถยจิตเบื้องต้นคือพระภิกษุจงใจลักทรัพย์และฉ้อโกงโยมอุปถัมภ์ท่านนั้นใช่หรือไม่ ? จากกรณีนี้เท่ากับพระรูปนั้นต้องอาบัติปาราชิกซ้ำโทษของเดิมอีกครั้งด้วยหรือไม่ครับ ?

๔. พระภิกษุรูปนี้ได้เคยบอกว่าประเด็นเรื่องการย้ายเจดีย์นั้น หากนำเอาเงินทำบุญของพุทธบริษัทมาใช้ในงานบุญที่มีอานิสงส์มากกว่าเจตนาเดิมที่คนร่วมบุญมา ไม่ถือว่าเป็นการย้ายเจดีย์ ยกตัวอย่างเช่น โยมกุ๊กไก่ถวายปัจจัยร่วมบุญโรงทาน แต่พระภิกษุรูปนั้นกลับนำเอาปัจจัยนั้นไปสร้างพระชำระหนี้สงฆ์แทน เพราะอานิสงส์ของการสร้างพระพุทธรูปและวิหารทานย่อมสูงกว่าอานิสงส์ของการทำโรงทานมาก ซึ่งอย่างนี้แล้วไม่ถือว่าย้ายเจดีย์ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว พระอาจารย์เน้นย้ำมากในเรื่องของเจตนาของผู้ที่ร่วมบุญมาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ผมจึงขอกราบขอความกระจ่างชัดจากพระอาจารย์ในประเด็นที่ละเอียดอ่อนมากเช่นนี้เนื่องด้วยคัดค้านกับปฏิปทาของครูบาอาจารย์อย่างชัดเจนครับ

๕. ในกรณีที่โยมได้รับหนังสือ พระเครื่องและวัตถุมงคล มาจากพระภิกษุรูปนี้ทั้งโดยเจตนาดีหรือไม่ก็ตามเพราะเหตุการณ์ช่วงที่ได้รับมานั้นชุลมุนและวุ่นวายมาก เพื่อความปลอดภัยของผู้ที่มีศีลน้อยกว่าและป้องกันการถูกทอดธุระโดยเจตนาของพระภิกษุรูปนั้นเอง ผมกราบขอคำแนะนำจากพระอาจารย์ว่าควรปฏิบัติเช่นใดในกรณีนี้ครับ

๖. ตลอดระยะเวลาที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ขึ้น โยมได้ตั้งใจที่จะขอขมาพระรัตนตรัยและขออโหสิกรรมโดยมีพานดอกไม้ธูปเทียนแพต่อหน้าพระภิกษุรูปนั้น แต่ด้วยเหตุบางประการ ทำให้ไม่มีจังหวะและโอกาสที่เหมาะสมอีกแล้วที่จะพบกับพระภิกษุรูปนั้นอีกต่อไป รวมถึงพฤติกรรมส่วนองค์หลายประการที่ไม่สามารถพูดถึงได้ของพระภิกษุรูปดังกล่าว ทำให้โยมไม่สามารถกราบไหว้เคารพขอขมาได้อย่างเต็มหัวใจ โยมจึงนำพานนั้นมาขอขมาพระพุทธรูป, รูปหลวงปู่ และหลวงพ่อที่บ้านแทน และหลังจากนั้นทุกคืน โยมได้จับภาพพระตอนเจริญพระกรรมฐานและได้ภาวนาคำขอขมาพระรัตนตรัยในใจต่อพระเครื่องประจำตัวก่อนนอนตลอดทุกคืน โยมอยากทราบว่าการทำเช่นนี้ถือว่าการขอขมาพระรัตนตรัยมีผลสมบูรณ์หรือไม่ครับ ? และหากไม่สมบูรณ์ โยมกราบขอคำชี้แนะที่ถูกต้องจากพระอาจารย์ด้วยครับ

ขอนมัสการด้วยความเคารพ

กนกวลี พึ่งบารมีพระธรรม

ตัวเล็ก 28-11-2017 13:03

ถาม : หากพระภิกษุรูปหนึ่งได้รับว่าตนครอบครองทรัพย์สินของโยมที่มีมูลค่าเกิน ๑ บาท โดยรับปากว่าจะคืนทรัพย์สินนั้น พร้อมกับโยมได้มีการทวงถามทั้งด้วยตนเองและฝากผู้อื่นไปทวงนับสิบครั้ง แต่พระภิกษุเล่นแง่ไม่ยอมคืนทรัพย์สินโดยอ้างหลากหลายเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น ซึ่งปรากฏชัดถึงไถยจิตที่ต้องการกลั่นแกล้งหรืออะไรก็ตามที่มิใช่กิจของสงฆ์ โดยระยะเวลาผ่านมาร่วมหนึ่งเดือนกว่า โยมก็ยังไม่ได้รับความคืบหน้าใด ๆ จนกระทั่งวันหนึ่ง โยมปลงตกกับพฤติกรรมของพระภิกษุรูปนั้น จึงเลิกติดตามและตัดสินใจทอดธุระทรัพย์สินทั้งหมดนั้นโดยเด็ดขาด ในกรณีนี้ถือว่าพระภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติปาราชิกขาดจากความเป็นพระภิกษุโดยสมบูรณ์แล้วใช่หรือไม่ครับ ?
ตอบ : ในเรื่องของการตัดสินตามพระธรรมวินัยเขาเรียกว่า สัมมุขาวินัย ต้องพร้อมหน้ากันทั้งโจทก์ จำเลย ผู้ตัดสินที่รู้ในพระธรรมวินัยอย่างแท้จริง และคณะสงฆ์ ฉะนั้น...คำถามนี้ถ้าตอบไปถือว่าผิดมารยาท เพราะว่ามีแต่โจทก์ฝ่ายเดียว ถ้าเขาหาโจทก์ จำเลย และคณะสงฆ์มาพร้อมกันได้แล้วค่อยถามใหม่

การระงับอธิกรณ์หรือตัดสินพระธรรมวินัยข้อที่นิยมใช้มากที่สุด เรียกว่า สัมมุขาวินัย ท่านใช้คำว่า ถึงพร้อมด้วยโจทก์ ด้วยจำเลย ด้วยผู้ตัดสินและคณะสงฆ์ ในเมื่อเป็นเช่นนั้น คำถามบางอย่างที่เกี่ยวกับการตัดสินอธิกรณ์ ไม่สามารถที่จะว่ากล่าวโดยบุคคลฝ่ายเดียวได้ และที่สำคัญที่สุด ถ้าเป็นอาบัติหนักตั้งแต่สังฆาทิเสสขึ้นไป ห้ามอนุปสัมบันอยู่ในสถานที่นั้นด้วย แปลว่าสามเณร หรือฆราวาส ก็ไม่สามารถที่จะอยู่ฟังได้ ดังนั้น...ปัญหาที่ได้ถามเกี่ยวกับเรื่องปาราชิกจึงไม่สามารถตอบในที่นี้ได้


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 22:16


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว