เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๖๕
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๖๕ |
วันนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ เป็นวันพระขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๑ อีก ๗ วันก็จะออกพรรษาแล้ว
คราวนี้การเทศน์วันพระช่วงเช้าที่ผ่านมา หลายท่านเสียประโยชน์ไปอย่างน่าเสียดาย เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าไปเอา "กิเลสนำหน้า ตัณหา" นำทาง ไม่ได้คิดที่จะนำสิ่งดี ๆ เข้ามาในใจของเรา จะว่าไปก็เพราะว่าความเป็น "ตัวกู ของกู" ซึ่งก็คือสักกายทิฏฐิและตัวมานะมีมากเกินไป จึงไม่สามารถที่จะทำใจทนฟังที่หลวงตาอ่อง (พระอ่อง ทีฆายุโก) ขึ้นเทศน์ได้ ในเมื่อเราวางกำลังใจผิด เราก็ยิ่งเครียด..! แต่ถ้าหากว่าท่านมีความเข้าใจว่า อันดับแรกเลย หลวงตาอ่องท่านอายุ ๘๐ กว่าปีแล้ว อันดับที่สองก็คือ คำเทศน์ของท่าน ช่วงที่เป็นภาษาบาลีและภาษาไทย ท่านต้องใช้ความเพียรพยายาม สอบถามและเขียนขึ้นมาทีละตัว เนื่องเพราะว่าท่านอ่านได้แต่ภาษามอญ ไม่ต้องไปคำนึงถึงเนื้อหาการเทศน์ที่เป็นภาษามอญ ซึ่งท่านเขียนเอาไว้หลายหน้ากระดาษกว่าที่จะอ่านจบ แค่ความพยายามตรงนี้ ท่านทั้งหลายก็สู้หลวงตาอ่องไม่ได้แล้ว ซ้ำยังไปวางกำลังใจผิดอีก นอกจากไม่ได้ประโยชน์ ยังเกิดโทษกับตัวเองเสียมากกว่า การฟังเทศน์ไม่ได้แปลว่าฟังเข้าใจแล้วเราจะได้บุญ ได้กุศล ได้ความดี ต่อให้เป็นภาษาที่เราฟังแล้วไม่เข้าใจ ถ้าเราฟังด้วยความเคารพในพระรัตนตรัย โดยเฉพาะในพระธรรม อานิสงส์ก็มากมายมหาศาล เพราะว่าเป็นอนุสติในธัมมานุสติกรรมฐาน คือการตามระลึกถึงพระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านทั้งหลายต้องเข้าใจว่า ธัมมานุสติกรรมฐานเป็นการนึกถึงเท่านั้น ไม่ใช่ต้องฟังเนื้อหาให้เข้าใจ การฟังเนื้อหาให้เข้าใจนั้นก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่าธัมมานุสติกรรมฐาน คราวนี้ในส่วนของธัมมานุสติกรรมฐาน ในช่วงที่กระผม/อาตมภาพฝึกอยู่ใหม่ ๆ พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดท่าซุง ท่านสอนอยู่ ๓ แบบด้วยกัน แบบที่ ๑ ก็คือ ระลึกว่าพระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นมีความดีอะไรบ้าง ซึ่งสรุปง่าย ๆ ว่าพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น รักษาผู้ประพฤติปฏิบัติไม่ให้ตกไปสู่ทางที่ชั่ว หรือถ้าหากว่าจะพูดกันง่าย ๆ ก็คือไม่ให้ตกไปยังอบายภูมิ ๔ คือเกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย หรือว่าสัตว์เดรัจฉาน |
ระลึกตามภาษาบาลีก็ได้ว่า
สวากขาโต ภควตา ธัมโม ธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสไว้ดีแล้ว สันทิฏฐิโก ผู้ปฏิบัติตามย่อมรู้เห็นได้ด้วยตนเอง อกาลิโก มีความเหมาะสมกับทุกยุคทุกสมัย ไม่เลือก ไม่จำกัดด้วยกาลเวลา เอหิปัสสิโก ใครปรารถนาที่จะปฏิบัติก็จงเร่งลงมือทำเถิด จะเกิดผลดีแก่ตัวเองทั้งสิ้น โอปนยิโก เมื่อน้อมนำเข้ามาแล้ว ไม่มีอะไรที่ไกลเกินกว่าร่างกาย กว้างศอก ยาววา หนาคืบ นี้ ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ วิญญูชน คือผู้หวังความดี ปรารถนาความดี เมื่อปฏิบัติแล้ว ย่อมรู้เห็นได้เฉพาะตน นี่เป็นแนวทางในการปฏิบัติของธัมมานุสติอย่างแรก ซึ่งสมกับคำว่าธัมมานุสติ คือแค่นึกถึงอย่างเดียวก็พอแล้ว วิธีที่สอง พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดท่าซุงท่านให้เราภาวนา ควบกับลมหายใจเข้าออก โดยระลึกถึงลมหายใจเข้า ระลึกถึงลมหายใจออก พร้อมกับภาวนาว่า "ธัมโม ธัมโม ธัมโม" ไปด้วย เผลอสตินึกถึงเรื่องอื่นเมื่อไร ก็ให้ดึงกลับมาภาวนาอยู่ตรงนี้ใหม่ ถ้าสามารถทำจนทรงอัปปนาสมาธิ คือสมาธิแนบแน่นตั้งแต่ระดับปฐมฌานขึ้นไป จึงถือว่าได้ธัมมานุสติในส่วนนี้ ก็คือได้ในลักษณะของสมถกรรมฐาน จากตรงจุดนี้ หลวงพ่อท่านให้เพิ่มวิธีการของสมถกรรมฐานเป็นการควบกับกรรมฐานกองอื่น ๆ ในกรรมฐาน ๔๐ คือเมื่อได้ยินเสียงธรรมะ ให้นึกถึงภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำลังแสดงพระธรรมเทศนา เสียงที่ได้ยินกลายเป็นดอกมะลิทองคำ ล่องลอยจากพระโอษฐ์ของท่านลงมา ทีละดอก ทีละดอก เรากำหนดใจให้มีพานรองรับอยู่ข้างล่าง ก็แปลว่า ดอกมะลิทองคำแทนพระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น จะตกลงมาสู่พานที่รองรับเอาไว้ |
ยิ่งสมาธิสูงมากเท่าไร สีสันของดอกมะลินั้นก็จะจางลงไปเรื่อย จากสีทองก็กลายเป็นเหลืองเข้ม จากเหลืองเข้มกลายเป็นเหลืองอ่อน จากเหลืองอ่อนกลายเป็นสีขาว จากสีขาวกลายเป็นขาวใส จากขาวใสกลายเป็นขาวสว่างเจิดจ้า ถ้าทำในลักษณะนี้ได้ แปลว่าเราทรงธัมมานุสติพร้อมด้วยกสิณ
หลังจากนั้นถ้าหากว่าใครจะปฏิบัติให้มากกว่านั้น ก็ตั้งภาพกสิณในธัมมานุสติ ก็คือดอกมะลิแก้วในพานนี้ขึ้นมา แล้วเพิกภาพนั้นเสีย ตั้งใจระลึกถึงความว่าง ไม่มีขอบเขตของอากาศ ภาวนาว่า "อากาสา อนันตา อากาสา อนันตา" จนทรงสมาธิได้เต็มที่ ท่านทั้งหลายก็จะสำเร็จฌานที่ ๕ ซึ่งเป็นอรูปฌานที่ ๑ ในธัมมานุสติกรรมฐาน คือ อากาสานัญจายตนฌาน ถ้ายังไม่พอใจแค่นี้ ก็ให้กำหนดภาพดอกมะลิแก้วในพานขึ้นมาใหม่ ตั้งใจเพิกภาพนั้นทิ้งเสีย กำหนดใจนึกถึงความว่าง ไร้ขอบเขตของอากาศแล้ว เพิ่มเนื้อหาเข้าไปว่า อากาศนี้ถึงจะกว้างขวาง ไม่มีประมาณ แต่ยังสามารถกำหนดได้ด้วยความรู้สึกของเรา คือวิญญาณ แปลว่าความกว้างขวางไร้ขอบเขตของวิญญาณนั้นมีมากกว่า ให้ภาวนาว่า "วิญญานัง อนันตัง วิญญานัง อนันตัง" ว่าไปเรื่อย ๆ จนทรงสมาธิได้เต็มที่ เราก็จะสำเร็จสมาบัติที่ ๖ ก็คืออรูปฌานที่ ๒ ในธัมมานุสติกรรมฐาน เรียกว่า วิญญาณัญจายตนฌาน ถ้ายังไม่เพียงพอแค่นี้ ก็กำหนดภาพดอกมะลิแก้วในพานขึ้นมาใหม่ ตั้งใจเพิกภาพ ก็คือสลัดทิ้งไปเลย ระลึกถึงความกว้างขวางไร้ขอบเขตของอากาศ การที่สภาพจิตใจของเราสามารถที่จะครอบคลุมเขตของอากาศ คือวิญญาณความรู้สึกได้ แล้วระลึกต่อไปว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในร่างกายนี้ ท้ายสุดก็สูญสลาย ไม่เหลืออะไรเลยแม้แต่น้อยหนึ่ง ร่างกายก็ไม่มี อากาศก็ไม่มี วิญญาณก็ไม่มี อะไรสักนิดหนึ่งก็ไม่มี แล้วภาวนาว่า "นัตถิ กิญจิ นัตถิ กิญจิ" ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งทรงสมาธิได้เต็มที่ ท่านก็จะสำเร็จสมาบัติที่ ๗ ก็คืออรูปฌานที่ ๓ ในธัมมานุสติกรรมฐาน เรียกว่า อากิญจัญญายตนฌาน ถ้ายังไม่พอใจ เราก็กำหนดภาพดอกมะลิแก้วขึ้นมาใหม่ ตั้งใจกำหนดเพิกภาพ ก็คือให้หายไป กำหนดความรู้สึกไปในความว่างของอากาศ ในความกว้างขวางไร้ขอบเขตของวิญญาณ ในความไม่มีอะไรเหลืออยู่แม้แต่น้อยหนึ่ง สิ่งหนึ่งประการใดที่เกิดขึ้นกับร่างกายนี้ เราก็ไม่ใส่ใจ ภาวนาว่า "เอตัง สันตัง เอตัง ปะณีตัง เอตัง สันตัง เอตัง ปะณีตัง" นึกอยู่ในลักษณะอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ เมื่อกำลังใจของเราทรงตัวเต็มที่แล้ว ก็จะได้สมาบัติที่ ๘ หรืออรูปฌานที่ ๔ ในธัมมานุสติกรรมฐาน เรียกว่า เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน |
คราวนี้ในส่วนที่พวกเรา ต้องทำตามนี้ถึงจะได้ประโยชน์จากการฟังธรรมอย่างแท้จริง ก็คือเมื่อมาถึงตรงจุดนี้แล้ว ก็น้อมใจกลับไปว่า หลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น สอนพวกเราให้เห็นว่าทุกอย่างไม่เที่ยง ทุกอย่างเป็นทุกข์ ไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเรา แม้แต่น้อยหนึ่งก็ไม่มี
ขึ้นชื่อว่าการเกิดมามีแต่ร่างกายที่ไม่เที่ยง มีแต่ร่างกายที่เป็นทุกข์ ไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเราอย่างนี้ เราไม่พึงปรารถนาอีก เราต้องการอย่างเดียวคือพระนิพพาน จากนั้นส่งกำลังใจย้อนดอกมะลิแก้วจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นไป จนรู้สึกว่าเราอยู่เฉพาะเบื้องพระพักตร์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า น้อมจิตน้อมใจกราบลงไปตรงนั้น แล้วตั้งใจว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้อยู่ที่ใดเลยนอกจากพระนิพพาน เราเห็นพระองค์ท่าน ก็คือเราอยู่ใกล้กับพระองค์ท่าน เราอยู่ใกล้กับพระองค์ท่าน ก็คือเราอยู่บนพระนิพพาน ถ้าหากว่าเราตายลงไปเมื่อไร ขออยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระนิพพานนี้แห่งเดียวเท่านั้น แล้วภาวนารักษากำลังใจไว้ตรงนั้นให้นานที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เมื่อหลุดออกมาจากสมาธิแล้ว ถ้ารู้สึกว่ายังอยากจะทำอีก ก็ย้อนขั้นตอนกลับเข้าไปใหม่ ซักซ้อมกันอยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะให้ทวนตั้งแต่อรูปฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ หรือจะย้อนกลับมา ๔-๓-๒-๑ หรือจะสลับ ๑-๓-๔-๒ อะไรก็แล้วแต่เราถนัด จนกระทั่งสามารถทำได้อย่างที่ใจคิด จึงจะเรียกได้ว่าเราสำเร็จในธัมมานุสติกรรมฐานจริง ๆ โดยที่ต้องไม่ลืมกำหนดใจของเราไว้ที่พระนิพพานเป็นแห่งสุดท้าย ไม่เช่นนั้นแล้ว ถ้าพลาดตายตอนนั้น มีสิทธิ์เกิดเป็นอรูปพรหมแน่นอน ดังนั้น..เดี๋ยวอีกสักครู่หนึ่ง เราทำวัตรแล้วจะมีการฟังธรรมรอบค่ำ ก็ได้แต่หวังว่าทุกคนจะสามารถรักษากำลังใจในธัมมานุสติกรรมฐาน ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนมากกว่าในช่วงเช้าที่ผ่านมา สำหรับวันนี้ ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้ พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย) |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 05:44 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.